นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไตรมาส 3 ปี 66 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือ 91% ของจีดีพี 17.8 ล้านล้านบาท ส่วนข้อมูลหนี้ครัวเรือนเก็บโดยเครดิตบูโร ณ สิ้นปี 66 จำนวน 13.6 ล้านล้านบาท โดยหลักๆแบ่งเป็นสินเชื่อบ้าน 4.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% คิดเป็น 36.5%ของสินเชื่อรวม สินเชื่อรถยนต์ 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% คิดเป็น 19.1%ของสินเชื่อรวม สินเชื่อบัตรเครดิต 5.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% คิดเป็น 4.3%ของสินเชื่อรวม สินเชื่อส่วนบุคคล 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% คิดเป็น 19.0%ของสินเชื่อรวม
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)จากการเก็บข้อมูลของเครดิตบูโร ณ สิ้นปี 2566 มีทั้งสิ้น 1.05 ล้านล้านบาท หนี้อยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง 1.04 ล้านล้านบาท และหนี้้ค้างชำระ 30-90 วัน(SM)อยู่ที่กว่า 6.1 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อบ้าน 1.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.1% สินเชื่อรถยนต์ 2.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% สินเชื่อบัตรเครดิต 9.74 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.0% และสินเชื่อส่วนบุคคล 1.45 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% โดยตัวเลขคาดการณ์ 12 เดือนข้างหน้า หนี้เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านล้านบาท และกลุ่ม SM จะอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนของหนี้กลุ่ม SM นั้น ค่อนข้างอันตรายเพราะยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แล้วก็จะไหลลงมาที่เอ็นพีแอลตามอัตราการไหลจาก SM สู่ NPL(Migration rate)ที่ธปท.ระบุไว้คือ สินเชื่อบ้าน - รถยนต์ -บัตรเครดิต - สินเชื่อบุคคลอยู่ที่่ 22% ,12%, 57%, และ 54% ตามลำดับ
"ที่น่าจับตาคือหนี้ SM สินเชื่อบ้านเพราะมีอัตราการไหลเป็นหนี้เสียถึง 22% แล้วยังมีความเสี่ยงเพราะมียังคนเลี้ยงงวด หรือจ่าย 2-3 งวดไม่ให้เกิน ซึ่งหนี้เสียบ้านมี 1.2 แสนล้านบาทส่วนใหญ่เป็นมูลค่าบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาทและเป็นหนี้ของแบงก์รัฐ ซึ่งมองว่าการตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี)เป็นเพียงย้ายหนี้ไปอีกแห่งหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ทำให้หนี้หายไป ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้ที่มาถึงสินเชื่อบ้านสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์เงินในกระเป๋าของคนกลุ่มนั้นๆ เพราะหนี้บ้านถือเป็นกลุ่มท้ายๆที่ทำให้คนขาดส่ง และยังมีหนี้ที่มองไม่เห็นพร้อมระเบิด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ปล่อยกู้สมาชิก 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของ ครูและบุคลากรทางการศึกษากู้จากสหกรณ์ ทั้งที่ทำงานอยู่และเกษียณ รวม 8 แสนล้านบาท และกลุ่มนี้ยังขอสินเชื่อกับแบงก์รัฐ ธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์อีก 6 แสนล้านบาท รวมเป็นทั้งสิ้น 1.4 ล้านล้านบาท ตรงนี้ก็ต้องเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาใกล้ชิด"
นายสุรพลกล่าวอีกว่า หนี้ครัวเรือนได้เร่งตัวขึ้นมาจากหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 54 จาก 76% เป็น 85% และเป็น 91% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และเป็นระดับจุดอันตรายที่ทางธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ(บีไอเอส)กำหนดไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี โดยธปท.ได้คาดการณ์ลดหนี้ครัวเรือนให้อยู่ระดับ 89% ในอีก 3 ปีหรือในปี 70 ซึ่งได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทำแผนรองรับวิกฤติ ขณะที่ปัญหาของหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยหนี้ที่กู้มาส่วนใหญ่กู้มากินมาใช้ ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย
"ครัวเรือนไทยมีปัญหาด้านความไม่เท่าเทียม จากการสำรวจแบ่ง 6 กลุ่มรายได้ กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มีค่าใช้จ่ายดำเนินชีวิต 113 บาทต่อวัน จากรายได้ 100 บาท แถมบางคนมีหนี้อีกก้อนต้องจ่ายเพิ่ม 25 บาท ก็ต้องออกไปใช้หนี้นอกระบบเอาเงินมาหมุนวนในชีวิต เป็นแบบนี้เพราะศักยภาพหารายได้ต่ำ สิทธิการทำมาหากินน้อย รายได้ไม่พอจ่ายราย ตอนนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยมี 2 ระบบ คือ เศรษฐกิจคนรวยเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยม และเศรษฐกิจระดับล่างเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม"