xs
xsm
sm
md
lg

เตือนไทยพบโควิด-19 โอมิครอน KP.3 สายพันธุ์ย่อยใหม่กำลังคืบคลาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาฯ เผยข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบไทยติดเชื้อโควิด-19 ตระกูลโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย "กลุ่มเฟลิร์ท" แพร่กระจายได้ดี หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น หนำซ้ำยังมีโอมิครอน KP.3 เข้ามาใหม่ เฝ้าระวังแพร่กระจายอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (13 พ.ค.) เฟซบุ๊ก "Center for Medical Genomics" ของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความระบุว่า องค์การอนามัยโลกแถลงข่าว โอมิครอน KP.2 ล่าสุดจากข้อมูลรหัสพันธุกรรมและแชร์บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) พบในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตระกูลโอมิครอนหลากหลายสายพันธุ์ย่อย ได้แก่ KP.1.1 จำนวน 1 ราย, KP.2 จำนวน 9 ราย, KP.2.2 จำนวน 1 ราย และ KP.4.1 จำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ในกลุ่ม "เฟลิร์ต" (FLiRT) ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากศักยภาพในการแพร่กระจายและหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน KP.3 ซึ่งไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเฟลิร์ต จำนวน 8 ราย โดยที่โอมิครอน KP.3 มีความได้เปรียบในการเติบโตและแพร่เชื้อมากกว่าโอมิครอนที่ระบาดทั่วโลกประมาณ 80% หรือ 1.8 เท่า และพบผู้ติดโอมิครอน KP.3 ทั่วโลกแล้วถึง 833 ราย ซึ่งบ่งชี้ว่ามันอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกและในประเทศไทย เข้าแทนที่โอมิครอน JN.1 และโอมิครอนกลุ่ม FLiRT ได้ในที่สุด

ด้วยการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของโอมิครอน KP.3 ผู้เชี่ยวชาญจึงกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมันอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมากของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ทางหน่วยงานสาธารณสุขจึงกำลังดำเนินมาตรการเชิงรุก เช่น การเพิ่มการเฝ้าระวัง การสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 สวอบจากผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ และมาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังคงแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย รักษาสุขอนามัยที่ดี และประชาชนกลุ่มเปราะบางควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่องตามเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งแนะนำให้กลุ่มเปราะบางไปพบแพทย์หากมีอาการของโรคโควิด-19 เพื่อรักษาด้วยยาต้านไวรัสหรือแอนติบอดีสำเร็จรูปที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ต่อไป

เมื่อไวรัสโคโรนายังคงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องเฝ้าระวังและปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม โดยอาศัยความร่วมมือในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแชร์ข้อมูลการวิจัย การสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในทุกประเทศแบบเรียลไทม์ และการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น