xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ปะการังฟอกขาว” หายนะครั้งใหญ่จากความร้อนในมหาสมุทร และครั้งนี้อาจรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจาก องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) และโครงการริเริ่มแนวปะการังนานาชาติ (International Coral Reef Initiatives : ICRI) ประกาศว่า โลกกำลังประสบสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ (Mass Bleaching) เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา และได้เผยว่าในปัจจุบันนี้  54 ประเทศทั่วโลก กำลังประสบปัญหาสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำในพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น  

MGROnline Science จึงขอพาไปทำความรู้จักกับการฟอกขาวของปะการัง ที่ทำให้ปะการังสีสันสวยงาม กลายมาเป็นสีขาวซีดจนน่าหดหู่ใจ  


ตามที่ได้มีการบันทึกไว้ สภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ระดับโลกนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการเกิดขึ้นมาแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 ครั้งที่สอง ปี 2553 และครั้งที่สาม ระหว่างปี 2557 ถึงปี 2560

จะเห็นได้ว่าการเกิดปะการังฟอกขาวเป็นช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งที่ 3 และ 4 ห่างกันไม่ถึง 10 ปี และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรง และมีความถี่ในการเกิดบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ


ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) คือ สภาวะที่ปะการังมีสีซีดจางลง จนมองเห็นเป็นสีขาว มีสาเหตุมาจากการสูญเสีย “สาหร่ายซูแซนเทลลี” (Zooxanthellae) สาหร่ายขนาดเล็กที่ดํารงชีวิตอยู่ร่วมกับปะการัง ในวงจรชีวิต “แบบพึ่งพากัน” (mutualism)

ปกติแล้วในเนื้อเยื่อของปะการังไม่ได้มีสีสันสวยงาม มันเป็นเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เท่านั้น ส่วนสีที่เราเห็นในปะการังล้วนเป็นสีที่ได้รับมาจากสาหร่ายซูแซนเทลลี ซึ่งอาจจะเป็นสีแดง สีส้ม สีเขียว หรือน้ำตาลก็ขึ้นอยู่กับชนิดของซูแซนเทลลีที่เข้าไปอาศัยอยู่ในตัวปะการัง

สาหร่ายซูแซนเทลลีจะทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหาร ช่วยเร่งกระบวนการสร้างหินปูน รวมถึงการสร้างสีสันให้แก่ตัวปะการัง ส่วนปะการังก็ให้ที่อยู่แก่สาหร่ายเป็นการใช้ชีวิตที่เกื้อกูลกันและกัน


หากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตในแนวปะการังเกิดขึ้น เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 30-31 องศาเซลเซียส ติดต่อกันประมาณ 3-4 สัปดาห์ ค่าความเค็มของน้ำทะเลเปลี่ยนไปจากเดิม หรือมลพิษในน้ำทะเล สาหร่ายซูแซนเทลลีจะไม่สามารถดำรงชีวิตในปะการังในบริเวณนั้นได้ และมีการออกจากเนื้อเยื่อปะการังเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้ปะการังเหลือเพียงเนื้อเยื่อใสๆ และจะเห็นเป็นสีขาวของโครงสร้างหินปูนที่อยู่ภายใน เหตุนี้จึงเรียกกันว่า “ปะการังฟอกขาว”


การที่ปะการังจะกลับมามีสีสันเหมือนเดิมนั้น จะต้องรอสภาพแวดล้อมในแนวปะการังกลับมาสมดุลเหมือนเดิม สาหร่ายซูแซนเทลลีก็จะกลับเข้ามาอาศัยในเนื้อเยื่อปะการังตามเดิม สภาวะปะการังฟอกขาวก็จะหายไปและปะการังก็จะกลับมาสีสันสวยงามเหมือนเดิมอีกครั้ง




ขอบคุณข้อมูล – รูปอ้างอิง

- www.science.navy.mi.th

- www.noaa.gov องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น