ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรเผยผลกระทบปรับเพิ่มจ่ายหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ จาก 5% เป็น 8% พบแค่ไตรมาสแรกหนี้เสียเพิ่มขึ้น 14.6% เป็น 6.4 หมื่นล้าน แถมหนี้ที่ต้องจับตาส่อจะเป็นหนี้เสีย 1.2 หมื่นล้าน พุ่ง 32.4% ส่องที่มาพบมีแต่คนเจนวายที่แบกหนี้หลังแอ่น
วันนี้ (8 พ.ค.) เฟซบุ๊ก Surapol Opasatien ของนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร โพสต์ข้อความแสดงความเป็นห่วงถึงหนี้บัตรเครดิต หลังสถาบันการเงินและผู้ให้บริการบัตรเครดิตปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระขั้นต่ำใหม่ของบัตรเครดิต จากเดิม 5% ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ว่า ข้อมูลไตรมาสที่ 1/2567 เกี่ยวกับสินเชื่อบัตรเครดิตจากฐานข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตนของเครดิตบูโร พบว่าตัวเลข ณ เดือนมีนาคม 2567 ยอดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด 24 ล้านใบ เป็นเงิน 5.5 แสนล้านบาท เติบโต 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) ถ้าเทียบจากสิ้นปี 2566 หดตัว 5.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ)
ส่วนตัวเลขบัญชีสินเชื่อบัตรเครดิตที่เป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล (Non-Performing Loan หรือ NPLs) ค้างชำระเกิน 90 วันจะมีจำนวนประมาณ 1 ล้านบัตรเศษ คิดเป็นยอดเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตนเริ่มไม่สบายใจ พอมาดูยอดหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan หรือ SM) ที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย พบว่ามีจำนวนบัตรที่ชำระหนี้ได้แบบตะกุกตะกัก ติดๆ ขัดๆ 1.9 แสนบัตร คิดเป็นจำนวนเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 32.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
"มาถึงตรงนี้เริ่มตาโตแล้วครับว่า แค่สามเดือนแรกของการปรับเพิ่มยอดชำระขั้นต่ำ ทำไมมันเกิดการกระโดดในหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ตามต่อไปดูว่าแล้วมันโตจากปลายปี 2566 เท่าใด ก็พบว่าเติบโตถึง 20.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่ต้องระวังว่ามันจะไหลเพิ่ม ไหลแรงกว่าเดิมหรือไม่ นอกจากปัญหาค่าครองชีพแล้ว รายได้ไม่ฟื้นตัว เปราะบางจนนุ่มนิ่ม มันสะท้อนแล้วว่าชำระหนี้สินเชื่อนี้ได้ลำบากมากขึ้น" นายสุรพลระบุ
ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรกล่าวต่อว่า เมื่อนำข้อมูลบัตรเครดิตที่เป็นยอดหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ จำนวนเกือบ 2 แสนใบ เป็นบัตรที่เปิดมานานเท่าใด พบว่าเปิดบัตรมาไม่เกิน 2 ปี มีจำนวน 3.6 หมื่นใบ อยู่ในมือคนเจนวาย (Generation Y หรือผู้ที่เกิดปี 2524-2539) จำนวน 2.3 หมื่นใบ เปิดมามากกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 4 ปี มีจำนวน 3.9 หมื่นใบ อยู่ในมือคนเจนวาย จำนวน 2.7 หมื่นใบ เจนเอ็กซ์ (Generation X หรือผู้ที่เกิดปี 2508-2523) จำนวน 9.2 พันใบ เปิดมามากกว่า 4 ปีแต่ไม่เกิน 6 ปี มีจำนวน 4.5 หมื่นใบ อยู่ในมือคนเจนวาย จำนวน 3 หมื่นใบ เจนเอ็กซ์ จำนวน 1.2 หมื่นใบ คำถามก็คือ หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ จะไหลต่อเป็นหนี้เสียอีกเท่าใด การกำหนดให้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8% และ 10% ตามลำดับ ช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้จริงหรือไม่ ตามเป้าประสงค์มาตรการ
"ความจริงคนเรามีบัตรเครดิตได้หลายใบ การเพิ่มอีก 3% ของยอดหนี้ในแต่ละใบ คนไม่เคยเป็นหนี้อาจนึกไม่ออกว่าจะหมุนหาจากไหนไปจ่ายได้ และประการสุดท้าย ค่าใช้จ่ายทั้งหลายมันเริ่มเพิ่มอย่างชัดเจน เช่น ไข่ไก่ ผักบางชนิด น้ำมันก็เริ่มขยับ เป็นต้น การท่องตำราแก้ปัญหากับการท่องยุทธจักรแบบเดินเผชิญสืบ มันใช้ใจที่ต่างกัน ตัวอย่างเรื่องนี้คือหนังชีวิตจริง แต่ถ้ามองเป็นหนังอนิเมะ มันก็อาจผิดเพี้ยน ต้องกลับมาดูกันเพราะแค่ 3 เดือนกลิ่นมันแรงแบบโตขึ้น 32.4% เมื่อช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และ 20.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มันไม่ธรรมดานะครับ ตั้งโจทย์ผิด แต่ตอบโจทย์ที่ผิดได้ถูก ผลลัพธ์ผลผลิตมันจะผิดเพี้ยนไปหรือไม่ วันนี้ฝนตกแล้ว ฝนหลังฝุ่นที่ร้อนระอุย่อมสวยงามเสมอ" นายสุรพลระบุ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการบัตรเครดิตปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระขั้นต่ำใหม่ของบัตรเครดิต จากเดิม 5% ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ หนึ่งในนั้นคือปรับลดอัตราผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำให้ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของยอดคงค้าง กระทั่งได้ออกมาตรการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำของบัตรเครดิต โดยให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจกำหนดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำของยอดคงค้างทั้งสิ้น สำหรับปี 2566 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 สำหรับปี 2567 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 และตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10