ศูนย์จีโนมฯ เผยไทยพบ "โอมิครอน BA.2.75.2" รายแรก หรือ "เซนทอรัส 2.0" ชี้เป็นเจนเนอเรชัน 3 ได้เปรียบเติบโต-แพร่ระบาดถึง 248% เมื่อเทียบกับตัวแม่ BA.2.75 และได้เปรียบ BA.5 ถึง 90% และ BA.4 ถึง 148% หลบวัคซีนได้ดีที่สุด หวั่นทำแพร่เชื้อมากขึ้น ด้านกรมวิทย์ระบุยังไม่มีนัยสำคัญ สายพันธุ์หลักไทยยังเป็น BA.5
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. เฟซบุ๊กศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความถึงการเฝ้าติดตามโควิด 19 “เจเนอเรชัน 3” โอมิครอน“BA.2.75.2” โดยพบแล้วในไทย 1 ราย มีรายละเอียดโดยสรุปว่า สถาบันจีโนมประเทศอินเดียแถลงเตือนว่าโอมิครอน BA.2.75 ซึ่งพบระบาดในอินเดียมาตั้งแต่ พ.ค. 2565 คิดเป็นร้อยละ 82.9 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการคือ “เซนทอรัส" หรือมนุษย์ครึ่งคนครึ่งม้าในเทพนิยายกรีก มีนัยถึงการกลายพันธุ์ไปมากที่สุดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นที่เคยระบาดมาก่อนหน้า ขณะนี้ BA.2.75 กลายพันธุ์ต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ “BA.2.75.2” มีชื่อไม่เป็นทางการว่า "เซนทอรัส 2.0" เนื่องจากเป็นลูกคนที่สองของ BA.2.75 ผู้เชี่ยวชาญภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ระบุว่า BA.2.75.2 หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดการแพร่เชื้อได้มากขึ้นไปอีกในอนาคต
โอมิครอน BA.2.75 กลายพันธุ์มาจาก BA.2 ถือเป็นเจเนอเรชัน 2 มีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม หรืออู่ฮั่น 95-100 ตำแหน่ง มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด ประมาณ 37% ส่วนโอมิครอน BA.2.75.2 กลายพันธุ์มาจาก BA.2.75 ถือเป็นเจเนอเรชัน 3 กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสอู่ฮั่น 95-100 ตำแหน่งเช่นกัน แต่มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดถึง 248% เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.2.75 ที่ระบาดอยู่ในอินเดีย ซึ่งพบการระบาดครั้งแรกในอินเดีย และแพร่ไปยังชิลี อังกฤษ สิงคโปร์ สเปน เยอรมนี และไทย BA.2.75.2 ยังมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดถึง 90% เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.5 และ 148% เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.4
จากการสืบค้นจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก (GISAID) พบ BA.2.75.2 จากไทยที่โหลดขึ้นมาเพียงรายเดียว ยังไม่สามารถคำนวณความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เปรียบเทียบกับ BA.4 และ BA.5 ได้ เพราะจำนวนตัวอย่างไม่มากพอ
ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ กล่าวว่า จากการติดตามบนฐานข้อมูลโลก พบ BA.2.75.2 ในไทย 1 คน เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 เป็นผู้ป่วยชายไทย ที่ รพ.บำรุงราษฎร์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ถอดรหัสพันธุกรรมและรายงานเข้ามา เบื้องต้น BA.2.75.2 ถือเป็นลูกคนที่ 2 ของ BA.2.75 ที่มีตำแหน่งกลายพันธุ์ประมาณ 100 ตำแหน่ง มีความได้เปรียบในการเติบโต-ระบาด มากกว่า BA.2.75 ถึง 248% แต่ยังไม่สามารถบอกถึงความรุนแรงของโรคได้ แต่เป็นสิ่งที่ให้ทุกคนต้องระวัง ส่วนการแพร่ระบาดที่มากขึ้น ก็ต้องขึ้นกับปัจจัยการฉีดวัคซีนของพื้นที่นั้นด้วย ซึ่งขณะนี้ไทยมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมกว่าร้อยละ 80-90 อาจจะไม่มีการแพร่ระบาดมาก
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.75.2 เป็นเรื่องปกติของไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ถือเป็นลูกหลานของ BA.2.75 ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีปัญหาอะไร สำหรับสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยขณะนี้ยังเป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.5 กว่าร้อยละ 80 ยังไม่มีสายพันธุ์ใดเข้ามาแทน ทั้งนี้ กรมวิทย์จะติดตามสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ร่วมกับนักวิทยาศาตร์ทั่วโลกว่า BA.2.75.2 จะระบาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่พบการระบาดที่มีนัยสำคัญ และขณะนี้ก็ระบาดอยู่ที่อินเดียเท่านั้น ประเทศอื่นยังไม่มี นอกาจากนี้ กรมวิทย์ฯ ยังมีการถอดรหัสพันธุกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆ