โซเชียลฯ แห่วิจารณ์ หลังพบภาพเกาะฉางเกลือ แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พบปัญหาปะการังฟอกขาวในระดับรุนแรง ด้านชาวเน็ตเศร้า ชี้เป็นปัญหาใหญ่ ควรช่วยกันเร่งแก้ไขก่อนจะสายเกิน
วันนี้ (2 มิ.ย.) เพจ “VET Edutainment” ได้เผยภาพปัญหาปะการังฟอกขาว โดยระบุข้อความว่า “วันนี้ผมมา snorkle ที่แสมสาร ยอมรับเลยว่าปัญหาปะการังฟอกขาวมันรุนแรงแบบอิหยังวะมาก ในรูปคือฟอกขาวสนิท แต่เห็นเยอะที่เป็นสีฟ้าอ่อนสดใส มองเผินๆ จะเหมือนปะการังสวยจัง สีสันสดใส แต่ความจริงคือ zooxanthellae มันหายไปหมดแล้ว เหลือแต่เนื้อปะการังที่รอวันตายครับ 2 มิถุนายน 2567, เกาะฉางเกลือ แสมสาร สัตหีบ“
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) คือภาวะที่ปะการังมีสีซีดจางลงจนมองเห็นเป็นสีขาว ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียสาหร่ายที่ชื่อว่า ซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) สาหร่ายซูแซนเทลลีคือสาหร่ายขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง ดํารงชีวิตอยู่ร่วมกับปะการัง “แบบพึ่งพากัน” (mutualism) โดยสาหร่ายจะทําหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหาร ช่วยเร่งกระบวนการสร้างหินปูนรวมถึงการสร้างสีสันให้แก่ตัวปะการัง ส่วนปะการังก็ให้ที่อยู่แก่สาหร่าย โดยปกติในเนื้อเยื่อของปะการังไม่ได้มีสีสันสวยงาม มันเป็นเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เท่านั้น ส่วนสีที่เราเห็นในปะการังล้วนเป็นสีที่ได้รับมาจากสาหร่ายซูแซนเทลลี ซึ่งอาจจะเป็นสีแดง สีส้ม สีเขียว หรือน้ำตาล ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของซูแซนเทลลีที่เข้าไปอาศัยอยู่ในตัวปะการัง ในภาวะปกติปะการังกับสาหร่ายต่างใช้ชีวิตอย่างเกื้อกูลกัน กระทั่งเมื่อใดที่สภาพแวดล้อมในทะเลมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีสภาวะไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ความเค็มของน้ำทะเลลดลง สาหร่ายซูแซนเทลลีจะออกจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้ปะการังเหลือเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เผยให้เห็นสีขาวของโครงสร้างหินปูนที่อยู่ภายใน หรือที่เรียกว่า “ปะการังฟอกขาว” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ต้นเหตุของการฟอกขาว สาเหตุของการเกิดปะการังฟอกขาวนั้นมีได้หลายปัจจัย แต่สาเหตุสําคัญคาดว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเล จากการศึกษาของศูนย์ชีววิทยาทางทะเลภูเก็ต พบว่าปะการังที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำทะเลที่อุณหภูมิ 28-29 องศาเซลเซียส แต่หากน้ำทะเล อุณหภูมิสูงประมาณ 30-31 องศาเซลเซียส ติดต่อกันประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะมีผลให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้น สําหรับปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลให้เกิดปะการังฟอกขาว เช่น ความเค็มของน้ำทะเลที่เปลี่ยนไป เนื่องจากน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลปริมาณมากอันเนื่องมาจากพายุฝน ตะกอนที่ถูกน้ำจืดไหลพัดพามาจากบนฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเล ก็ล้วนมีผลให้เกิดการฟอกขาวได้ทั้งสิ้น