xs
xsm
sm
md
lg

สะพานลอยรถไฟปาดังเบซาร์เลื่อนเปิด ชาวมาเลย์โวย "เอื้อประโยชน์แท็กซี่"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สื่อมาเลเซียตีแผ่ สะพานลอยคนข้ามระหว่างสถานีรถไฟกับด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ ตรงข้ามประเทศไทย ถูกเลื่อนเปิดใช้มาแล้วกว่า 5 ครั้ง การรถไฟมาเลเซียอ้างไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อำนาจเป็นของกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย ขณะที่ชาวเน็ตมาเลเซียโวย เอื้อประโยชน์กลุ่มรถแท็กซี่ พบต้องจ่ายค่าเดินทางสูงถึงมากกว่า 100 ถึงเกือบ 300 บาท

วันนี้ (7 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ WORLD OF BUZZ (WOB) สื่อของมาเลเซีย รายงานข่าวในหัวข้อ "“Forced to take taxi” - M’sian Shares KTM Padang Besar to Thai Border Footbridge’s Constant Closure" ซึ่งเป็นการกล่าวถึงกรณีที่มีการปิดสะพานลอยข้ามทางรถไฟ จากด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ ฝั่งประเทศมาเลเซีย ไปยังสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ รัฐปะลิส ของการรถไฟมาลายา (KTMB) รัฐวิสาหกิจของมาเลเซีย ทำให้นักท่องเที่ยวจำต้องขึ้นรถแท็กซี่เพื่ออ้อมไปยังด่านพรมแดนปาดังเบซาร์

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้คนที่มาจากประเทศไทยจะไปขึ้นรถไฟที่สถานีปาดังเบซาร์ ฝั่งประเทศมาเลเซีย เพื่อไปยังสถานีรถไฟบัตเตอร์เวิร์ธ รัฐปีนัง หรือสถานี KL Sentral กรุงกัวลาลัมเปอร์ จะมีอยู่สองวิธี คือ ขึ้นรถไฟจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา ไปลงสถานีปาดังเบซาร์ ฝั่งมาเลเซีย เพื่อลงตราประทับหนังสือเดินทางของตรวจคนเข้าเมืองทั้งสองประเทศที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ภายในสถานี ซึ่งรถไฟระหว่างประเทศมีให้บริการวันละ 2 เที่ยว คือ รอบเช้า กับรอบบ่าย

กับอีกวิธีหนึ่ง คือ นั่งรถตู้สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ไปลงหน้าด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้าง 50 บาท ลงตราประทับที่ด่านฝั่งไทย และด่านฝั่งมาเลเซีย ก่อนที่จะส่งถึงสะพานลอยดังกล่าว ส่วนคนที่ลงรถไฟจากสถานีปาดังเบซาร์ ต้องการข้ามไปยังประเทศไทย เดิมจะใช้สะพานลอยดังกล่าวลงไปยังหน้าด่านปาดังเบซาร์ฝั่งมาเลเซีย จากนั้นต่อรถจักรยานยนต์ไปประทับลงตราที่ด่านฝั่งมาเลเซีย และด่านฝั่งไทย ก่อนไปส่งที่ท่ารถตู้ในเขตเทศบาลตำบลปาดังเบซาร์ เพื่อไปยังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาต่อไป


ปรากฏว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเดินรถไฟระหว่างสถานีชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา กับสถานีปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย หยุดให้บริการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 2563 ก่อนที่จะมีการปิดด่านพรมแดนปาดังเบซาร์เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะพานลอยข้ามทางรถไฟดังกล่าวก็ปิดไปด้วย กระทั่งผ่านไปกว่า 2 ปี สถานการณ์ดีขึ้นและกลับมาเดินรถอีกครั้งในวันที่ 15 ก.ค. 2565 แต่ก็พบว่าสะพานลอยข้ามทางรถไฟยังคงปิดปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องเดินทางด้วยรถแท็กซี่หรือรถรับจ้างอ้อมไปยังสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ เป็นระยะทางที่ไกลราว 4.5 กิโลเมตร


เว็บไซต์ WORLD OF BUZZ รายงานว่า หนึ่งในตัวเลือกการเดินทางจากมาเลเซียมายังประเทศไทย คือการนั่งรถไฟ KTM Intercity Train (รถไฟทางไกล) ไปยังสถานีปาดังเบซาร์ รัฐปะลิส จากนั้นต่อรถไฟจากสถานีปาดังเบซาร์ไปยังสถานีชุมทางหาดใหญ่ ประเทศไทย ซึ่งภายในสถานีจะมีจุดบริการด่วนที่เรียกว่า ICQS ประกอบด้วย ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ศุลกากร ด่านกักกันและรักษาความปลอดภัย เพื่อที่ผู้โดยสารสามารถข้ามแดนได้อย่างถูกกฎหมาย

แต่เนื่องจากรถไฟมีให้บริการเพียงวันละ 2 เที่ยว นักท่องเที่ยวจำนวนมากเลือกที่จะเดินเท้าหรือรถแท็กซี่จากสถานีปาดังเบซาร์ ฝั่งมาเลเซีย แล้วต่อรถตู้ไปยังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาแทน และการเดินเท้าอาจทำไม่ได้ในขณะนี้ แม้ว่าสถานีปาดังเบซาร์กับด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ ฝั่งประเทศมาเลเซียจะอยู่ใกล้กันก็ตาม เนื่องจากสะพานลอยข้ามทางรถไฟถูกปิดมาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ต้องเดินเท้าอ้อมไปไกล นักท่องเที่ยวต้องใช้บริการรถแท็กซี่แทน

นับตั้งแต่การปิดสะพานลอยชั่วคราวด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่สะพานลอยยังคงปิดต่อไป โดยมีการขยายเวลาปิดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการประกาศเปิดสะพานลอยอีกครั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (2566) ที่ผ่านมาก็ตาม ชาวมาเลเซียรายหนึ่งมีการโพสต์ข้อความลงในแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์เดิม) ถึงการปิดสะพานลอยดังกล่าว ไม่ใช่แค่เพียง 1-2 ครั้ง แต่เป็น 5 ครั้งที่การรถไฟมาลายาเปลี่ยนวันที่กำหนดเปิดใช้สะพานลอย นับตั้งแต่ครั้งแรก จะเปิดในวันที่ 30 ต.ค. 2566 แต่เลื่อนออกไปครั้งที่สอง ระบุว่าจะเปิดวันที่ 30 พ.ย. 2566 ถัดจากนั้นระบุเป็นครั้งที่สามยืนยันว่าเป็นวันที่ 30 ธ.ค. 2566 จากนั้นประกาศเลื่อนเป็นครั้งที่สี่ วันที่ 30 ม.ค. 2567 และครั้งล่าสุด ประกาศว่าจะเปิดในวันที่ 30 เม.ย. 2567

ผู้ใช้แพลตฟอร์ม X ชาวมาเลเซียรายหนึ่ง เห็นว่า "เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มรถแท็กซี่ ไม่คิดว่าสะพานลอยจะเปิดในเร็ววันนี้" ซึ่งพบว่าผู้ใช้แพลตฟอร์ม X คนอื่นๆ วิจารณ์ว่าการปิดสะพานลอยทำให้นักท่องเที่ยวลำบากขึ้น เพราะถูกบังคับให้ต้องใช้บริการรถแท็กซี่เพิ่มเติม เพื่อไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ เนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่น ส่วนอีกรายหนึ่งกล่าวแบบเหน็บแนมว่า ถ้าไม่คิดจะเปิดสะพานลอยอีกครั้ง ให้สร้างกำแพงเพื่อปิดทางเดินไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองซะ หลายคนแท็กไปยังนายแอนโทนี่ ลก เซียว ฟุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของมาเลเซีย เพื่อให้ลงมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ภายหลังผู้ใช้แพลตฟอร์ม X รายดังกล่าวชี้แจงว่า การสั่งเปิด-ปิดสะพานลอยดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายแดนมาเลเซีย-ไทย

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ดาตุ๊ก เสรี ไซฟุดดิน นาซูเตียน อิสมาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศว่า รัฐบาลกำลังสร้างสะพานลอยแห่งใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะก่อสร้างโดยบรรษัทสินทรัพย์การรถไฟมาเลเซีย หรือ Railway Assets Corporation (RAC) ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย 3 ล้านริงกิต หรือประมาณ 22.35 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้สะพานลอยแห่งใหม่ยังคงใช้งานไม่ได้ต่อไป




รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า หลังจากสำนักข่าว WORLD OF BUZZ เสนอข่าวออกไป เมื่อมีชาวเน็ตมาเลเซียรายหนึ่งคอมเมนต์ไปยังเพจ KTM Berhad ของการรถไฟมาลายาว่า สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ของ KTMB ยังคงวุ่นวายอยู่กับการเลื่อนวันเปิดใช้สะพานลอยคนข้าม มีเหตุผลอะไรที่ปิดปรับปรุงเมื่อปีที่แล้ว แต่งานปรับปรุงแค่ครั้งเดียวกลับไม่มีทีท่าว่าจะแล้วเสร็จ หลังจากผ่านไปแต่ละเดือน แต่ละเดือนที่จะเปิด ปีแห่งการท่องเที่ยวรัฐปะลิสในปี 2567-2568 ควรที่จะออกมาใส่ใจเพียงแค่เรื่องเล็กๆ เสียที ถึงกระนั้น แอดมินเพจก็ตอบกลับมาว่า สำหรับสะพานลอยเชื่อมระหว่างสถานีปาดังเบซาร์ กับด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟมาลายา ข้อร้องเรียนและข้อสงสัยเพิ่มเติมกรุณาส่งต่อไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขอขอบคุณที่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

อนึ่ง ปัจจุบันค่ารถแท็กซี่จากสถานีปาดังเบซาร์ ฝั่งมาเลเซีย ไปยังด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ โดยอ้อมไปขึ้นสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ บนทางหลวงสหพันธรัฐมาเลเซียหมายเลข 7 (สายปาดังเบซาร์-อลอร์สตาร์) ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร คิดค่าโดยสารสูงถึง 15 ริงกิต หรือประมาณ 112 บาทไทย หรือไม่เช่นนั้นจะมีผู้ประกอบการรถตู้ป้ายดำ ถือป้ายเชิญชวนขึ้นรถตู้ไปยังหาดใหญ่ (VAN TO HATYAI) ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 30 ริงกิต หรือประมาณ 225 บาท แตกต่างจากรถตู้หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ (ฝั่งไทย) แบบถูกกฎหมาย คิดค่าโดยสารคนละ 60 บาทเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น