IRPC มีกำไรสุทธิไตรมาส 1/67 ที่ 1,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 413% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีกำไรโตขึ้น 145% จากที่ขาดทุนสุทธิ 3,417 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 1/67 มีค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นและกำไรจากสต๊อกน้ำมัน
นายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บัญชีและการเงินบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)(IRPC) เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส1/2567ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,545ล้านบาท เพิ่มขึ้น413%จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 301 ล้านบาท และเติบโตขึ้น145%จากช่วงไตรมาส4/2566ที่ขาดทุนสุทธิ 3,417ล้านบาท
ในไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 74,644 ล้านบาท ลดลง 652 ล้านบาท หรือร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณขายลดลงร้อยละ 3จากกำลังการผลิตที่ลดลง ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 สำหรับธุรกิจปิโตรเลียมมีกำไรขั้นต้นจากการกลั่นตามราคาตลาด (Market Gross Refining Margin: Market GRM) ที่เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบสวนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน โดยในไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ จัดจำหน่ายน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 (Euro V) ซึ่งมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ภายในประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลที่บริษัทฯจำหน่ายปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมี มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาดของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี(Market Product to Feed: Market PTF) ที่เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มโดยเฉพาะส่วนต่างราคาในกลุ่มโอเลฟินส์ ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของประเทศอินโดนีเซีย หลังจากรัฐบาลเตรียมประกาศแผนบังคับใช้ใบอนุญาตสำหรับการนำเข้าเคมีภัณฑ์ ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคมีกำไรขั้นต้นคงที่จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำ ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 5,618 ล้านบาท (9.45 เรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 107
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ มีปัจจัยสนับสนุนจากกลุ่มโอเปกและพันธมิตร (โอเปกพลัส) ดำเนินการลดการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง และมีมติขยายการลดการผลิตจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 อีกทั้งในช่วงปลายไตรมาส 1/2567 ยังมีความคาดหวังของตลาดต่อการคงนโยบายการลดการผลิตน้ำมันดิบของโอเปกพลัส และความขัดแย้งทางการเมืองในหลายประเทศ ได้แก่ อิสราเอล-ฮามาส รัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยสนับสนุน ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงที่สุดตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดการกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 901 ล้านบาท หรือ1.52 หรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และกำไรจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริง 59 ล้านบาท หรือ 0.10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทฯ บันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ (Net Inventory Gain) รวม 2,284 ล้านบาท หรือ 3.85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 7,902 ล้านบาท หรือ13.30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 978 จากไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 4,680 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนที่ EBITDA ติดลบจำนวน 2,256 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ บันทึกผลการดำเนินงานกำไรสุทธิ 1,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ145 จากไตรมาสก่อน
หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/ 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ ลดลง 1,116ล้านบาท หรือร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณขายลดลงร้อยละ 8 ตามกำลังการผลิตที่ลดลง ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 สำหรับธุรกิจปิโตรเลียมมี Market GRM ที่ลดลง โดยหลักลดลงจากกลุ่มน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคายางมะตอยเทียบกับราคาน้ำมันเตาปรับลดลง ในขณะที่กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง มี Market GRM เพิ่มขึ้น จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันเตาเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ และจากค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่ลดลง นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมี มี Market PTF ที่ลดลงจากความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมียังคงซบเซาต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในขณะที่กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคมีกำไรขั้นต้นคงที่ ส่งผลให้บริษัทฯ มี Market GIM ลดลงร้อยละ 21
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯบันทึก Net Inventory Gain 2,284 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มี Accounting GIM อยู่ที่ 7,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 นอกจากนี้ บริษัทฯ มี EBITDA อยู่ที่ 4,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 132 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 ซึ่งในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 413 จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ IRPC ช่วงไตรมาส 2/2567 คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2567 จากภาคการบินที่เริ่มฟื้นตัวและทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันในภาคการก่อสร้าง ภาคการเกษตรและภาคขนส่ง ขณะที่กลุ่มโอเปกพลัสยังคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2567
สถานการณ์ตลาดปิโตรเคมีไตรมาส 2/2567 คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากความต้องการที่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากผ่านพ้นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว รวมทั้งในช่วงไตรมาสนี้ โรงงานหลายแห่งของประเทศจีนเข้าสู่ช่วงฤดูกาลซ่อมบำรุงประจำปี ขณะที่ปัจจัยบวกในประเทศจะเริ่มเห็นชัดมากขึ้นตามนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะสามารถเบิกใช้จ่ายได้เมื่อช่วงปลายเดือนเม.ย.2567 จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสนับสนุนความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปีโตรเคมีให้เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศจีนที่เป็นตลาดหลักของกลุ่มปิโตรเคมียังคงต้องรอการฟื้นตัว
“บริษัทฯ ประสบความสำเร็จจากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันสะอาดดีเซลกำมะถันต่ำตามมาตรฐานยูโร 5 เมื่อปลายปี 2566 สอดรับตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้จำหน่ายน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ขณะที่โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและคุณภาพน้ำมันดีเซลยูโร 5 หรือ UCF (Ultra clean fuel) จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2/2567 ทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตน้ำมันสะอาดดีเซลกำมะถันต่ำมาตรฐานยูโร 5 ประมาณ 93,500 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค.67 บริษัทฯ สามารถผลิตและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Products) เพิ่มขึ้น ได้แก่ POLIMAXX HDPE 100 RC เกรดพิเศษสำหรับผลิตท่อ PE100 ที่มีคุณสมบัติทนต่อแรงดันและแรงกระแทกสูงอายุใช้งาน 50 ปี ตามมาตรฐาน EN 1555 - 2021 สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ของการก่อสร้างแบบเจาะลอดใต้ผิวดิน และ อะเซทิลีนแบล๊ก (Acetylene Black) ที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยในการนำไฟฟ้า ลดไฟฟ้าสถิตย์ ช่วยถ่ายเทประจุความร้อน เป็นต้น สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เป็นต้น