xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.เดินหน้าขยายพอร์ตFuture Energy ชูงบ5ปีแสนล.รุกธุรกิจใหม่-หมุนเวียน-ไฮโดรเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.เร่งเพิ่มพอร์ตพลังงานอนาคต ตั้งเป้าเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็น15GWในปี73 พร้อมจับมือพันธมิตรรุกพลังงานไฮโดรเจนทั้งในและต่างประเทศ ทุ่มงบprovision 5ปีนี้ 1 แสนล้านบาท ใช้ลงทุนธุรกิจใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายธุรกิจFuture Energy and Beyond สร้างกำไรกว่า 30%ในปี73

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.เร่งเดินหน้าเพิ่มพอร์ตธุรกิจพลังงานสะอาดหรือพลังงานอนาคต(Future Energy)ให้มากขึ้น โดยได้กำหนดเป้าหมายในปี2573 กลุ่มปตท.จะมีพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 เมกะวัตต์หรือ 15 กิกะวัตต์(GW) จากเมื่อ 2-3ปีก่อน กลุ่มปตท.มีพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ ปัจจุบันนี้ได้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4,000เมกะวัตต์ และมั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายตามเวลาที่กำหนด ขณะเดียวกันปตท.ได้ร่วมกับพันธมิตรอย่างบริษัท บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัดจากซาอุดิอาระเบียและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในไทย เบื้องต้นพบว่าต้นทุนการผลิตสูงต่างจากโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่ซาอุดิอาระเบียมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างทำWhite Paper เสนอแนะภาครัฐว่าจะต้องดำเนินการสนับสนุนอะไรบ้างเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้


ทั้งนี้ ปตท.ได้ร่วมกับพันธมิตรทดลองเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) แห่งแรกในไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไรของโตโยต้า มาทดสอบการใช้งานให้บริการรถรับส่งผู้โดยสารเพื่อเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต ล่าสุด เตรียมทดลองใช้ไฮโดรเจนกับรถบรรทุก โดยยอมรับว่าปัญหาการใช้พลังงานไฮโดรเจนอยู่ที่ต้นทุนการผลิตยังสูง แต่เชื่อว่าในอีก5-10ปีข้างหน้าไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานอนาคตเมื่อมีต้นทุนที่ถูกลง

นอกจากนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)(ปตท.สผ.) ได้จับมือกับพันธมิตรเพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในโอมาน กำลังการผลิต 2.2 แสนตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573


อย่างไรก็ดี แม้ว่าปตท.จะให้ความสำคัญพลังงานแห่งอนาคต แต่พลังงานเดิมไม่ว่าจะเป็นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปตท.ก็ยังคงดำเนินการอยู่เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากประเทศไทยยังใช้น้ำมันและก๊าซฯนี้เป็นหลัก

ปตท.ยังได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กับ บริษัท Corpus Christi Liquefaction LLC (CCL) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Cheniere Energy ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานจากสหรัฐอเมริกา ในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี เริ่มต้นส่งมอบในปี 2569 เป็นต้นไป จากปัจจุบันปตท.มีสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี โดยก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานสำคัญที่สนับสนุนทั้งความมั่นคงด้านพลังงานและความยั่งยืนในอนาคต

นายอรรถพล กล่าวต่อไปว่า ส่วนธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือพลังงาน(Beyond) ปตท.ก็ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องอาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) เช่น ยา Nutrition อุปกรณ์ทางการแพทย์ ,ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) , ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล , ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) โดยตั้งเป้าหมายว่าธุรกิจFuture Energy and Beyond จะสร้างกำไรมากกว่า30%ในปี2573 โดยอินโนบิก(เอเซีย) แกนนำธุรกิจLife Science ทำกำไรในปี2566ราว 1,100 ล้านบาท และในต้นปีนี้ อินโนบิกจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นบริษัท อดัลโว จำกัด ( Adalvo) ให้กับบริษัทในกลุ่ม Aztiqด้วย

ขณะเดียวกัน ปตท.เจรจากับพันธมิตร เพื่อร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars)ที่ไทยในอนาคต


สำหรับงบประมาณเพื่อการลงทุน 5 ปี (2566 - 2570)เพื่อรองรับการดำเนินงานตามแผนฯ ประจำปี 2567-2571 ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% มีแผนเบิกจ่ายลงทุน 5 ปี จำนวน 89,203 ล้านบาท และมีการตั้งงบprovision อีก107,000ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยในปีนี้ ปตท.ตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 3หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนโครงการต่างๆตามแผน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ(GDP)ตามนโยบายรัฐบาล

นายอรรถพล กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยปี 2567 นั้น เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจไทย ขยายตัวดีขึ้น แต่อาจเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน ซึ่งปัจจัยที่น่าจับตามองได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นโยบายการเงินของแต่ละประเทศ การควบคุมการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก อุปทานจากกลุ่ม non-OPEC และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีก่อน เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยดีมานด์ยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และด้านซัพพลายจากกลุ่ม non-OPEC เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ จากสหรัฐฯ บราซิล อิหร่าน และเวเนซูเอลา


กำลังโหลดความคิดเห็น