“ปานเทพ” ชี้กรณึแอสตร้าเซนเนก้า สมัครใจถอนใบอนุญาตทางการตลาดวัคซีนโควิดทั่วโลก หลังยอมรับวัคซีนก่อผลข้างเคียงเกิดลิ่มเลือด-เกล็ดเลือดต่ำจนทำให้แพ้คดี แต่องค์กรรัฐไทยซึ่งมีแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากกลับเงียบกริบ สะท้อนมาตรฐานสำนึกความปลอดภัยที่ตกต่ำ
วันนี้(9 พ.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" แสดงความเห็นกรณีแอสตร้าเซนเนก้าขอถอนใบอนุญาตทางการตลาดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก ว่า กรณึแอสตร้าเซเนก้า สมัครใจถอนใบอนุญาตทางการตลาดวัคซีนโควิดทั่วโลก สะท้อนมาตรฐานสำนึกความปลอดภัยที่ต่างกัน
1. แอสตร้าเซเนก้าอ้างว่าโรคระบาดได้สิ้นสุดแล้ว จึงยุติเพื่อความสมเหตุผลทาง “การค้า” ซึ่งไม่จริง แม้ตอนนี้ยังระบาดในไทย แปลว่าน่าจะเป็นเหตุอื่น
2. แอสตร้าเซเนก้า ถอนใบอนุญาตวัคซีน โควิด-19 เกิดขึ้นหลังแพ้ต่อศาลที่อังกฤษ 4,600 ล้านบาท จากครอบครัวผู้เสียชีวิต 50 คนที่ฟ้องร้อง โดยยอมรับว่าวัคซีนของบริษัทฯทำให้เกิดลิ่มเลือด และเกร็ดเลือดต่ำ
ปัญหาการถูกฟ้องร้องนี้อาจลุกลามบานปลาย สร้างความเสียหายให้กับบริษัทฯไปได้ทั่วโลก
หรือไม่หลายประเทศอาจกำลังตัดสินใอาจเพิกถอนใบอนุญาตวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าด้วยตัวเอง หรือไม่ก็เพราะประชาชนเรียกร้องเคลื่อนไหวกดดันต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศ
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใด ย่อมสร้างความเสียหายให้กับบริษัทน่าจะเป็นเหตุผลที่แท้จริงมากกว่า
3.หลังบริษัท แอสตร้าเซเนก้าในศาล ยอมรับว่าวัคซีนก่อผลข้างเคียงลิ่มเลือด-เกล็ดเลือดต่ำ และเป็นสาเหตุของการแพ้คดีความที่อังกฤษ องค์กรของรัฐไทยเกี่ยวกับวัคซีน ต่างออกมาแก้ตัวแทนบริษัทฯ ว่าอุบัติการเกิดลิ่มเลือดและเกิดเลือดต่ำมีน้อยมาก และวัคซีนยังปลอดภัย
แต่ภายหลังแอสตร้าเซเนก้าสมัครใจถอนใบอนุญาตการตลาดวัคซีนโควิดทั่วโลก องค์กรของรัฐไทยเกี่ยวกับวัคซีนกลับเงียบกริบ
บทเรียนครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นหรือไม่ว่า “มาตรฐานในสำนึกความปลอดภัยของวัคซีนต่อประชาชน”ขององค์กรรัฐไทยซึ่งมีแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก ตกต่ำเพียงใด?
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
9 พฤษภาคม 2567