xs
xsm
sm
md
lg

ป่วยพุ่งแต่ยอดไม่โชว์ ระบาดหนักแต่ไม่รุนแรง “โควิด ปี 67” อันตรายแค่กลุ่มเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โควิด” กลับมาแล้ว หมอบอกยอดคนติดเชื้อ “เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน” คาดอาจมีคนติดแล้วกว่า “แสนคน” วิเคราะห์ให้ชัด ปี 2567 “โควิด-19 ยังน่ากลัวอยู่ไหม?”

วิเคราะห์ยอดป่วยพุ่ง หลังปีใหม่ไทย

หลังจากเงียบไปนาน มันกลับมาอีกแล้วกับ “โควิด-19” เมื่อ “นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โพสต์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องนี้

“เป็นไปตามคาด หลังเดินทางกลับจากการท่องเที่ยว ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนไทยติดเชื้อไวรัสโควิดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

และข้อมูลจาก “ศูนย์ข้อมูล COVID-19” พบว่า ระหว่างวันที่ 14 - 20 เม.ย.67 มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 1,004 คน และยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.67 มีกว่า 9,000 ราย



เพื่อไขข้อสงสัย ทีมข่าวจึงได้ติดต่อไปยัง นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ พร้อมคำถามที่ว่า “โควิด-19 กำลังระบาดเพิ่มขึ้นจริงๆ หรือ?”

คำตอบที่ได้คือ “เยอะขึ้นจริง”ซึ่งในเช้าที่เราโทร.หา ก็มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามารักษาแล้วประมาณ 4-5 คน คำถามต่อมาคือ “อะไรทำให้การระบาดกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง”

“จากการไปเที่ยว ทั้งในต่างประเทศและนอกประเทศ”
ส่วนผู้ป่วยนั้นมีแทบทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก, วัยรุ่น, คนทำงานหนำซ้ำยังพาไปติดผู้สูงอายุที่บ้านอีกด้วย ซึ่งกลุ่มวัยรุ่น-หนุ่มสาวไม่น่าเป็นห่วง เพราะส่วนมากฉีดวัคซีน และเคยติดเชื้อกันมาก่อนแล้ว

“แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มคนสูงอายุ และคนที่ไม่เคยฉีดวัคชีน ยังไม่เคยติดโควิด กลุ่มนี้ถ้าติดอาจจะเป็นหนักได้”

                                             {“นพ.มนูญ” ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ}

สอดคล้องกับข้อมูลจาก ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า ตัวเลขคนติดเชื้ออาจมีมากกว่า “1 แสนคน”

หัวหน้าศูนย์จีโนมบอกว่า “ตัวเลขคนติดเชื้อตอนนี้ บอกได้ยาก”เพราะเราไม่ค่อยได้ตรวจ RT-PCR ในโรงพยาบาลกันแล้ว แต่จะเป็นการแบบ ATK ที่บ้านกันส่วนใหญ่ ทำให้ข้อมูลไม่ชัดเจน

แต่จากการถามไปยังเอกชนที่ขายชุดตรวจ ATK “ตอนนี้ทั้งประเทศมีการสั่งซื้อขุดตรวจไปแล้วกว่า 4 แสนชุด” ซึ่งโดยปกติแล้วการสั่งซื้อ บริษัทเอกชนจะสำรองของเอาไว้ครึ่งหนึ่ง

“ถ้าเราประเมินแล้วเนี่ย การซื้อแล้วเอาไปตรวจในช่วงสงกรานต์ น่าจะประมาณ 2 แสนชุด ซึ่งก่อนหน้าสงกรานต์จะมีการซื้ออยู่ที่ 1 แสนชุด”

แสดงว่ามีคนที่ติดเชื้อ “โควิด-19” มากกว่า 1 แสนคนแต่อาการไม่หนัก ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยจาก “กรมควบคุมโรค”มีแค่ 1,000 กว่าคนเท่านั้น

                                          {“ดร.วสันต์” หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์}

วัคซีนอัปเดตไม่ทัน แต่ป่วยไม่รุนแรง

แล้วทำไมถึงกลับมาแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอีกครั้ง? คุณหมอมนูญ บอกว่า อาจเพราะอาการที่เปลี่ยนไป ทำให้คนไม่รู้ตัวและไม่ไปตรวจหาเชื้อกัน

จากในช่วงแรกที่โรคนี้ระบาด เชื้อส่วนใหญ่จะลงไปที่ “ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง”อย่าง “ปอด” และ “หลอดลม” แต่ตอนนี้เชื้อจะอยู่ที่ “ทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่า” คือแถว “คอและจมูก”คล้าย “ไข้หวัด”

“อาการเด่นก็คือ เจ็บคอ และมีไข้ น้ำมูก ไอเล็กน้อย แต่จมูกยังได้กลิ่นอยู่ ไม่เหมือนแต่ก่อน อาการเหนื่อยก็ไม่ค่อยมีแล้วนะครับ ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง ผู้อายุ อันนั้นอาจจะลงปอดได้ มีอาการไอเหนื่อยได้”

และการที่ “ลิ้นรับรสไม่ได้ก็น้อยลง” อาการ “ลองโควิด (Long COVID)”ก็ไม่ค่อยมี ทำให้ตรวจหาเชื้อกันน้อยลง “ก็เลยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นหรือไม่เป็น และไม่ป้องกัน แล้วก็ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น”



ส่วน ดร.วสันต์เสริมว่า อาการที่เปลี่ยนไป มีส่วนทำให้เกิดการระบาดอีกครั้ง แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้โควิด-19 กลับมาระบาดเพิ่มขึ้น และไม่ใช่แค่ในไทยที่เดียวด้วย

ตอนนี้ไวรัสโควิดมี “การกลายพันธุ์”และ 95% ที่ระบาดอยู่ทั่วโลกคือ “โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย JN.1” ในไทยก็เช่นเดียวกัน แต่วัคชีนที่เราฉีดไป ยังเป็น “เชื้ออู่ฮั่น”อยู่

“พูดง่ายๆ ภูมิคุ้นกันเรา ทั้งจากธรรมชาติและวัคซีน ตามไม่ทันไวรัสที่กลายพันธุ์ สายพันธุ์ตอนนี้คือ JN.1 และสายพันธุ์นี้จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี”



ทั่วโลกมีการแจ้งว่า มีคนติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากตอนนี้ ภูมิคุ้มกันของเรายังพอจัดการ กับสายพันธุ์นี้ได้ จึงเห็นว่าแม้การติดเชื้อจะเยอะขึ้น “แต่คนป่วยในโรงพยาบาล มีแค่หลักพันคนเท่านั้น”

ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเรามี 2 ระบบคือ “แอนติบอดี” ที่เกิดจากการรับวัคซีนหรือติดเชื้อตามธรรมชาติ แต่ระบบนี้จะ “อยู่ไม่นาน” ส่วนอีกอันหนึ่งคือ “ที-เซลล์” ที่จะค่อยรั้งสารกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาว ไปทำร้ายเซลล์ที่ติดเชื้อ

“คนจะติดเชื้อเยอะ แต่หลังจากนั้น เชื้อจะโดนทำลายอีกทีหนึ่ง ด้วยระบบภูมิคุ้มกันระดับที่ 2 ทำให้เราไม่เจ็บป่วยรุนแรง”



ยังน่ากลัวต่อ “กลุ่มเสี่ยง-เปราะบาง”

“คนไหนที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว เคยเป็นมาแล้ว อันนี้ไม่น่ากลัวอีกแล้ว เป็นเองก็หายเอง ไม่ต้องกินยาด้วยซ้ำ แต่ว่ากลุ่มเสี่ยงยังคงต้องกลัวอยู่”

นพ.มนูญ สรุปเอาไว้อย่างนั้น ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ว่าหมายถึง “กลุ่ม608” หรือกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป และคนที่มีโรคประจำตัว 7 โรคนี้ ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจ-หลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, มะเร็ง และ เบาหวาน

“ที่สำคัญคือ คนที่ไม่เคยฉีดวัคซีน เพราะกลัววัคซีน กลุ่มนี้แหละที่เวลาติดแล้ว มันจะลงปอดได้”

“ตอนนี้คนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนเลย ยังมีเยอะมาก” ซึ่งก็ควรฉีด ย้ำว่า “ตอนนี้1 เข็มก็เพียงพอแล้ว” หรือแม้จะเคยฉีดไปแล้วก็ควรฉีดซ้ำ “เวลาติด อาการมันจะได้เบาบางลง” 



ด้านดร.วสันต์ เสริมว่า ยังไงก็ตามโรคนี้ยังคงอันตรายอยู่สำหรับ “กลุ่มเสี่ยง” คือในกลุ่มที่ไม่มีภูมิเลย ไม่ว่าเชื้อตัวไหน หากติดเข้าก็อันตรายหมด และอาการอาจรุนแรงเหมือนในอดีต ตอนโควิดระบาดแรกๆ

“โควิด-19 ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว คือเป็นโรคที่ควบคุมได้ และเกิดขึ้นตามฤดูกาล อย่างประเทศเราหลังสงกรานต์ การระบาดจะเพิ่มขึ้นทุกครั้ง แต่ไม่ได้มีความรุนแรงอะไรมา 3 ปีแล้วครับ

ทำให้หลักการของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเนี่ย คือให้ฉีดทุกๆ ปี และทุกปีจะมีการปรับสูตรให้เข้ากับการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด ซึ่งจะเหมือนกับไข้หวัดใหญ่”

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” และ “ศูนย์ข้อมูล COVID-19”|



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น