xs
xsm
sm
md
lg

เชลล์ขายโรงกลั่นน้ำมัน-ปิโตรเคมีในสิงคโปร์ให้กลุ่มทุนอินโดฯ สะพัดดีลอารามโคขายปั๊มน้ำมันในมาเลเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชลล์ขายกิจการในสิงคโปร์ โรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานผลิตปิโตรเคมีบนเกาะบูคอมและเกาะจูร่ง ให้กลุ่มจันทรา แอสซรี จากอินโดนีเซีย แต่ยังคงทำการตลาดในเอเชียแปซิฟิก พร้อมลงทุนด้านการชาร์จไฟฟ้าอีวีในประเทศ อีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุ กำลังเจรจากับซาอุดี อารามโค ขายกิจการปั๊มน้ำมันในมาเลเซีย ที่มีเครือข่ายใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากปิโตรนาส

วันนี้ (9 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เชลล์ (Shell) บริษัทพลังงานข้ามชาติ สัญชาติดัตช์และอังกฤษ ได้บรรลุข้อตกลงในการขายกิจการโครงการเชลล์ เอนเนอร์ยี แอนด์ เคมิคอล ปาร์ก สิงคโปร์ ของบริษัท เชลล์ สิงคโปร์ (Shell Singapore Pte. Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเชลล์ ตั้งอยู่บนเกาะบูคอม (Bukom) และเกาะจูร่ง (Jurong) ทางตอนใต้ของเกาะสิงคโปร์ ให้กับบริษัท แคปจีซี (CAPGC Pte. Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง จันทรา แอสซรี (Chandra Asri) บริษัทเคมีภัณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานชั้นนำของอินโดนีเซีย และเกลนคอร์ (Glencore) บริษัทด้านทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายจากสวิตเซอร์แลนด์

ภาพ : shell.com.sg
นายฮิวเบิร์ต วิจเวโน (Huibert Vigeveno) ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจปลายน้ำ ทรัพยากรหมุนเวียน และโซลูชันด้านพลังงานของเชลล์ กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามอย่างต่อเนื่องของเชลล์ที่จะยกระดับธุรกิจเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์น้ำมันในระดับที่สูงขึ้น และเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการส่งมอบคุณค่าที่มากขึ้น ด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลง ดังที่เคยสรุปไว้ในงาน Capital Markets Day เมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เชลล์ภูมิใจในการสร้างประวัติศาสตร์บนเกาะบูคอมและเกาะจูร่ง และได้มีส่วนร่วมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เชลล์ยังคงมุ่งมั่นที่จะให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับธุรกิจการตลาดและการค้าในระดับภูมิภาค ในขณะที่ทางการสิงคโปร์กำลังดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เชลล์ยังคงก้าวไปข้างหน้าที่จะเป็นพันธมิตรกับประเทศนี้ต่อไป รวมทั้งลูกค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม พนักงานในโครงการเชลล์ เอนเนอร์ยี แอนด์ เคมิคอล ปาร์ก สิงคโปร์ ยังคงปฏิบัติงานต่อไปภายใต้บริษัทใหม่อย่างแคปจีซีอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกรรมดังกล่าวจะโอนทรัพย์สินทั้งหมดของเชลล์ให้กับแคปจีซี ขึ้นอยู่กับการอนุมัติตามกฎระเบียบของทางการสิงคโปร์ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567

ภาพ : shell.com.sg
ด้านนายเออร์วิน จิปุตรา (Erwin Ciputra) กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มจันทรา แอสซรี กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งของกลยุทธ์การควบรวมกิจการเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเคมีภัณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ซึ่งการบูรณาการด้านธุรกิจพลังงานและเคมีภัณฑ์ใหม่บนเกาะบูคอมและจูร่งของสิงคโปร์ กับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในเมืองซิเลกอน ของอินโดนีเซีย จะช่วยผลักดันการนำเสนอผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ช่วยให้บริษัทฯ คว้าโอกาสใหม่ๆ ในตลาดภูมิภาคที่กำลังเติบโต

ส่วนนายเควก ชิน เธียน (Quek Chin Thean) กรรมการผู้จัดการของเกลนคอร์ สิงคโปร์ กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งกับการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ พร้อมเชื่อมั่นในความสำเร็จต่อการเป็นพันธมิตรร่วมทุน ซึ่งโครงการเชลล์ เอนเนอร์ยี แอนด์ เคมิคอล ปาร์ก สิงคโปร์ นับเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญ ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางด้านการค้าพลังงานที่โดดเด่นแห่งหนึ่งในเอเชีย เป็นศูนย์กลางการกลั่นน้ำมันและเคมีภัณฑ์แบบครบวงจร โดยพนักงานที่มีความสามารถและมืออาชีพ มีบทบาทสำคัญในการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภคในทวีปเอเชีย มั่นใจว่าบริษัทฯ จะปลดล็อกโอกาสใหม่ๆ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน และวางแผนสำหรับการเติบโตระยะยาวในอนาคต

ภาพ : shell.com.sg
สำหรับโครงการเชลล์ เอนเนอร์ยี แอนด์ เคมิคอล ปาร์ก สิงคโปร์ ประกอบด้วยสินทรัพย์ทางธุรกิจด้านการกลั่นและเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรบนเกาะบูคอม และเกาะจูร่ง โดยสินทรัพย์บนเกาะบูคอม ประกอบด้วย โรงกลั่นน้ำมัน กำลังการผลิต 237,000 บาร์เรลต่อวัน และโรงงานเอทิลีน (ethylene) กำลังการผลิต 1.1 ล้านเมตริกตันต่อปี นับเป็นโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกในสิงคโปร์ เปิดดำเนินการการเมื่อปี 2504 หรือ 63 ปีก่อน

ส่วนเกาะจูร่งเป็นโรงงานผลิตปิโตรเคมีบนพื้นที่กว่า 60 เฮกตาร์ หรือประมาณ 375 ไร่ ซึ่งรวมถึงเอทิลีนออกไซด์ เอทอกซีเลต สไตรีนโมโนเมอร์ และโพรพิลีนออกไซด์ เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของเชลล์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเชลล์ขายหุ้นทั้งหมด 100% ในโครงการเชลล์ เอนเนอร์ยี แอนด์ เคมิคอล ปาร์ก สิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ทางกายภาพและสัญญาเชิงพาณิชย์ ให้กับแคปจีซี หลังจากธุรกรรมเสร็จสิ้น พนักงานทุกคนจะยังคงจ้างงานกับแคปจีซี โดยเชลล์และแคปจีซียังได้ลงนามในข้อตกลงการรับซื้อน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากธุรกรรมเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม เชลล์ยังคงให้ความสำคัญต่อประเทศสิงคโปร์ ในฐานะศูนย์กลางการค้าและการตลาดที่ให้บริการลูกค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยังคงสนับสนุนความต้องการด้านพลังงานในสิงคโปร์ด้วยการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และยังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศความร่วมมือกับกลุ่มความร่วมมือที่ก่อตั้งโดยเชลล์และเอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนข้ามพรมแดน

สำหรับแคปจีซี เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มจันทรา แอสซรี ซึ่งเป็นเจ้าของและดำเนินการทางธุรกิจโดยส่วนใหญ่ โดยมีเกลนคอร์ถือหุ้นเพียงเล็กน้อยผ่านบริษัทในเครือ ซึ่งจันทรา แอสซรี เป็นบริษัทด้านเคมีภัณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานชั้นนำของอินโดนีเซีย โดยจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการให้กับอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ในตลาดทั้งภายในประเทศอินโดนีเซียและต่างประเทศ ส่วนเกลนคอร์ เป็นหนึ่งในบริษัทด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายรายใหญ่ที่สุดในโลก เป็นผู้ผลิตและทำการตลาดรายใหญ่สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์มากกว่า 60 รายการที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน

สถานีบริการน้ำมันเชลล์ในมาเลเซีย (ภาพ : shell.com.my)
อีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวด้านอุตสาหกรรม 4 ราย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 พ.ค.) ว่า เชลล์กำลังเจรจากับ ซาอุดี อารามโค (Saudi Aramco) รัฐวิสาหกิจของซาอุดีอาระเบีย เพื่อขายธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชลล์ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากปิโตรนาส (Petronas) ของรัฐบาลมาเลเซีย 

แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า การเจรจาเริ่มขึ้นในปลายปี 2566 และข้อตกลงอาจได้ข้อสรุปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่วนแหล่งข่าวอีก 2 แห่งที่ได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ ระบุมูลค่าการซื้อขายเป็นไปได้ที่ประมาณ 4-5 พันล้านริงกิต (844 ล้านถึง 1,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ส่วนแหล่งข่าวอีกรายกล่าวว่า ความพยายามของเชลล์ในการขายกิจการสถานีบริการน้ำมันในมาเลเซียนั้น สอดคล้องกับการขายกิจการโรงกลั่นบนเกาะบูคอมในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้จัดหาน้ำมันไปยังสถานีน้ำมันในเครือข่าย ขณะที่ซาอุดี อารามโค ไม่มีสถานีบริการน้ำมันในประเทศมาเลเซีย แม้ว่าจะถือหุ้น 50% ร่วมกับปิโตรนาส ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเปนเจอรัง (Pengerang) ในรัฐยะโฮร์ ซึ่งมีกำลังการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงภายในประเทศและเพื่อการส่งออก

อย่างไรก็ตาม เชลล์ มาเลเซีย ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ระบุเพียงสั้นๆ ว่า มาเลเซียยังคงเป็นประเทศที่มีความสำคัญของบริษัทฯ และบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นต่อธุรกิจด้านยานยนต์ในประเทศ โดยไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดเพิ่มเติม ขณะที่ซาอุดี อารามโค ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น

เชลล์ เป็นเจ้าของสถานีบริการน้ำมันประมาณ 950 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากสถานีบริการน้ำมันแล้ว เชลล์ยังจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งของรัฐซาราวักและซาบาห์ และเป็นหุ้นส่วนร่วมทุนในกิจการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สองแห่ง การขายกิจการสถานีบริการน้ำมันในมาเลเซียครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเชลล์ วาเอล ซาวาน (Wael Sawan) ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานของบริษัทฯ ไปยังธุรกิจที่กำไรได้มากที่สุด โดยมีแผนจะปิดกิจการสถานีบริการน้ำมัน 500 แห่งในปีนี้และปีหน้า และอยู่ระหว่างการขายโรงกลั่นน้ำมันและศูนย์การผลิตปิโตรเคมีในประเทศสิงคโปร์

ส่วนซาอุดี อารามโค ดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย และยังประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในประเทศอื่นๆ ที่เป็นกิจการร่วมค้ากับ โททัล เอนเนอร์ยี (TotalEnergies) บริษัทน้ำมันและก๊าซรายใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส และ เอส-ออยล์ คอร์ป (S-Oil Corp) บริษัทปิโตรเลียมและโรงกลั่นในเกาหลีใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น