ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเกาะติดสถานการณ์แนวปะกะรังฟอกขาวในประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก Thon
Thamrongnawasawat♨️วานนี้ ( 10 พ.ค.67) ให้ข้อสังเกต “ปลาในแนวปะการังฟอกขาวหายไปไหน” ทั้งที่ก่อนหน้า เคยสำรวจช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา ยังมีอยู่
พร้อมกันนี้ ได้โชว์มินิซีรี่ย์ #10DaysLater นำเสนอความเป็นไปของปะการังน้อยในยุคทะเลเดือด
เมื่อปลาในแนวปะการังที่ฟอกขาวว่างเปล่า!
เรากำลังไม่มีปลาเหลือ 😣เพื่อนธรณ์คงพอเดาได้ว่า เมื่อเกิดน้ำร้อนผิดปรกติ/ปะการังฟอกขาว ย่อมส่งผลกับปลาที่อาศัยในบริเวณนั้น แต่มันส่งผลแค่ไหน ?
นั่นคือสิ่งที่ผมสงสัย เมื่อคิดว่าปีนี้เกิดปะการังฟอกขาวแน่ๆ เราจึงทำการสำรวจล่วงหน้าในเดือนกุมภาพันธ์/มีนาคม 2567
ช่วงนั้นน้ำยังไม่ร้อนมาก ปะการังยังไม่มีอาการใดๆ
จุดสำรวจ 48 ไลน์ (สายวัดในภาพ) แต่ละไลน์ยาว 20 เมตร ปักหมุดล็อคหมายตลอดทาง เพื่อให้มั่นใจว่ามาทำซ้ำแล้วเป็นที่เดิม
เมื่อน้ำร้อนจัด ปะการังฟอกขาว ทีมเพื่อนธรณ์กลับไปสำรวจซ้ำ แม้ยังทำไม่ครบทุกไลน์ แต่ข้อมูลพอบอกได้ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอันน่าเศร้า
ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ปริมาณปลาในแนวปะการังลดลง 50% จำนวนชนิดของปลาลดลง 30% 😔
นี่คือความผิดปรกติอย่างชัดเจน จู่ๆ ปลาจะหายไปขนาดนั้นได้อย่างไร ? สาเหตุคงไม่พ้นน้ำร้อนและปะการังฟอกขาว ใจผมเชื่อว่าน้ำร้อนอาจส่งผลมากกว่าในตอนนี้ แต่ในอนาคตหากน้ำเย็นลงแต่ปะการังตายไปแล้ว สาเหตุหลักย่อมเปลี่ยนไป
แล้วปลาไปไหน ? ตาย ? ว่ายน้ำหนี ? ทั้งสองอย่าง ? ยังมีอีกหลายเรื่องเลยที่อยากรู้
การสำรวจหนนี้เป็นแค่กลางทาง เรายังต้องตามต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดปรากฏการณ์นี้ และตามต่ออีกหลายเดือนหรือเป็นปีๆ หากทำเช่นนั้นได้ เราจะสร้างกราฟผลกระทบของปะการังฟอกขาวต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ซึ่งไม่ใช่เฉพาะปลาเพียงเท่านั้น ยังรวมถึงสัตว์อื่นๆ อีกมาก 🦐🦀🐙🐡
ข้อมูลที่ได้จะเป็นคำตอบสำคัญ เพราะความหลากหลายทางชีวภาพส่งผลในทุกวงการ ตั้งแต่ปากท้องชาวบ้าน การท่องเที่ยว บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เรื่อยไปจนถึงการเจรจาตลาดทุนและการส่งออกสินค้า
ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ (Global) ไม่ได้เกิดทุกปี หนนี้เป็นหนที่ 4 ในประวัติศาสตร์
แม้มีแนวโน้มว่าจะถี่ขึ้น แต่หนหน้าผมคงเกษียณไปแล้ว จึงต้องพยายามใช้โอกาสนี้วางแนวทางไว้ให้รุ่นหลัง ยังมีหลายงานที่จะค่อยๆ นำมาบอกเพื่อนธรณ์ เพราะในวิกฤตย่อมมีโอกาส
ปะการังฟอกขาวหนนี้มีโอกาสอยู่มากมาย ในการเรียนรู้เพื่อเตรียมรับมือกับครั้งหน้า จะใช้โอกาสนั้นทำงานให้มากที่สุด และจะนำผลมาบอกเพื่อนธรณ์แน่นอนครับ
มินิซีรี่ย์ #10DaysLater🪸
นำเสนอความเป็นไปของปะการังน้อย🪸ในยุคทะเลเดือด เป็นซีรี่ย์แสนสั้นและแสนเศร้า ปะการังน้อยที่เพื่อนธรณ์ส่งภาพมาจากเกาะลันตา ผมโพสต์ในวันที่ 2 พฤษภา เพื่อบอกถึงความเร็วของการฟอกขาวในยุคนี้
ดูจากภาพข้างบน - จากปะการังปรกติ เพียงแค่ 2 วัน สีซีดเห็นชัด เพื่อนธรณ์มาร่วมลุ้นให้เธอรอด กดไลค์เกือบครึ่งหมื่น สู้ๆ นะ ปะการังน้อย
10 วันนับจาก Day 0 เพื่อนธรณ์ส่งภาพมาอีกครั้ง เธอตายแล้ว ซีรี่ย์จบ ไม่ต้องสู้ๆ นะ ไม่ต้องลุ้นอะไรอีก
เธอตาย สาหร่ายขึ้นคลุม ไม่มีโอกาสฟื้น 10 วัน ! ทะเลเดือดใช้เวลาเพียงเท่านั้น ในการฆ่าปะการังน้อยกิ่งนี้
🪸ไม่มีปะการังเขากวางต้นใหญ่ เป็นที่อาศัยของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย ไม่มีไข่ไม่มีลูกหลานปะการัง
เกิดเพื่อเติบโตและคงอยู่เป็นสิบๆ ปี สร้างระบบนิเวศสวยงามและหลากหลายที่สุดบนโลกใบนี้ ทุกอย่างจบใน 10 วัน
จบสิ้น…บริบูรณ์ พินาศ…ย่อยยับ ทำไมต้องลดโลกร้อน ? คำตอบปรากฏชัดเจนตรงหน้า ขึ้นกับว่า เราจะมองไหม ?
🌏⚫️ขอบคุณ-คุณฝรั่งเพื่อนธรณ์จากเกาะลันตา สำหรับภาพสะเทือนใจชุดนี้ Thank You