xs
xsm
sm
md
lg

“บางจาก” ผงาด! โตนำคู่แข่งพลังงาน อีก 7 ปีโกย EBITDA แตะ 1 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในปี 2566 บริษัทพลังงานไทยที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน คงหนีไม่พ้น บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) จากอดีตที่มีโรงกลั่นน้ำมันขนาดกลางและสถานีบริการน้ำมันไม่มาก แตกไลน์ธุรกิจพลังงานครบวงจรตั้งแต่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน (เทรดดิ้ง) ธุรกิจการตลาด ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสีเขียว และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยปีนี้บางจากฯ ได้ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อเข้าซื้อกิจการหุ้น บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) ซึ่งมีธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่กว่าโรงกลั่นบางจากฯเสียอีก นับจากนี้บางจากฯเติบโตอย่างก้าวกระโดด

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าในปี2564 บริษัทได้เคยประกาศภารกิจ BCP100X ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บริษัทต่างได้กระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยช่วงเวลานั้นบางจากฯมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา(EBITDA) ไม่ถึง10,000ล้านบาท แต่บางจากฯประกาศตั้งเป้าหมายในปี 2573 จะมีEBITDA อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท มุ่งสู่การเป็นองค์กร 100ปี พนักงานมีความสุข 100เท่า นับเป็นการเริ่มต้นที่จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) อย่างดีให้กับพนักงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนบริษัทสู่องค์กร 100ปี

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เพียงแค่ไม่กี่ปี บางจากฯก้าวอย่างมั่นคงขยับเข้าสู่เป้าหมาย ในปี2565 บางจากฯจะมีEBITDAมาอยู่ที่ 45,000 ล้านบาทในปีนี้ มั่นใจว่าในช่วงเวลาที่เหลืออีก 7 ปีข้างหน้า บางจากฯสามารถบรรลุเป้าหมายมีEBITDA 100,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน

อะไรทำให้บางจากฯมั่นใจขนาดนั้น ! กุญแจสำคัญที่เป็นจุดพลิกผัน ที่ต้องกล่าวถึง นั่นคือ การเข้าซื้อกิจการบมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย)(ESSO)จากExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. ในสัดส่วน 65.99%ในช่วงเวลาที่เหมาะสมและตั้งโต๊ะทำเทนเดอร์ฯรับซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือรายย่อย เบ็ดเสร็จทำให้บางจากฯกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 76.34%ของทุนจดทะเบียน หลังจากนั้นก็ดำเนินการเปลี่ยนชื่อเอสโซ่มาเป็นบมจ.บางจาก ศรีราชา (BSRC) แทน พร้อมกับการทยอยเปลี่ยนแบรนด์สถานีบริการจากเอสโซ่มาเป็นแบรนด์บางจากให้ครบทั้งหมดภายในมิถุนายน 2567 หากเป็นอดีต บางจากฯแทบปิดประตูในการลงทุนขนาดใหญ่อย่างการเข้าซื้อกิจการเอสโซ่เลยก็ว่าได้

โดยปี2566 บางจากฯใช้เงินลงทุนซื้อหุ้นและซื้อหนี้เอสโซ่รวม 90,000 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการเข้าซื้อเอสโซ่ ทำให้ผลประกอบการบางจากฯในช่วงไตรมาส 3/2566 มีรายได้รวม 94,528 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 26 %จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรทุบสถิติสูงสุดที่ 11,011 ล้านบาท มาจากกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น รับรู้รายได้จากธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้น และบันทึกกำไรพิเศษจากการเข้าซื้อเอสโซ่จำนวน 7,389 ล้านบาท ส่วนงวด 9เดือนแรกปีนี้ บางจากฯมีรายได้รวม 242,931 ล้านบาท มี EBITDA 31,433 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 14,210 ล้านบาท


นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในปี2567 บางจากฯตั้งเป้าหมายรายได้กว่า 500,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ราว 360,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการรับรู้รายได้จากการถือหุ้นใหญ่ใน BSRC (หรือเอสโซ่เดิม)เต็มปี ส่งผลให้มีกำลังการกลั่นน้ำมันในปีหน้าเติบโตขึ้น 72% รวมทั้งมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย หนุนรายได้จากค้าปลีกน้ำมันเติบโตขึ้น รวมทั้งกลุ่มธุรกิจอื่นๆก็โตขึ้นด้วย

กล่าวได้ว่า กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ในปีหน้าบริษัทมีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ 155,000บาร์เรล/วัน เพิ่มเป็น 266,000บาร์เรล/วันในปี2567 ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลงจากการผสานประโยชน์ร่วมกัน(Synergy)ของ2โรงกลั่นน้ำมัน ล่าสุด โรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชา รับเรือบรรทุกน้ำมันดิบประเภท Suezmax ขนาด 180,000 ตันเป็นครั้งแรก ในการจัดส่งน้ำมันดิบปริมาณ 950,000 บาร์เรลที่บริษัท บีซีพี เทรดดิ้ง จำกัด (BCPT)จัดหามา รวมทั้งจัดตั้งบริษัท รีไฟเนอร์รี่ ออฟติไมซ์เซชั่น แอนด์ ซินเนอร์ยี่ เอนเตอร์ไพรส์ (ROSE) เพื่อจัดทำแผนและบริหารงานธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 2 แห่ง ให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

สำหรับกลุ่มธุรกิจการตลาด บางจากฯวางเป้าหมายในการขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี2566ที่ 2,221 แห่ง(รวมสถานีบริการเอสโซ่832แห่งแล้ว)เป็น 2,261 แห่งในปีหน้า และจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 2,500แห่งในปี 2573 พร้อมทั้งขยายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non oil) เช่นการร้านอินทนิลเพิ่มขึ้นปีละ 140 สาขา ขยับเป็น 2,000 สาขาในปี 2573 เพิ่มร้านค้าแบรนด์ต่างๆ เข้ามาในสถานีบริการน้ำมันบางจาก รวมทั้งเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและการบริการที่ประทับใจเพื่อผลักดันให้สถานีบริการบางจากเป็นจุดหมายปลายทางที่ครองใจผู้บริโภคทุกช่วงวัย


กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มีบมจ.บีซีพีจี (BCPG)เป็นหัวหอกในการลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายปี2567 จะมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 7,770 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh )เติบโตกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบปี2566ที่ 3,700 GWh และปี2573จะเพิ่มขึ้น 9,400 GWh พร้อมมุ่งเน้นธุรกิจที่เป็น New S Curve อาทิ ธุรกิจกักเก็บพลังงาน(แบตเตอรี่) ซึ่งBCPG ได้รับมอบหมายจากบางจากฯในการนำแร่ลิเทียมจำนวน 60,000 ตัน/ปี มาต่อยอดในการผลิตแบตเตอรี่ทั้งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและสำหรับโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว และธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ทำให้บีซีพีจี ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

 ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ บีซีพีจีขายทิ้งพอร์ตลงทุนในญี่ปุ่นทั้งหมดมีทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม9แห่งและธุรกิจซ่อมบำรุงให้กองทุนยุโรปตามแผนกลยุทธ์ รวมมูลค่า 10,377 ล้านบาท คาดปิดดีลในไตรมาส1/2567 และบันทึกกำไรราว 2,300ล้านบาทในปีหน้า โดยเงินที่ได้จะนำมาใช้ต่อยอดพัฒนาโครงการอื่นๆ ในอนาคต

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ. บีบีจีไอ (BBGI) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ของประเทศบริษัทตั้งเป้าปริมาณจำหน่ายปี2567เพิ่มขึ้น 40 %จากปี 2566 เป็น 560 ล้านลิตร และรุกธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง โดยบริษัทได้ร่วมกับบางจากฯ ในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) และโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเชิงพาณิชย์ที่ร่วมทุนกับและ Fermbox Bio จากสหรัฐฯโดยมุ่งเน้นการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ Synbio คาดว่ามีกำลังผลิตเฟสแรก 200,000 ลิตรในปี 2567 เงินลงทุน 500ล้านบาท และเพิ่มเป็นมากกว่า 1 ล้านลิตรในปี 2570

สำหรับกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ บางจากได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P)ผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำให้บางจากเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยปี2567 OKEA ASA จะมีกำลังการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 74% มาอยู่ที่ 40,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2567 และมีเป้าหมายกำลังการผลิตมากกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวันภายในปี 2573 ขณะเดียวกัน ก็จะแสวงหาโอกาสการลงทุนธุรกิจE&Pในนอร์เวย์และประเทศอื่นๆที่มีศักยภาพ และกลุ่มธุรกิจขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ ๆ (New Frontier Businesses) อาทิ ธุรกิจแพลตฟอร์มให้บริการรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie และสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งช่วยสร้างระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมสีเขียว


ตั้งเป้า 2 โรงกลั่นบางจากปี 67 อยู่ที่ 2.66 แสนบาร์เรล/วัน

ด้านนายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น
กล่าวว่า ในปี2567 บริษัทตั้งเป้ากำลังการกลั่นน้ำมันจากโรงกลั่นทั้ง 2 แห่งรวมเฉลี่ย 266,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่เฉลี่ย 155,000บาร์เรล/วัน หรือโตขึ้นราว 72% โดยปีหน้าโรงกลั่นบางจาก พระโขนง จะปิดซ่อมบำรุงเป็นเวลา 27 วัน ทำให้กำลังการกลั่นลดลงไปบ้างจากที่ควรจะเป็นวันละ 278,000บาร์เรล โดยแบ่งเป็นกำลังการผลิตจากโรงกลั่นบางจาก ศรีราชา 155,000บาร์เรล/วัน นับเป็นกำลังการกลั่นที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ดำเนินการมา ส่วนกำลังผลิตที่เหลืออีก 111,000บาร์เรล/วันเป็นของโรงกลั่นบางจาก พระโขนง

ส่วนการเพิ่มกำลังการกลั่นโรงกลั่นบางจาก ศรีราชให้เท่ากับกำลังผลิตของเครื่องจักรที่ 174,000บาร์เรล/วัน จำเป็นต้องคำนึงหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นบางจาก ศรีราชา ต้องมีการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและผลตอบแทนสูงสุดภายใต้การจัดหาน้ำมันดิบของบางจาก ไม่จำเป็นต้องกลั่นเต็มที่หากผลตอบแทนต่อหน่วยต่ำลง โดยยอมรับว่าโรงกลั่นบางจาก ศรีราชา ชินกับน้ำมันดิบที่เอสโซ่จัดหามานานจึงต้องค่อยปรับปรุง

อย่างไรก็ดี ภายใต้กำลังการกลั่นน้ำมันที่ 278,000บาร์เรล/วัน เป็นระดับที่บางจากสามารถจำหน่ายน้ำมันได้ทั้งหมด ทั้งตลาดภายในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเมียนมา หรือลาว

นายธรรมรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้บางจากยังมีการศึกษาเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาโรงกลั่นบางจากพระโขนง สู่การเป็นโรงกลั่นชีวภาพ (Bio-refinery) ซึ่งผลิตน้ำมัน Biofuel 2nd Generation ที่มีคุณสมบัติ Drop-in เทียบเท่ากับน้ำมันฟอสซิล โดยมีเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) เป็นผลิตภัณฑ์แรก ขนาดกำลังการผลิต 1,000,000ลิตร/วัน คาดว่าโครงการนี้จะดำเนินการผลิตได้ภายในไตรมาส 4 / 2567

ปัจจุบัน บางจากได้มีการทำสัญญาขายน้ำมันSAF ป้อนญี่ปุ่น โดยเซ็นสัญญากับบริษัท คอสโม ออยล์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน30%ของกำลังการผลิต 1,000,000 ลิตร/วัน นอกจากนี้บางจากฯยังจับมือคอสโม ออยล์ เพื่อร่วมกันศึกษาการใช้ประโยชน์และการขนส่งไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ รวมถึงเทคโนโลยีการดักจับ การกักเก็บและใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage - CCUS) และน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานอีกด้วย


นางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานบัญชีและการเงิน บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การผลักดันให้บางจากฯมีEBITDA ที่ระดับ 100,000ล้านบาทในปี2573 จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนราว 150,000ล้านบาทในช่วงปี 2567-2573 โดยปี2567 บางจากตั้งงบลงทุนไว้ที่ 50,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เน้นลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียวเป็นหลัก ใช้เงินลงทุนราว 14,000ล้านบาท กลุ่มธุรกิจกลุ่มโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน 10,700 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจการตลาด 1,700 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ 17,800ล้านบาท กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 800ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ 5,000 ล้านบาท

ส่วนงบลงทุน 7ปีระหว่างปี 2567-2573 รวม 150,000 ล้านบาท ใช้ในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่น และกลุ่มธุรกิจการตลาด 30% กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า 30% กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ 30%กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และกลุ่มธุรกิจขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ 10%เพื่อบางจากบรรลุเป้าหมายในปี 2573 มี EBITDA อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น