xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉมถนนใหม่เข้าด่านสะเดา 2 รองรับโครงการมอเตอร์เวย์ M84 หาดใหญ่-สะเดา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวงเผยโฉมถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์ M84 เชื่อมระหว่างถนนกาญจนวนิช กับด่านสะเดาแห่งใหม่ ก่อสร้างแล้วเสร็จ เม.ย.ที่ผ่านมา ตรงกลางรองรับโครงการมอเตอร์เวย์สายใหม่ สงขลา-สะเดา ยาว 62 กิโลเมตร พบด่านศุลกากรแห่งใหม่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่เปิดใช้ รอถนนเชื่อมฝั่งมาเลเซียอีกที

เมื่อวันก่อน กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสายแยกทางหลวงหมายเลข 4-ด่านสะเดาแห่งที่ 2 ตอน 2 ในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา แล้วเสร็จเมื่อเดือน เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการเปิดด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2562 แต่ติดปัญหาไม่มีถนนจะนำรถบรรทุกสินค้าเข้ามา

โดยรูปแบบเป็นทางหลวงมาตรฐานชั้นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไปกลับข้างละ 2 ช่องจราจร) เป็นคันทางคู่ขนานและเป็นถนนสายหลัก ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร ผิวทางแบบคอนกรีต (Concrete Pavement) พร้อมทั้งสะพานก่อสร้างใหม่ 4 แห่ง และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตามมาตรฐานกรมทางหลวง

สืบเนื่องจากด่านชายแดนสะเดาเป็นด่านศุลกากรทางบกที่ติดต่อกับด่านบูกิตกายูฮิตัม ของรัฐเคตะห์ ประเทศมาเลเซีย เป็นด่านที่มีปริมาณการค้ามากที่สุดในประเทศไทย มีจำนวนยานพาหนะผ่านแดนจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่าน

กรมศุลกากรจึงได้พัฒนาด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการบริการนำเข้าและส่งออก สนับสนุนศักยภาพทางด้านการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น การพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานทางถนน ในการใช้เป็นเส้นทางหลักในการเข้า-ออกด่าน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยให้การคมนาคมขนส่งมีความสะดวกรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด


กรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4369 แยกทางหลวงหมายเลข 4-ด่านสะเดาแห่งที่ 2 ในปีงบประมาณ 2561 โดยใช้แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 84 สายสงขลา-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (ด่านสะเดา) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ได้แก่

ตอน 1 กิโลเมตรที่ 57+100 ถึง 61+200 ระยะทาง 4.100 กิโลเมตร งบประมาณ 295 ล้านบาท ผู้รับจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่เรืองชัยการโยธา ลงนามสัญญา 15 ก.พ. 2561 แล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2566

ตอน 2 กิโลเมตรที่ 61+200 ถึง 62+596 ระยะทาง 1.396 กิโลเมตร งบประมาณ 168 ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท พี.เอส.ดี คอนสตรัคชั่น 2011 จำกัด ลงนามสัญญา 18 ม.ค. 2561 แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2567


- ด่านสะเดาแห่งใหม่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เปิดใช้

ก่อนหน้านี้กรมศุลกากรได้พัฒนาโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ บนเนื้อที่ 596-1-18 ไร่ งบประมาณ 1,532,070 บาท โดยมีผู้รับจ้าง คือ บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นสัญญา 1 มิ.ย. 2559 แล้วเสร็จ 28 ก.ย. 2562

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 ยังไม่เปิดใช้ เนื่องจากการก่อสร้างถนนเส้นทางใหม่เชื่อมระหว่างด่านสะเดา 2 กับด่านบูกิตกายูฮิตัม ประเทศมาเลเซีย ระหว่างหลักเขตแดนที่ 23/9 ถึงหลักเขตแดนที่ 23/10 ระยะทาง 875 เมตรล่าช้า

ในการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ครั้งที่ 3 โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัม เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งฝ่ายไทยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 2568 และฝ่ายมาเลเซียคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2569

สำหรับด่านศุลกากรสะเดา เป็นด่านชายแดนทางบกสำคัญที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุดของประเทศไทย ในแต่ละปีมีสินค้าและนักท่องเที่ยวผ่านเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยในปีงบประมาณ 2566 สามารถจัดเก็บรายได้รวมทั้งสิ้น 7,691 ล้านบาท เป็นรายได้ศุลกากร 1,720 ล้านบาท คิดเป็น 22% สูงกว่าประมาณการ 413 ล้านบาท อีกทั้งมีมูลค่านำเข้า-ส่งออกสินค้ารวม 428,919 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อน 15%

ส่วนสถิติสินค้าผ่านแดนเข้า-ออก พบว่ามีสินค้าผ่านแดนขาเข้า จำนวน 29,747 ล้านบาท และผ่านแดนขาออก จำนวน 77,277 ล้านบาท รวมมูลค่า 107,024 ล้านบาท นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกในปีงบประมาณ 2566 มีสินค้าส่งออกมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก คิดเป็น 34% ส่วนมากเป็นน้ำยาง ยางแผ่น ถุงมือยาง อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบมาผลิตในประเทศเพื่อส่งออก รวม 207,643 ล้านบาท

ขณะที่สถิติผู้เดินทางเข้า-ออก ผ่านด่านพรมแดนสะเดา ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ถึง 30 ก.ย. 2566 มีผู้เดินทางเข้ามา จำนวน 5,358,270 คน รถส่วนบุคคลและรถบรรทุก จำนวน 656,401 คัน

ข้อมูลสถิติการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ปี 2566 ที่กระทรวงพาณิชย์ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา พบว่าในปี 2566 ด่านศุลกากรสะเดามีมูลค่าการค้าชายแดนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 226,254 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการค้าผ่านแดน ด่านศุลกากรสะเดาอยู่ในอันดับที่สอง จำนวน 207,944 ล้านบาท รองจากด่านศุลกากรมุกดาหาร จำนวน 286,425 ล้านบาท

ปัจจุบันด่านศุลกากรสะเดา ที่บ้านด่านนอก ประสบปัญหารถบรรทุกขนส่งสินค้าหนาแน่น ปะปนกับรถโดยสาร และรถยนต์ของนักท่องเที่ยว อีกทั้งถนนกาญจนวนิช สงขลา-สะเดา มีสภาพคับแคบ ส่งผลทำให้ด่านสะเดาเกิดความแออัด รถขาออกมุ่งหน้าประเทศมาเลเซีย การจราจรติดขัดที่หน้าด่านมากกว่า 1 กิโลเมตร


- โครงการในอนาคต : มอเตอร์เวย์ M84 หาดใหญ่-สะเดา

สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 84 สายสงขลา-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (ด่านสะเดา) ระยะทาง 62.5 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) กิโลเมตรที่ 1242 ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ห่างจาก อ.หาดใหญ่ 14 กิโลเมตร ห่างจาก จ.สงขลา 43 กิโลเมตร ห่างจาก อ.รัตภูมิ 17 กิโลเมตร และห่างจาก จ.พัทลุง 82 กิโลเมตร

แนวเส้นทางลงมาทางทิศใต้ ถึงทางแยกต่างระดับสนามบินหาดใหญ่ เป็นทางเชื่อม (Spur Line) ไปยังถนนสายทางเข้าสนามบินหาดใหญ่ (ทางหลวงหมายเลข 4135) ระยะทาง 7.83 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่บริการทางหลวงพิเศษ (Service Area) ถึงทางแยกต่างระดับปาดังเบซาร์ ตัดกับถนนสายสะเดา-ปาดังเบซาร์ (ทางหลวงหมายเลข 4054)

จากนั้นถึงทางแยกต่างระดับสะเดา ตัดกับถนนกาญจนวนิช (ทางหลวงหมายเลข 4) กิโลเมตรที่ 1304 พื้นที่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ห่างจากเขตแดน 6 กิโลเมตร ห่างจาก อ.หาดใหญ่ 52 กิโลเมตร ห่างจาก จ.สงขลา 78 กิโลเมตร ตรงไปอีก 5 กิโลเมตร สิ้นสุดที่ด่านสะเดาแห่งที่ 2 ซึ่งจะก่อสร้างถนนเชื่อมกับฝั่งประเทศมาเลเซีย

สำหรับรูปแบบมอเตอร์เวย์ เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจรระบบปิด พร้อมทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ ทางแยกต่างระดับจุดเริ่มต้นโครงการ (บางกล่ำ) ทางแยกต่างระดับสนามบินหาดใหญ่ ทางแยกต่างระดับปาดังเบซาร์ และทางแยกต่างระดับสะเดา ด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง 4 แห่ง และพื้นที่บริการทางหลวงพิเศษ (Service Area) 1 แห่ง

ตามรายงานข่าวระบุว่า กรมทางหลวงอยู่ระหว่างเสนอผลการทบทวนรายละเอียด การวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องแนวทางการเชื่อมต่อบริเวณด่าน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ก.ย. 2567 ก่อนเสนอต่อกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่วมลงทุนต่อไป

อนึ่ง สำหรับพื้นที่ภาคใต้ มีโครงการมอเตอร์เวย์ 3 โครงการ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 นครปฐม-นราธิวาส ระยะทาง 1,068 กิโลเมตร ซึ่งจะเสนอก่อสร้างช่วงนครปฐม-ชะอำ จ.เพชรบุรีก่อน, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 83 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 191 กิโลเมตร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 84 หาดใหญ่-สะเดา



ภาพ : https://m82.doh-motorway.com

ภาพ : songkhla.go.th/news/detail/3116

ภาพ : songkhla.go.th/news/detail/3116

ภาพ : songkhla.go.th/news/detail/3116

ภาพ : songkhla.go.th/news/detail/3116
กำลังโหลดความคิดเห็น