กรมทางหลวงก่อสร้าง “ทางเลี่ยงเมืองปัตตานี” ระยะทาง 14.20 กม. งบกว่า 1.9 พันล้านบาท เสร็จเรียบร้อย และเปิดให้ประชาชนสัญจร ถนนขนาด 4 เลนสะดวกเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางระหว่างไทย-มาเลเซีย
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสายทางเลี่ยงเมืองปัตตานี ตอน แยกทางหลวงหมายเลข 418 (บ.มะพร้าวต้นเดียว)-อ.ยะหริ่ง ระหว่าง กม.7+800-22+000 ในพื้นที่ ต.กาเต๊าะ อ.หนองจิก-อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ระยะทาง 14.20 กิโลเมตร งบประมาณ 1,970 ล้านบาท แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการแก่ประชาชนในการสัญจรแล้ว
โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างทางแนวใหม่มาตรฐานชั้นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ผิวจราจรชนิดแอสฟัลต์คอนกรีต มีเกาะกลางแบบเกาะร่องและแบบกําแพงคอนกรีตแบ่งทิศทางจราจร ก่อสร้างสะพาน 14 แห่ง พร้อมระบบระบายน้ำ ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย โดยมีการแบ่งการก่อสร้างเป็น 5 ตอน ดังนี้
ตอน 1 เริ่มต้นที่ กม.7+800-9+900 พื้นที่ ต.กาเต๊าะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ระยะทาง 2.10 กม. รวมงานก่อสร้างสะพาน 3 แห่ง
ตอน 2 เริ่มต้นที่ กม.9+900-12+050 ต.ลิปะสะโง และ ต.ปูยุด อ.เมือง จ.ปัตตานี ระยะทาง 2.15 กม. รวมงานก่อสร้างสะพาน 2 แห่ง
ตอน 3 เริ่มต้นที่ กม.12+050-15+000 พื้นที่ ต.ปูยุด และ ต.บาราเฮาะ อ.เมือง
จ.ปัตตานี ระยะทาง 2.95 กม. รวมงานก่อสร้างสะพาน 2 แห่ง
ตอน 4 เริ่มต้นที่ กม.15+000-18+500 พื้นที่ ต.บาราเฮาะ และ ต.สะดาวา อ.เมือง
จ.ปัตตานี ระยะทาง 3.500 กม. รวมงานก่อสร้างสะพาน 4 แห่ง
ตอน 5 เริ่มต้นที่ กม.18+500-22+000 พื้นที่ ต.สะดาวา ต.คลองมานิง อ.เมือง และ ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ระยะทาง 3.50 กม. รวมงานก่อสร้างสะพาน 3 แห่ง
ทั้งนี้ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จึงจำเป็นต้องบูรณาการในการพัฒนาทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการผลักดันให้มีการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านถนน เพื่อเป็นการเสริมโครงข่ายทางหลวงให้สมบูรณ์อำนวยความสะดวกในการเดินทาง เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้ทางมากขึ้น
สำหรับโครงการดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เป็นการเสริมโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางถนนของจังหวัดปัตตานีให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดประสิทธิภาพ เหมาะสมกับศักยภาพ สอดคล้องกับวิถีชีวิต และความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ตามนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน”