วานนี้ ( 29 พ.ค.67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกาะติดสถานการณ์🪸แนวปะกะรังฟอกขาวทั่วประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยเปิด 10 ภาพจากโดรน เห็น🪸🔥 10 แนวปะการังภาคตะวันออกในยุคทะเลเดือด พร้อมยกเคส “เกาะมันใน” มาวิเคราะห์หาแนวทางรับมือ
อาจารย์ธรณ์ เผยว่า “10 ภาพ 10 แนวปะการังในยุคทะเลเดือด🪸🔥 ทั้งหมดเป็นภาพถ่ายจากโดรน ซึ่งมองเห็นชัดเจนว่าทุกแห่งฟอกขาวรุนแรง ส่วนแนวปะการังแห่งอื่นๆ ในจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เกือบทั้งหมดตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ทั้งนั้น หากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง คาดว่านี่คือหายนะครั้งร้ายแรงที่สุดหนหนึ่งของทะเลไทย”
อาจารย์ธรณ์ ยกเคส “เกาะมันใน ระยอง” เป็นจุดที่กรมทะเล/คณะประมงเก็บข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเลต่อเนื่อง เพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้น จึงขอนำมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง
ดูภาพจากกราฟประกอบ กราฟมี 2 เส้น ดำคือปี 2566 ส้มคือปี 2567 (ปีนี้)
ในภาวะปรกติ น้ำทะเลจะร้อนสุดช่วงกลางเดือนเมษายน-กลางเดือนพฤษภาคม
ปี 66 เกิดเอลนีโญช่วงกลางปี ทำให้อุณหภูมิน้ำช่วงก่อนหน้า ไม่ได้รับผลจากเอลนีโญ ทะเลจึงร้อนปรกติ ไม่เกิดการฟอกขาว
ปี 67 เอลนีโญส่งผล ผมแบ่งเป็น 4 ช่วง A B C D
A - มกราคม หน้าหนาว น้ำควรเย็นสุดในรอบปี แต่เอลนีโญส่งผลแรง ทำให้อุณหภูมิน้ำสูงกว่าปรกติ 2 องศา (ดูจุดค่าเฉลี่ย)
แม้น้ำไม่ร้อนเกินเส้นวิกฤต (31 องศา) แต่น้ำร้อนสะสมทำให้ปะการังเริ่มเครียด
B - กลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางมีนาคม น้ำเริ่มร้อนตามฤดูกาล เอลนีโญอ่อนกำลังลงแต่ยังส่งผล ทำให้น้ำร้อนปีนี้ไปถึงเส้นวิกฤตตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม แทนที่จะเป็นสิ้นเดือนมีนาคมเหมือนปีปรกติ น้ำปีนี้ร้อนเร็วขึ้น 2 สัปดาห์ ทำให้ระยะเวลาที่ปะการังแช่น้ำร้อนนานขึ้น
C - เมษายน-ต้นพฤษภาคม อุณหภูมิน้ำเฉลี่ยสูงกว่าเส้นวิกฤต 1.5 องศา สูงกว่าปีก่อนเกือบ 1 องศา
หลังจากปะการังแช่น้ำร้อนเร็วกว่าปรกติ น้ำยังร้อนขึ้นต่อเนื่อง ในปัจจุบัน น้ำก็ยังร้อนกว่าเส้นวิกฤต
D - กลางเดือนพฤษภาคม-สิ้นเดือน แม้ว่าเอลนีโญจะยุติลงแล้ว เส้นกราฟส้มลงมาทับเส้นดำ แต่โลกร้อนทำให้อุณหภูมิน้ำยังร้อนอยู่
กว่าน้ำจะเย็นลงจนต่ำกว่าเส้นวิกฤต ต้องเข้าเดือนมิถุนายน ถ้าเป็นปีก่อน อุณหภูมิจะลดลงอย่างเร็ว ได้แต่หวังว่าปีนี้จะเป็นเช่นนั้น
สรุป ปะการังฟอกขาวรุนแรงเพราะ🔥
- น้ำร้อนถึงจุดวิกฤตเร็วกว่าปรกติ 2 สัปดาห์ ทำให้ปะการังแช่น้ำร้อนรวมกันนานถึง 10 สัปดาห์
- ที่จุดพีค น้ำร้อนกว่าเส้นวิกฤต 1.5 องศา ต่อเนื่อง 6 สัปดาห์
ด้วยเหตุนี้ ปะการังจึงฟอกขาวทั้งในที่ตื้นและที่ลึก ต่างจากปีปรกติที่อาจฟอกขาวเฉพาะที่ตื้น เนื่องจากแสงและน้ำลงต่ำ
อย่างไรก็ตาม ในที่ลึก 6-8 เมตร ปะการังฟอกขาวระดับรุนแรงน้อยกว่าที่ตื้น แสงแดดและระดับน้ำยังคงส่งผล
ข้อมูลเหล่านี้จึงมีประโยชน์สำหรับการรับมือคราวหน้า (เอลนีโญ) หากจะทำ shading ควรทำตั้งแต่ต้นเมษายน เพื่อช่วยลดแสงให้ปะการังตอนร้อนจัด
หากฟอกขาวรุนแรง ทุกที่โดนหมด การปิดจุดดำน้ำเฉพาะบางจุดทำยากมากในเชิงปฏิบัติ เพราะไม่มีจุดสำรอง
การสร้างความเข้าใจ เช่น ใส่ชูชีพ อย่าโดนปะการัง ไม่ให้อาหารปลา ฯลฯ เป็นทางออกสำหรับวันนี้
การย้ายปะการังอาจทำได้ยาก ยกเว้นแปลงปลูกที่เคลื่อนย้ายได้ เราอาจย้ายสัตว์อื่น เช่น หอยมือเสือ หอยมือเสือที่กรมทะเลย้ายไปตามคำแนะนำของผม ตอนนี้รอดเกือบหมด ตายเพียง 1 ตัว ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี
การลดแสงให้สัตว์อื่น เช่น ดอกไม้ทะเล หอยมือเสือ เป็นเรื่องที่ควรศึกษา เช่นเดียวกับ shading ปะการังที่ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ
เทคนิคต่างๆ ที่คณะประมงพัฒนาร่วมกับปตท.สผ. มีประโยชน์อย่างยิ่ง ตอนนี้เราขยายผลไปติดตามในบริเวณอื่นๆ โดยเฉพาะหมู่เกาะหมาก
พัฒนาสายพันธุ์ปะการังทนร้อนในบ่อ ทำได้แต่ลงทุนสูงมาก
เราอาจพยายามช่วยปะการังในแปลงเพาะปลูกในทะเล เพื่อให้เหลือรอดอยู่บ้าง จากนั้นค่อยนำไปขยายพันธุ์ต่อหลังน้ำร้อนผ่านไป จะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า
“ยังมีอีกหลายเรื่องมากที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ผมจึงไปทะเลแทบไม่หยุด อีก 2 วันจะไปต่อ หนนี้ขอข้ามประเทศบ้าง จะไปติดตามงานที่มัลดีฟส์ เมื่อเข้าสู่ยุคโลกเดือด นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลมีงานเพียบเลยจะพยายามให้ถึงที่สุดจ้ะ”
🔥🔥🪸🔥🔥
ขอบคุณเพื่อนธรณ์ที่กรุณาส่งภาพเกาะช้างและเกาะหวายมาให้ ใครมีโอกาสถ่ายภาพไว้ หากไม่รบกวน ส่งมาหลังไมค์ได้ครับ จะได้รวบรวมไว้เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงและหาแนวทางฟื้นฟูในวันหน้า