xs
xsm
sm
md
lg

“บางจาก” พร้อมชน “ค้าปลีกน้ำมัน” ปิดดีล “เอสโซ่” เสริมแกร่งโรงกลั่นน้ำมัน-การตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปิดตำนานพี่เสือ “เอสโซ่” 129 ปีในไทย ที่โบกมือลาตามค่ายน้ำมันข้ามชาติรายอื่นๆที่ได้ถอนการลงทุนไปก่อนหน้านี้ แต่กลับสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ก้าวขึ้นสู่บริษัทที่มีกำลังการกลั่นน้ำมันเกือบ 300,000 บาร์เรลต่อวันสูงสุดในไทย และมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันในสิ้นปีนี้รวม 2,200 แห่ง ขยับขึ้นมาหายใจรดต้นคอกลุ่ม ปตท. พี่เบิ้มวงการพลังงานไทย

ทันทีที่บางจากฯ ชำระค่าหุ้นสามัญ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO) ตามสัญญาซื้อขายหุ้นของบริษัทระหว่างบางจากฯ กับ ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ด้วยวงเงินรวม 2.26 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้บางจากฯ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเอสโซ่ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 65.99% หลังจากนี้ บางจากฯ จะต้้งโต๊ะทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ซื้อหุ้น ESSO ที่เหลือคืนจากรายย่อยอีก 34.01% ในราคาหุ้นละ 9.8986 บาทเท่ากับราคาที่บางจากฯ จ่ายให้กับ ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. โดยกำหนดระยะเวลาทำคำเสนอซื้อตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ถึง 12 ตุลาคม 2566 โดยบางจากฯ ประกาศชัดเจนว่าภายใน 1 ปีนี้ไม่มีแผนเพิกถอน ESSO ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

ช่วงระยะเวลา 7-8 เดือนหลังจากบางจากฯ ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น ESSO ทั้งหมดที่ ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. ถืออยู่ 65.99% เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 โดยมีเงื่อนไขการซื้อขายหุ้น ESSO จะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ทำให้ “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” บิ๊กบางจากฯ และทีมงานได้ร่วมประสานงานกับทุกฝ่ายจนปิดดีลสำเร็จลุล่วง มีการตั้งที่ปรึกษาเพื่อตีความ 6 เงื่อนไขที่ กขค.กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการห้ามมิให้บางจากฯ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รวมธุรกิจแล้วเสร็จ ฯลฯ ตลอดจนการจัดหาสินเชื่อเพื่อใช้ซื้อกิจการ ESSO โดยได้รับการสนับสนุนสินเชื่อระยะยาว 30 เดือนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วงเงินไม่เกิน 32,000 ล้านบาท มีการลงนามสัญญาเงินกู้ก่อนหน้าวันชำระเงินค่าหุ้น ESSO ให้กับ ExxonMobil เพียง 1 วัน นับเป็นการปิดดีลประวัติศาสตร์ด้านพลังงานอย่างสมบูรณ์ บรรลุตามเป้าหมายที่บางจากฯประกาศไว้ว่าดีลซื้อ ESSO จะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2566

สำหรับแหล่งเงินทุนที่บางจากชำระค่าหุ้น ESSO 65.99% ให้กับ ExxonMobil Asia Holdings ประมาณ 22,606 ล้านบาทเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา มาจากเงินทุนของบางจากเอง 17,000 ล้านบาท และที่เหลือเป็นเงินกู้ยืมจากธนาคารกรุงเทพ 5,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินในการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์อีก 34.01% หรือเป็นวงเงินราว 11,652 ล้านบาท มาจากเงินทุนบางจากและเงินกู้ธนาคารกรุงเทพ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนบางจากอยู่ที่ 1.3 เท่า ซึ่งต่ำมาก เพราะบางจากใช้มีการใช้เงินทุนตัวเองในการซื้อหุ้นเอสโซ่ ซึ่งในปี 2565 บางจากฯ มีกำไรที่เติบโตสูงสุดอยู่ที่ 12,575 ล้านบาท โตขึ้น 65% ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจโรงกลั่นและธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ OKEA ประเทศนอร์เวย์ที่ได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่จ่อบันทึกกำไรพิเศษจากมูลค่าสินทรัพย์ ESSO

เมื่อปิดดีลเอสโซ่เป็นที่เรียบร้อยคาดว่าบางจากฯ จะมีกำไรพิเศษจากการซื้อกิจการ มาจากการตีมูลค่าที่ดิน 800 ไร่ และการ Synergy ระหว่างบางจากฯกับ ESSO หลายพันล้านบาท ส่วนตัวเลขที่แน่ชัดทางบางจากฯ อยู่ระหว่างการตีมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้รับจากการโอนหุ้น ESSO คาดว่าจะประกาศได้ภายในเร็วๆ นี้ และหากมีกำไรพิเศษก็จะบันทึกรับรู้ฯ ในไตรมาส 3/2566 ขณะเดียวกันค่าการกลั่น (GRM) ในไตรมาส 3/2566 ก็สูงขึ้น ช่วยหนุนกำไรให้บางจากฯ สูงขึ้นด้วย ส่งผลให้ราคาหุ้น BCP ดีดขึ้นมาทะลุ 40 บาทต่อหุ้นในวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ก่อนที่จะถูกแรงเทขายทำกำไรออกมา กดราคาหุ้น BCP เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ปิดตลาดอยู่ที่ 38.75 บาทต่อหุ้น

อย่างไรก็ตาม ดีลเทกโอเวอร์เอสโซ่นี้ ทาง ExxonMobil คงเก็บธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปภายใต้ตรา ExxonMobil และ OEM (ผู้ผลิตอุปกรณ์เดิม-Original Equipment Manufacturer) (ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูป) และธุรกิจการตลาดเคมีภัณฑ์ภายใต้ตรา ExxonMobil ที่ได้ยืนยันตั้งแต่แรกว่าจะจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อประกอบธุรกิจดังกล่าวในไทย

หากย้อนเวลากลับไปราว 10 ปีกว่าก่อน ExxonMobil ส่งสัญญาณจะถอนการลงทุนธุรกิจน้ำมันไทย ครั้งนั้นมีกระแสข่าวว่าไทยออยล์สนใจที่จะเข้าซื้อโรงกลั่นเอสโซ่แต่ยังไม่ทันได้เริ่มก็แท้งไปเสียก่อนเหตุบริษัทแม่ คือ ปตท.ไม่เห็นด้วย จากนั้น ExxonMobil มีนโยบายลดงบการลงทุนต่างๆ ของเอสโซ่ โดยเฉพาะในการขยายสถานีบริการน้ำมันที่เอสโซ่เป็นผู้ลงทุนและบริหารเอง แต่ให้ดีลเลอร์เป็นผู้ลงทุนแทน ช่วงเวลานั้นทำให้เอสโซ่ต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่บริษัทแม่จะมีนโยบายให้เอสโซ่กลับมาขยายการลงทุนอย่างจริงจังได้อีกครั้ง จนกระทั่งบางจากฯ มีความคิดที่จะขยายโรงกลั่นเพิ่มอีกโรงเมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากโรงกลั่นน้ำมันพระโขนงเดินเครื่องจักรเต็มที่ไม่สามารถขยายเพิ่มได้อีก และยังช่วยลดความเสี่ยงหากโดนกระแสกดดันให้ต้องย้ายโรงกลั่นออกนอกเมือง จึงเป็นที่มาทำให้บางจากเจรจาตรงกับ ExxonMobil อย่างจริงจังเพื่อซื้อกิจการเอสโซ่ จนสามารถปิดดีลประวัติศาสตร์ในครั้งนี้


ปี 67 ยอดขายแตะ 5 แสนล้าน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) กล่าวว่า จากการเข้าซื้อหุ้น ESSO ครั้งนี้บางจากตั้งเป้ายอดขายในปี 2567 เติบโตขึ้นแตะ 500,000 ล้านบาท โตขึ้นจากปีนี้ที่มียอดขายรวมอยู่ที่ 380,000 ล้านบาทเทียบกับปี 2565 ที่บางจากฯ มียอดขายรวม 312,202 ล้านบาท เท่ากับว่าบางจากจะใหญ่และเข้มแข็งขึ้น จึงมั่นใจว่าดีลนี้สามารถคืนทุนได้ไม่เกิน 5 ปี

โดยบางจากฯ มีแผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นบางจากศรีราชา (โรงกลั่นเอสโซ่) ให้เดินเครื่องจักรได้เต็มกำลังผลิตภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ จากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิตเพียง 75% ของกำลังการกลั่น 175,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งในอดีตโรงกลั่นบางจากพระโขนงก็เคยใช้กำลังการผลิตอยู่แค่ 75% แต่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 103% ของกำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้บางจากมีปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นรองรับการขยายสถานีบริการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

โรงกลั่นน้ำมันบางจากทั้ง 2 แห่งได้มาตรฐานระดับโลก มีกำลังการกลั่นน้ำมันรวมเกือบ 300,000 บาร์เรลต่อวันสูงสุดในประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีการกลั่นของเอสโซ่และบางจากมีความถนัดคนละด้าน โดยโรงกลั่นบางจากมีความเชี่ยวชาญในการผลิตดีเซล ส่วนโรงกลั่นเอสโซ่ถนัดในการผลิตเบนซิน จึงช่วยเติมเต็มศึ่งกันและกัน อีกทั้งช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานเพื่อผสมเอทานอลผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ (จีเบส) จากต่างประเทศจากเดิมบางจากต้องนำเข้าเฉลี่ยเดือนละ 80-90 ล้านลิตร รวมทั้งเพิ่มอำนาจต่อรองในการจัดหาและการขนส่งน้ำมันดิบร่วมกันทำให้ต้นทุนลดลง


การซื้อหุ้น ESSO บางจากฯ ยังได้หุ้นในบริษัท แทปไลน์ จำกัด สัดส่วน 21% ช่วยเพิ่มช่องทางการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งน้ำมันทางรถ และมีหุ้นในบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) 7% รวมทั้งได้น้ำมันดิบและสำเร็จรูปคงคลังอีก 7.4 ล้านบาร์เรล และที่ดินกรรมสิทธิ์อีก 800 ไร่

นอกจากนี้ บางจากฯ ยังได้โรงงานผลิตพาราไซลีนขนาด 500,000 ตัน ซึ่งเป็นโรงงานที่เอสโซ่ลงทุนเมื่อ 10 ปีก่อนด้วยเงินลงทุน 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่ได้ถูกนำมาคำนวณราคาซื้อเอสโซ่) แต่ปัจจุบันโรงงานนี้ไม่ได้ดำเนินการผลิต เนื่องจากตลาดพาราไซลีนไม่ดี ดังนั้นบางจากจะพิจารณาว่าจะดำเนินการโรงงานดังกล่าวอย่างไรต่อไป

นายชัยวัฒน์ย้ำว่า ดีลเทกโอเวอร์เอสโซ่ เป็นการซื้อสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นน้ำมันขนาดกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมันทั้งลำปาง และศรีราชา สถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ทั่วประเทศ 832 แห่ง รวมทั้งสัดส่วนการถือหุ้นในแทปไลน์และ BAFS โดยไม่ได้ซื้อแบรนด์และสูตรน้ำมันของเอสโซ่เพราะบางจากมีสูตรน้ำมันที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงาน และเติมสารเพิ่มคุณภาพถึงสองชนิดในน้ำมันทุกประเภทด้วย รวมทั้งน้ำมันเกรดพรีเมียมทั้งแก๊สโซฮอล์ และดีเซล ยังได้มาตรฐานยูโร 5 มีค่าออกเทนและซีเทนสูงกว่าค่ามาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงาน ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นต้นไปน้ำมันที่จำหน่ายในสถานีบริการเอสโซ่จะเริ่มทยอยเปลี่ยนเป็นน้ำมันสูตรบางจากฯจนครบทั้งหมดภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ โดยลูกค้าที่เติมน้ำมันผ่านสถานีบริการเอสโซ่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะแรก สามารถสังเกตจากป้ายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ตู้จ่าย หัวจ่ายและป้ายราคา ถ้าชื่อผลิตภัณฑ์เป็นของเอสโซ่ก็จะยังเป็นน้ำมันสูตรของเอสโซ่ แต่ถ้าผลิตภัณฑ์เป็นชื่อบางจากฯ แสดงว่าเป็นน้ำมันสูตรของบางจากฯ แล้ว

สำหรับงบลงทุนบางจากฯ 5 ปีนี้ (2566-70) คงเป็นตัวเลขเดิมที่ 200,000 ล้านบาท ใช้ในธุรกิจโรงกลั่น (รวมดีล ESSO) 30% ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 30% โครงการน้ำมันอากาศยานยั่งยืน 30% และที่เหลืออีก 10% ลงทุนบริษัทย่อย เช่น บีบีจีไอ และบีซีพีจี


ลดเป้าขยายปั๊มเหลือปีละ 40-50 แห่ง

นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด กลุ่มธุรกิจการตลาด บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การควบรวมเอสโซ่ ทำให้บางจากมีสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเข้ามาในพอร์ตอีก 832 แห่ง ส่งผลให้สิ้นปีนี้บางจากจะมีสถานีบริการน้ำมันรวมทั้งสิ้น 2,200 แห่ง มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,250 แห่งครอบคลุมการให้บริการลูกค้าได้มากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่บางจากมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันค่อนข้างน้อย โดยเอสโซ่มีจำนวนสถานีบริการอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 160 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 130 แห่ง ส่วนสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่และบางจากที่ตั้งอยู่ในทำเลใกล้เคียงกันมีค่อนข้างน้อย จึงไม่มีปัญหาในการแย่งลูกค้ากัน แต่จะช่วยเสริมกันและกัน

สำหรับแผนการขยายสถานีบริการในปี 2567 บางจากวางเป้าหมายการขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 40-50 แห่งเท่านั้น ลดลงจากปกติที่เคยเพิ่มเฉลี่ยปีละ 70-80 แห่ง โดยบางจากจะรักษาการเพิ่มจำนวนสถานีบริการแค่ปีละ 40-50 แห่งเป็นเวลา 2-3 ปี เนื่องจากช่วง 1-2 ปีนี้จะให้ความสำคัญการเร่งปรับเปลี่ยนป้าย ESSO เป็นป้ายบางจากให้ครบทั้งหมดภายใน 2 ปีนี้ตามเงื่อนไขที่ ExxonMobil กำหนดเงื่อนไขเวลาไว้ โดยในสิ้นปีนี้สถานีบริการเอสโซ่ทั้ง 280 แห่งที่เอสโซ่เป็นเจ้าของจะดำเนินการปรับปรุงและเปลี่ยนป้ายมาเป็นบางจาก โดยจะเริ่มที่ปั๊มน้ำมันแถวพระราม 4 เป็นที่แรกๆ

จากจำนวนสถานีบริการน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้บางจากมีส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำมันขยับเพิ่มขึ้นทันทีจาก 16.3% เป็น 30% ครองเป็นอันดับ 2 รองจาก บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันอยู่ที่ 40% ส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน เช่น ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้ากาแฟที่เช่าพื้นที่ภายในสถานีบริการเอสโซ่ ก็ยังดำเนินการได้ตามปกติโดยยึดสัญญาเดิมจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง แต่หากเป็นร้านสะดวกซื้อหรือร้านกาแฟที่เป็นเอสโซ่เป็นเจ้าของเอง ก็จะดำเนินการปรับเปลี่ยนป้ายภายใน 2 เดือน โดยอาจจะเปลี่ยนร้านสะดวกซื้อมาเป็นร้าน “เลมอน กรีน” และร้านกาแฟอินทนิล เป็นต้น

นายสมชัยกล่าวว่า บางจากเดินหน้าจะพบปะและร่วมทำเวิร์กชอปกับดีลเลอร์สถานีบริการน้ำมันเอสโซ่กว่า 500 สาขาเพื่อเชิญชวนเปลี่ยนมาเป็นแบรนด์บางจากให้ได้ครบทั้งหมดภายใน 2 ปีนี้ ยึดคำมั่นสัญญาที่ดีลเลอร์ทำไว้กับเอสโซ่ เชื่อว่าดีลเลอร์พร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นครอบครัวเดียวกับบางจาก ไม่หนีไปซบค่ายน้ำมันอื่น

ที่ผ่านมามีผู้สนใจลงทุนทำสถานีบริการน้ำมันแบรนด์บางจากเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละเดือนจะยื่นเสนอให้คณะกรรมการบางจากฯ พิจารณาอนุมัติเฉลี่ยราว 7-10 ปั๊มต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีแล้ว

สำหรับลูกค้าเอสโซ่ซึ่งเป็นสมาชิกบัตรเอสโซ่สไมลส์ยังสามารถสะสมคะแนนและแลกคะแนนเอสโซ่สไมล์ได้อีก 1 ปีจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ภายใต้บัตรเดิม หรือสามารถโอนคะแนนสะสมมาเป็นสมาชิกบางจากกรีนไมลส์ โดยจะได้รับคะแนนโบนัสพิเศษเพิ่ม 100 คะแนน หากทำการโอนย้ายคะแนนภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566


OR ผุดโมเดล “1 ปั๊ม 1 อำเภอ”

การผนึกร่างระหว่างบางจากที่มีส่วนแบ่งตลาด 16.3% กับเอสโซ่มีส่วนแบ่งตลาด 13.7% รวม 30% ทำให้ OR ไม่สามารถอยู่นิ่งได้อีกต่อไป ล่าสุด OR เปิดโมเดล “1 ปั๊ม 1 อำเภอ” เพื่อรุกขยายสถานีบริการน้ำมันระดับอำเภอ เพื่อให้บริการเข้าถึงลูกค้าระดับชุมชน หลังพบว่าเกือบ 100 อำเภอยังไม่มีสถานีบริการ PTT Station ทำให้ OR ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ไว้

ทั้งนี้ OR วางเป้าหมายขยายสถานีบริการในปีนี้เพิ่มขึ้น 100 แห่งจากปีก่อนที่มีการขยายสถานีบริการเพิ่ม 80 สถานี โดยสถานีบริการชุมชนมีโมเดลเหมือนปั๊มมาตรฐานที่ร้านกาแฟอเมซอนและร้านสะดวกซื้อมีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่ ลดจำนวนหัวจ่ายน้ำมันลง ทำให้ลดเงินลงทุนลงราว 30% จากการลงทุนปกติ 30-40 ล้านบาท ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากชุมชนและมีผู้ที่สนใจยื่นลงทุนทำสถานีบริการชุมชนมากขึ้น

นับจากนี้ การแข่งขันธุรกิจค้าปลีกน้ำมันยังคงรุนแรง แม้ว่าจำนวนผู้เล่นรายใหญ่จะหายไปจากตลาด แต่ความจริงแล้วจำนวนสถานีบริการไม่ได้ลดลงมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการได้สะดวกและหลากหลายตอบสนองลูกค้าทุกระดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น