ดินแดนสหพันธ์ปุตราจายา มาเลเซีย เปิดทดลองให้บริการระบบขนส่งใหม่ ART เป็นรถรางผสมระหว่างรถโดยสารและรถไฟฟ้า ให้ประชาชนขึ้นฟรี ออกจากสถานีรถไฟเอ็มอาร์ที ปุตราจายา เซ็นทรัล วันละ 3 เที่ยว ถึง 31 ก.ค. 67
วันนี้ (17 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ดินแดนสหพันธ์ปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศในปัจจุบัน ที่อยู่ทางตอนใต้ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้เริ่มทดลองให้บริการรถรางเสมือนที่เรียกว่า Automated Rapid Transit (ART) ซึ่งเป็นยานพาหนะผสมระหว่างรถโดยสารกับรถไฟฟ้า เพื่อพัฒนาให้เป็นหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนของเมือง โดยเปิดให้บริการประชาชนฟรี ระหว่างวันที่ 13 พ.ค. ถึง 31 ก.ค. 2567 สำหรับเส้นทางทดลองการให้บริการมีอยู่ 2 เส้นทาง โดยมีจุดเริ่มต้นที่สถานีรถไฟเอ็มอาร์ที ปุตราจายา เซ็นทรัล (MRT Putrajaya Sentral)
ประกอบด้วย เส้นทาง 1A ไปยังถนนวาวาซาน (Lebuh Wawasan), ย่านเปอร์เซียรัน เปอร์ดานา (Persiaran Perdana), ย่านวงเวียนเกมิลัง (Lingkaran Gemilang) แล้วกลับไปยังสถานีปุตราจายา เซ็นทรัล โดยรถออกจากสถานีปุตราจายา เซ็นทรัล เฉพาะวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30, 11.30 และ 14.30 น. ใช้เวลาขาไป 1 ชั่วโมง ขากลับ 1 ชั่วโมง
ส่วนเส้นทาง 2B ไปยังย่านเปอร์เซียรัน เปอร์ดานา จากนั้นไปยังย่านถนนเบสตาริ (Lebuh Bestari), ย่านเปอร์เซียรันตะวันออก (Persiaran Timur) และศูนย์การค้าไอโอไอ ปุตราจายา (IOI Putrajaya) แล้วกลับไปยังสถานีปุตราจายา เซ็นทรัล โดยรถออกจากสถานีปุตราจายา เซ็นทรัล เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.30, 11.30 และ 14.30 น. ใช้เวลาขาไป 1 ชั่วโมง ขากลับ 1 ชั่วโมง
สำหรับยานพาหนะที่ใช้ เป็นรถรางอัจฉริยะพลังงานไฮโดรเจนที่พัฒนาโดยบริษัท ซีอาร์อาร์ซี จูโจว (CRRC Zhuzhou) มณฑลหูหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกส่งมายังประเทศมาเลเซียเมื่อปีที่แล้ว (2566) โดยเดินรถบนรางเสมือน (Virtual Rails) บนถนน ซึ่งใช้ระบบเซ็นเซอร์กำหนดขอบเขตและมิติบนถนน โดยไม่มีตัวรางปรากฏให้เห็น ซึ่งรถรางรุ่นดังกล่าวได้นำมาใช้ในโครงการบริการขนส่งในพื้นที่เขตเมืองของเมืองกูชิง รัฐซาราวักในมาเลเซีย คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 โดยโครงการระยะแรกครอบคลุมพื้นที่เป็นระยะทาง 27.6 กิโลเมตร
อีกด้านหนึ่ง สื่อในมาเลเซียหลายสำนัก รายงานว่า นายฟาซลี ซัลเลห์ ประธานคณะกรรมการด้านโยธา การขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน และการสื่อสาร ของรัฐยะโฮร์ ทางตอนใต้ของมาเลเซีย เปิดเผยว่า รัฐยะโฮร์เตรียมเสนอโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอัตโนมัติ (ART) แบบยกระดับ โดยใช้รถรางรุ่นดังกล่าว มี 3 เส้นทาง รวม 32 สถานี ระยะทางรวม 50 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 7,000 ล้านริงกิต เนื่องจากดำเนินการได้เร็วกว่ารถไฟรางเบา (LRT) ที่ลงทุนสูงถึง 16,000 ล้านริงกิต ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. ก่อนเสนอรัฐบาลสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยมีแผนจะเปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2570
อ่านประกอบ : หูหนันทดลองเดินรถลูกผสม “รถไฟ” คันแรกของโลก แล่นบนถนน
‘รถรางอัจฉริยะพลังไฮโดรเจน’ ฝีมือจีน เตรียมส่งออกสู่มาเลเซีย