xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ปะการังฟอกขาว ทะเลไทยถูกทำลาย เศรษฐกิจล้มทั้งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2567 ตอน ปะการังฟอกขาว ทะเลไทยถูกทำลาย เศรษฐกิจล้มทั้งยืน



แม้ตอนนี้อากาศร้อนระดับน้ำเดือดในประเทศไทย เหมือนจะเบาบางลง เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนและมีน้ำจากฟากฟ้าที่ส่งลงมาพอให้คลายความร้อนไปได้พอสมควร แต่ดูเหมือนผลกระทบของอากาศที่ฝากไว้ในปีนี้ ถือว่าร้ายแรงพอสมควร โดยเฉพาะผลกระทบต่อธรรมชาติทางทะเล

ถ้าจะมีนักวิชาการสักคนหนึ่งที่ออกมาเตือนถึงสถานการณ์ที่ว่านี้ต่อสังคมมาตลอดคงไม่มีใครนอกจาก อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาอาจารย์ธรณ์ได้เผยแพร่ภาพและอธิบายถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับทะเลที่เรียกว่าปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ที่สร้างความเสียหายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลฝั่งอันดามัน ไปจนถึงการขึ้นราของทะเล

สถานการณ์ทะเลขึ้นรานั้นอาจารย์ธรณ์ อธิบายว่า "ทะเลขึ้นรา จะเกิดเมื่อก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่เต็มฟ้า อุณหภูมิโลกสูงทะลุขีดจำกัด น้ำทะเลร้อนเกินเส้นวิกฤต ปะการังฟอกขาวเห็นชัดแม้บินสูงเท่านก ก่อเกิดเป็นปรากฏการณ์ทะเลขึ้นรา จากนั้นทุกอย่างก็ตายหมดสิ้น โลกลุกเป็นไฟ ตายหมดท้องทะเล" การเปิดเผยข้อมูลของอาจารย์ธรณ์เกิดขึ้นท่ามกลางที่คนในสังคมส่วนใหญ่กำลังตื่นเต้นกับภาพแสงเหนือในต่างประเทศ

หลายปีมานี้อาจารย์ธรณ์ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะหน่วยงานรัฐตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เด้งรับต่อปัญหานี้ล่าช้าพอสมควร

จนกระทั่งในปีนี้ที่อุณหภูมิความร้อนในประเทศไทยทุบทุกสถิติที่เคยมีมา และสร้างผลเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึงได้มีการประกาศปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทะเลบางแห่งและประกาศพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ

ทั้งนี้ แบ่งเป็น อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอ่าวไทย 6 แห่ง ได้แก่ หมู่เกาะช้าง เขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด เขาสามร้อยยอด หาดวนกร หมู่เกาะชุมพร และหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน 6 แห่ง ได้แก่ หมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี หาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี และหมู่เกาะลันตา

ส่วนพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีอัตราการฟอกขาวมากกว่า 50% ขึ้นไป ได้แก่ หาดวนกร บริเวณเกาะจานทิศตะวันตก ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80% อุทยานแห่งชาติสิรินาถ บริเวณเกาะปลิง ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80% ซึ่งได้ดำเนินการประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวแล้ว หมู่เกาะชุมพร ไม่ว่าจะเป็น เกาะคราม เกาะง่ามน้อย เกาะง่ามใหญ่ ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่ 60%-80%

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่อาจเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ลามมาถึงปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าโลกใต้ทะเลของประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาได้สร้างรายได้และเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมหาศาล

ในปี2566 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยตัวเลขว่าอุทยานแห่งชาติ 10 อันดับแรกที่ทำรายได้มากที่สุดของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากอุทยานแห่งชาติทางทะเลแทบทั้งสิ้น เช่น หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ มีรายได้ทั้งหมด 377,321,864 บาท หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา มีรายได้ทั้งหมด 175,392,700 บาท ซึ่งกำลังเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน

ตัวเลขที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจกำลังถือเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งเกินกว่าจะแยกกันออกมา ยิ่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่าไหร ย่อมหมายถึงตัวเลขรายได้ทางเศรษฐกิจอันได้รับผลตามมาอย่างมีนัยสำคัญด้วย ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากรายได้การท่องเที่ยวเป็นหลัก อาจต้องรับแรงกระแทกจากปัญหานี้อย่างรุนแรง

ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะหันมาดูแลรักษาอู่ข้าวอู่น้ำของตัวเอง ก่อนจะไปเป็นเซลแมนเดินทางไปขายของต่างประเทศ

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น