xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ชำแหละผลวิจัยด้อยค่ากัญชา หลังกล่าวหาการปลดล็อก ทำให้จำนวนผู้ป่วยจิตเวชพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(15 มิ.ย.)นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นต่อผลวิจัย บางส่วนที่เปิดเผยว่า การปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นว่า มันมีการบิดเบือนข้อมูล เป็นการนำข้อมูลหลังการปลดล็อกกัญชาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 และ 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาคลี่คลายจากสถานการณ์โควิด-19 ไปเปรียบเทียบกับช่วงเวลาในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผิดปกติเพราะเป็นปีที่มีการล็อกดาวน์อย่างเข้มช้นในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยอ้างว่าหลังปลดล็อกแล้วตัวเลขผู้ใช้กัญชาที่เข้าโรงพยาบาลมากขึ้นก็ดี หรือหลังปลดล็อกกัญชาแล้วจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นก็ดี เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง เช่น การอ้างว่าในปี 2566 มีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการด้านจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับปีก่อนปลดล็อกกัญชาในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

แต่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำรายงานจากรมสุขภาพจิตพบความจริงว่าในปีงบประมาณ 2566 มีผู้รับบริการด้านจิตเวชประมาณ 2.9 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีเริ่มเข้าสู่โควิด-19 คือประมาณ 2.8 ล้านคน และน้อยกว่าปี 2561 ด้วย

“อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้รับบริการอาจไม่ได้สะท้อนผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมดในประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ผู้ป่วยจิตเวชอาจไม่มารับบริการในโรงพยาบาลในสถานการณ์ล็อคดาวน์ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการน้อยกว่าความเป็นจริงในปี 2564 และทยอยมารับบริการมากขึ้นในปี 2565, 2566 และ 2567 โดยไม่สามารถสรุปเหมาเอาได้ว่าผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น เพราะมาจากการปลดล็อกกัญชาในช่วง 2 ปี ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้ระบุอย่างชัดเจนว่า 1 ใน 8 ของคนทั่วโลกมีปัญหาด้านสุขภาพจิต หรือคิดเป็น 970 ล้านคนทั่วโลก และสถานการณ์ดังกล่าวรุนแรงขึ้นเมื่อโลกเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกเกิดความวิตกกังวลและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ”

คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณารายงานสัดส่วนของผู้เข้ารับบริการด้านจิตเวชในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับยาบ้า และยาเสพติดอื่นๆ กลับมีสัดส่วนลดลง โดยในปี 2564 ก่อนปลดล็อกกัญชามีผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับบริการใช้ยาบ้าและสารเสพติดอื่นๆ คือเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.5 ลดลงมาเหลือร้อยละ 13.7 ในปี 2565 และลดลงเหลือร้อยละ 12.8 ในปี 2566 โดยสัดส่วนของผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้ามีสัดส่วนสูงที่สุดของผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับบริการ

โดยฐานข้อมูลของ HDC กระทรวงสาธาณสุขระหว่างปีงบประมาณ 2564-2567 ระบุว่าผู้มารับบำบัดและฟื้นฟูยาเสพติดในปีงบประมาณ 2564 เฉลี่ยต่อเดือน 14,647 ราย, ปีงบประมาณ 2565 เฉลี่ยต่อเดือน 10,514 ราย, ปีงบประมาณ 2566 เฉลี่ยต่อเดือน 13,883 ราย และ 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 เฉลี่ย 10,789 ราย

แปลว่าสถิติผู้มารับการบำบัดและฟื้นฟูยาเสพติดปี 2564-2567 ลดลงเฉลี่ยเดือนละ 2,225 ราย หรือปีละ 26,705 ราย ดังนั้นการปลดล็อกกัญชาแล้วเพิ่มปัญหาจิตเวชและเพิ่มการบำบัดรักษาและฟื้นฟูยาเสพติดจึงเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

“จากสถิติของข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดในประเทศไทยถึง 3 เดือนแรกของต้นปีงบประมาณ 2566 พบว่า ผู้ที่เข้าบำบัดรักษามากถึงร้อยละ 75 คือ “ยาบ้า” ในขณะที่กัญชามีผู้เข้ารับการบำบัดเพียงประมาณร้อยละ 4 ทั้งๆ ที่ยาบ้าอยู่ในบัญชียาเสพติดและมีบทลงโทษรุนแรงยิ่งกว่ากัญชา

สะท้อนให้เห็นว่าแม้ในขณะที่กัญชาถูกปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดและยังไม่มีพระราชบัญญัติในการควบคุม แต่ก็ส่งผลกระทบน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับยาบ้า ดังน้้นจึงเป็นบทพิสูจน์ว่าการนำสิ่งใดไปอยู่ในบัญชียาเสพติดอาจจะไม่สามารถเป็นหลักประกันในการแก้ไขปัญหาได้ ตราบใดที่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง”
กำลังโหลดความคิดเห็น