xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพงษ์” ร่วมคณะนายกฯ ลง 'กาญจนบุรี' รฟท.ลุยพัฒนาสวนสาธารณะและแก้มลิง 43 ไร่ เพิ่มพื้นที่รับน้ำ จ่อผุดถนนวงแหวนแก้จราจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุรพงษ์” ร่วมคณะนายกฯ ลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ติดตามการบริหารจัดการน้ำ รฟท.ลุยพัฒนาย่านสถานี สวนสาธารณะและแก้มลิง 43 ไร่ ขยายช่องระบายน้ำเพิ่มพื้นที่รับน้ำ ดำเนินการเสร็จใน ก.ค.นี้ เร่งออกแบบถนนวงแหวน เชื่อมมอเตอร์เวย์ "บางใหญ่-กาญจน์" รับจราจรเพิ่ม หนุนโลจิสติกส์ และท่องเที่ยว

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ (11 พ.ค.) ตนได้ร่วมคณะนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้แทนกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ โดยนายกรัฐมนตรีและคณะได้ติดตามประเด็นปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เทศบาล ณ แก้มลิง ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง ตรวจเยี่ยมอุตสาหกรรมโคนมในพื้นที่ พร้อมร่วมหารือประเด็นปัญหาและการพัฒนาด้านต่างๆ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี


นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่แก้มลิงนั้น กระทรวงคมนาคม โดย รฟท.มีแผนพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีกาญจนบุรี เนื้อที่ 124 ไร่ แบ่งการพัฒนาเป็น 3 โซน ประกอบด้วย 1. พื้นที่ตลาดกลางค้าปลีก-ค้าส่ง 40 ไร่ 2. โซน B พื้นที่อยู่อาศัยระยะยาว โครงการบ้านเพื่อคนไทย 41 ไร่ และ 3. โซน C พื้นที่สวนสาธารณะและแก้มลิง 43 ไร่ ปัจจุบันมีน้ำอยู่ประมาณ 32,640 ลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำเพิ่มได้อีก 22,000 ลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ หาก รฟท.ขุดลอกลึกเพิ่มอีก 1 เมตร จะสามารถรองรับน้ำเพิ่มขึ้นได้อีก 27,200 ลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 49,200 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ รฟท.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายช่องระบายน้ำทางรถไฟ จำนวน 2 จุด เพื่อสอดรับกับโครงการระบบระบายน้ำบ้านหัวนาล่างของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแก้มลิง

โดยได้จัดสรรงบประมาณปี 2567 สำหรับดำเนินการ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนกรกฎาคม 2567 ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน


นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางในจังหวัดกาญจนบุรี เช่น การผลักดันโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนตะวันตก-ตะวันออก (เหนือ-ใต้) เพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยคาดว่าเมื่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (M81) แล้วเสร็จ จะมีนักท่องเที่ยวใช้เดินทางเข้า-ออกจังหวัดกาญจนบุรีเป็นจำนวนมาก ทำให้ถนนเส้นหลักที่เชื่อมต่อกับ M81 การจราจรหนาแน่น กรมทางหลวงชนบทจึงมีการศึกษาเพื่อออกแบบก่อสร้างถนนวงแหวนเพื่อช่วยรองรับการจราจรที่หนาแน่นขึ้นในอนาคต ประกอบด้วย

1. โครงการศึกษาเพื่อการออกแบบถนนวงแหวนฝั่งเหนือ เมืองกาญจนบุรี เป็นโครงการศึกษาเพื่อออกแบบตัดถนนใหม่เป็น 4 ช่องจราจร มีระยะทางรวม 30 กิโลเมตร และ 2. โครงการศึกษาเพื่อการออกแบบถนนวงแหวนฝั่งใต้ พร้อมสะพานโครงสร้างพิเศษข้ามแม่น้ำแม่กลอง เป็นโครงการศึกษาเพื่อการออกแบบตัดถนนใหม่โดยเป็นถนน 4 ช่องจราจร มีระยะทางรวม 55 กิโลเมตร พร้อมศึกษาเพื่อการออกแบบสะพานโครงสร้างพิเศษข้ามแม่น้ำแม่กลอง เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรถนนสายหลักที่เชื่อมต่อกับ M81


ทั้ง 2 โครงการใช้ระยะเวลาศึกษาออกแบบ 2 ปี (2569-2570) เมื่อโครงการก่อสร้างต่างๆ เสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของจังหวัด พื้นที่ใกล้เคียงและเชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่งกับภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน


ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงเรื่องการค้าขายชายแดนที่มีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ดี มีประสิทธิภาพรองรับรถไฟทางคู่ หรือรถไฟฟ้า สามารถร่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้าได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมถึงกำชับกรมโยธาธิการและผังเมือง รฟท. และหน่วยงานอื่นๆ ใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น