xs
xsm
sm
md
lg

ลาก่อน...แล้วเราจะคิดถึงคุณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 เป็นวันสุดท้ายของหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น นอกเหนือจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 เข้าทำงานเป็นวันสุดท้าย ส่งไม้ต่อให้กับนายเศรษฐา ทวีสิน

ได้แก่ หนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน อำลาแผงหนังสือ

ปั๊มน้ำมันเอสโซ่ จะถูกเปลี่ยนเป็นปั๊มบางจาก

และที่กำลังจะหายไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คือ ร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท

เริ่มต้นจากหนังสือพิมพ์สยามกีฬา จู่ๆ มีข่าวออกมากะทันหันว่า หนังสือพิมพ์สยามกีฬา กำลังจะโบกมือลาแผงหนังสือในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ปิดฉากหนังสือพิมพ์กีฬาที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ถึง 38 ปี

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 สยามสปอร์ตหยุดตีพิมพ์หนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเกอร์รายวัน แล้วนำเนื้อหาไปรวมกับหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน แต่ผ่านไปเพียง 3 เดือน สยามสปอร์ตเลิกทำหนังสือพิมพ์รายวันถาวร

“บอ.บู๋” บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร คอลัมนิสต์เครือสยามสปอร์ต กล่าวว่า สยามสปอร์ต หรือ สยามกีฬา จะเลิกทำสื่อกระดาษอย่างหนังสือพิมพ์รายวัน แต่สื่อกระดาษประเภทนิตยสาร ทั้งรายสัปดาห์ รายเดือน หรือฉบับพิเศษ ยังคงอยู่

ทราบมาจากแผงหนังสือแถวบ้านว่า หลังจากหนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเกอร์รายวันหยุดตีพิมพ์ หนังสือพิมพ์สปอร์ตแมน หยุดส่งไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน กระทั่งมาถึงคิวของหนังสือพิมพ์สยามกีฬา และสปอร์ตพูล วางแผงฉบับสุดท้าย

แม้ส่วนตัวจะไม่ได้เป็นคอกีฬา แต่การหายไปของหนังสือพิมพ์รายวัน ก็เท่ากับการหายไปของยุคสมัยสื่อกระดาษในอดีต มาสู่สื่อดิจิทัลในปัจจุบัน ในฐานะคนที่คุ้นเคยหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เด็ก ก็รู้สึกใจหายเหมือนกัน

ทราบมาว่า สยามสปอร์ตแบกภาระขาดทุนทำหนังสือพิมพ์รายวัน เดือนละ 3.5 ล้านบาท และเนื่องจากเป็นหนังสือพิมพ์กีฬาที่มีผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม จึงหาสปอนเซอร์ยากกว่าหนังสือพิมพ์รายวัน ที่มีกลุ่มการเมืองหรือธุรกิจสนับสนุน

นอกจากนี้ ร้านขายหนังสือทยอยปิดตัวจำนวนมาก เหลือแผงขายหนังสือทั่วประเทศไม่กี่เจ้า แม้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นจะช่วยอนุเคราะห์ช่องทางการวางขายหนังสือ แต่ผู้อ่านหาซื้อหนังสือพิมพ์ลำบาก จึงไม่อาจแบกรับภาระไว้

วงการสิ่งพิมพ์แต่ละค่ายมีการปิดหนังสือพิมพ์และนิตยสาร อันเนื่องมาจากการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Disruption ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หันมาบริโภคสื่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น

ทุกวันนี้ผู้คนใช้เวลาบนโทรศัพท์มือถือเสพสื่อโซเชียลฯ มากขึ้น แต่แทบไม่เห็นมีคนหยิบจับหนังสือพิมพ์ แล้วเอาเข้าจริงทุกวันนี้หนังสือพิมพ์รายวันหน้ากระดาษลดลง บวกกับโฆษณาและประมวลภาพ อ่านไม่กี่นาทีก็จบแล้ว

หนังสือพิมพ์ที่เหลืออยู่ มีไว้เพื่อให้รู้ว่ายังมีตัวตนอยู่ และปรับตัวด้วยการขายโฆษณาแบบหุ้มปก (Cover Wrap) ที่เราจะได้เห็นแบบตื่นตาตื่นใจนานๆ ครั้ง ส่วนที่ทำรายได้ของจริงก็จะเป็นสื่อออนไลน์ และสื่อโซเชียลฯ

ในช่วงที่เข้ามาทำงานเครือผู้จัดการใหม่ๆ ผู้ใหญ่มักจะสอนให้เราฝึกอ่านหนังสือพิมพ์ เพื่อที่ว่าจะได้มีประเด็นที่อยู่นอกเหนือจากข่าวทั่วไป โดยเฉพาะนัยยะของข่าว (Hint) ที่มักจะซ่อนไว้จากคอลัมน์ประเภทกอซซิป เช่น ข่าวหน้า 4

มาถึงยุคของสื่อโซเชียลฯ เราอาจจะต้องเจอนัยยะของข่าวที่มาจากโลกออนไลน์มากขึ้น แต่เป็นไปในลักษณะไม่เปิดเผยตัวตน และบ่อยครั้งมักจะเป็นข่าวปลอม (Fake News) สร้างความสับสนวุ่นวายแก่ผู้ที่ถูกพาดพิงอยู่บ่อยครั้ง

แม้หนังสือพิมพ์ในบ้านเราจะเหลือเพียงไม่กี่ฉบับ แต่น่าสนใจว่านับจากนี้จะปรับตัวกันอย่างไรต่อไป นอกจากลดต้นทุนด้วยการลดจำนวนหน้า ลดเนื้อหาแต่ละเซ็กชันลง แล้วหันไปเพิ่มเนื้อหาบนออนไลน์มากขึ้น

มาถึงอย่างที่สอง อินโฟกราฟิกแชร์กันมากว่า สถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ (ESSO) ที่คนรุ่นเก่าคุ้นเคยกันกว่า 129 ปี ด้วยสโลแกน “จับเสือใส่ถังพลังสูง” จะกลายเป็นตำนาน หลังกลุ่มบางจากเข้าซื้อหุ้นกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มบางจากประกาศเข้าซื้อกิจการเอสโซ่ โดยมีมูลค่ากิจการ 55,500 ล้านบาท แต่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กระทั่งไฟเขียวให้ควบรวมกิจการได้

กิจการที่กลุ่มบางจากจะได้รับจากเอสโซ่ ประกอบด้วย สถานีบริการน้ำมัน 832 แห่ง เครือข่ายคลังน้ำมันที่ลำปางและศรีราชา โรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ศรีราชา กำลังการผลิต 174,000 บาร์เรลต่อวัน และโรงงานปิโตรเคมี

อย่างไรก็ตาม เอสโซ่ ประเทศไทย ได้ก่อตั้งบริษัท เอ็กซอนโมบิล มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อประกอบกิจกรรมน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูป “โมบิล” และกิจกรรมการตลาดเคมีภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ของเอ็กซอนโมบิลในประเทศไทย

รวมทั้งยังมี บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ ผลิตก๊าซธรรมชาติที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จำหน่ายให้กับ ปตท. เพื่อส่งไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ นำไปผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคอีสานของไทย

แต่ถึงแม้ปั๊มเอสโซ่ 832 แห่ง จะเปลี่ยนไปเป็นของบางจาก แต่ระหว่างนี้ยังสามารถใช้แบรนด์เอสโซ่ต่อไปอีก 2 ปี ระหว่างทยอยเปลี่ยนผ่านจากปั๊มเอสโซ่มาเป็นปั๊มบางจาก รวมถึงสูตรน้ำมันก็จะเปลี่ยนเป็นของบางจากด้วย

ขณะที่โปรแกรมสะสมแต้มอย่างสมาชิกเอสโซ่สไมล์ ยังสามารถสะสมและแลกคะแนนได้อีก 1 ปี ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 และจะเปิดให้ย้ายคะแนนไปยังสมาชิกบางจากกรีนไมลส์ โดยมีโปรโมชันโบนัสพิเศษเพิ่ม 100 คะแนน

ที่ผ่านมาเอสโซ่มีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพน้ำมัน ผู้ใช้รถบอกกันแบบปากต่อปากว่า วิ่งได้ระยะทางมากกว่าเจ้าอื่น แม้จะยังไม่ได้มีการพิสูจน์อย่างชัดเจน แต่เมื่อภาพลักษณ์เป็นบวก ก็ยังมีลูกค้าประจำที่ติดแบรนด์นี้อยู่

กลายมาเป็นคำถามว่า นับจากนี้เมื่อเปลี่ยนสูตรน้ำมันแล้ว คุณภาพจะดีเหมือนเดิมหรือไม่ แม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันบางจาก จะอยู่อันดับต้นๆ โดยมี PTT Station ของโออาร์เป็นเจ้าตลาดเวลานี้ก็ตาม

อย่างที่สามที่แม้จะไม่มีกำหนดปิดตัวที่แน่นอน แต่ก็จะหายไปจากเมืองไทย ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท (Family Mart) ถูกเปลี่ยนไปเป็นร้านที่ชื่อว่า ท็อปส์ เดลี่ (Tops Daily) ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

กระทั่งเว็บไซต์นิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า บริษัทแม่ของแฟมิลี่มาร์ทที่ประเทศญี่ปุ่น ประกาศถอนตัวจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 หลังข้อตกลงแฟรนไชส์กับกลุ่มเซ็นทรัลสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566

โดยร้านแฟมิลี่มาร์ทที่เหลือราว 200 แห่ง จะถูกเปลี่ยนเป็นร้านท็อปส์เดลี่ ซึ่งเป็นแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กที่กลุ่มเซ็นทรัลเป็นเจ้าของ แม้จะถอนตัวจากประเทศไทย แต่การดำเนินธุรกิจเชิงรุกประเทศที่เหลือยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แฟมิลี่มาร์ทเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเมื่อปี 2535 ในนาม บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด เปิดสาขาแรกที่พระโขนงในปี 2536 ต่อมากลุ่มเซ็นทรัลเข้าถือหุ้นใหญ่ และบริหารจัดการร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ทในไทยทั้งหมด

กระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด มีการนำโปรแกรมสะสมคะแนนเดอะวันมาใช้ มีการปรับโฉมใหม่ ก่อนที่กลุ่มเซ็นทรัลจะเข้าซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ ทำให้เหลือสถานะเพียงแฟรนไชส์ของแฟมิลี่มาร์ทญี่ปุ่นเท่านั้น

ที่ผ่านมาแม้แฟมิลี่มาร์ทจะขยายสาขา โดยการเปลี่ยนโฉมจากท็อปส์ เดลี่ ที่เป็นแบรนด์มินิซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งผลักดันแบรนด์กาแฟสด Coffee Arigato และ Segafredo มาจำหน่าย

แต่การแข่งขันของร้านสะดวกซื้อในไทยดุเดือด โดยมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นเจ้าตลาด ตามมาด้วยเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส (ขณะนั้น) มินิบิ๊กซี และน้องใหม่อย่างซีเจ เอ็กซ์เพรส เข้ามาเปิดสาขาแบบป่าล้อมเมือง

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ท็อปส์ยุบรวมแบรนด์ Tops Market, Tops Daily และ Tops Online เข้าด้วยกัน พร้อมเปลี่ยนเป็นแบรนด์ใหม่เป็น Tops โมเดลซูเปอร์มาร์เก็ต รวมสินค้าคุณภาพหลากหลายและครบครัน

ท็อปส์เดลี่หลายสาขาถูกปรับให้เหลือเฉพาะโลโก้ Tops อย่างเดียว ถึงกระนั้นยังคงมีร้านท็อปส์เดลี่หลงเหลืออยู่ ก่อนที่จะปรับโฉมร้านแฟมิลี่มาร์ท มาเป็นร้านท็อปส์เดลี่ในเวลาต่อมา ทำให้มีพอร์ตร้านดังกล่าวราว 543 สาขา

ปัจจุบันค้าปลีกไทยมีเจ้าตลาดหลักอยู่ 3 ราย ได้แก่ กลุ่มซีพี ที่มีสารพัดโมเดลทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร รวมทั้งโลตัส, กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ที่มีห้างบิ๊กซีและร้านบิ๊กซี มินิ, กลุ่มเซ็นทรัลที่มีท็อปส์ และห้างสรรพสินค้าอย่างเซ็นทรัล โรบินสัน

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แม้การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ตามประสาคนที่คุ้นเคยกันไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่ก็เป็นสัจธรรมในโลกธุรกิจ ที่ไม่มีอะไรยั่งยืนได้ตลอดไป

ได้แต่คิดถึงอดีตที่กำลังจะหายไป คิดเสียว่าสักวันหนึ่ง ชีวิตคนเราอาจจะได้เห็นแบรนด์ที่เคยพบในเมืองไทย เมื่อไปเยือนต่างประเทศก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น