ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพมหานคร ประกาศหยุดการเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊ก Citi Thailand พร้อมแสดงความขอบคุณแก่ลูกค้า หลังโอนย้ายบัญชีลูกค้าบุคคล รวมทั้งบัตรเครดิตไปยังธนาคารยูโอบีเสร็จสิ้น
วันนี้ (21 เม.ย.) เฟซบุ๊ก Citi Thailand ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านราย โพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ระบุว่า "Our deepest gratitude." (ด้วยความขอบคุณอย่างสุดซึ้งจากเรา) และข้อความระบุว่า "IMPORTANT: Effective April 21, 2024, the Citibank Thailand Facebook account is no longer active. Please stay connected and continue to follow Citi on https://www.facebook.com/citi/." (ประกาศสำคัญ : ตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. 2567 บัญชีเฟซบุ๊กซิตี้แบงก์ ประเทศไทย จะไม่มีการเคลื่อนไหวอีกต่อไป โปรดรอคอยและติดตามเราอย่างต่อเนื่องได้ที่เฟซบุ๊ก Citi")
ทั้งนี้ ในวันนี้เป็นวันที่ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพมหานคร ได้โอนย้ายบัญชีเสร็จสมบูรณ์ เมื่อเวลา 18.00 น.ที่ผ่านมา หลังโอนธุรกิจธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคลในประเทศไทยให้กับธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2565 ลูกค้าบุคคลสามารถใช้บริการผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ผ่านช่องทางของธนาคารยูโอบี โดยนับตั้งแต่เวลา 20.00 น. วันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมาได้ปิดให้บริการซิตี้โมบายล์แอปฯ ซิตี้แบงก์ออนไลน์ (www.citibank.co.th) และ Citi LINE Connect เป็นการถาวร
อย่างไรก็ตาม ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพมหานคร จะเหลือบริการเฉพาะลูกค้านิติบุคคลในประเทศไทย ได้แก่ การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการบริหารเงินตรา การจัดการเงินสด การเงินเพื่อการค้า การบริการดูแลทรัพย์สิน การให้กู้ยืม การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และตลาดทุน โดยลูกค้าของซิตี้ ประเทศไทย ได้แก่ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทข้ามชาติระดับโลก บริษัทชั้นนำในประเทศไทย และสถาบันการเงินต่างๆ โดยมี น.ส.นฤมล จิวังกูร ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย (Citi Country Officer for Thailand) ดูแลรับผิดชอบการดำเนินธุรกิจภายในประเทศไทย ขึ้นตรงต่อผู้บริหารใหญ่ธนาคารซิตี้แบงก์ ภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียน
สำหรับซิตี้ ประเทศไทย เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในปี 2510 ให้บริการทางการเงินผ่านทางธุรกิจของซิตี้และธนาคารซิตี้แบงก์แก่ลูกค้าองค์กร สถาบันและลูกค้าบุคคลมากกว่า 1 ล้านราย มีสาขาจำนวน 3 แห่ง ลูกค้าของซิตี้ประกอบด้วยหน่วยงานของรัฐ บริษัทข้ามชาติ องค์กรชั้นนำในประเทศ สถาบันการเงิน ตลอดจนลูกค้าบุคคลที่มีความเป็นสากล เป็นองค์กรลูกของซิตี้กรุ๊ปและธนาคารซิตี้แบงก์ ให้บริการแก่ลูกค้าราว 200 ล้านบัญชี ใน 160 ประเทศทั่วโลก เริ่มก่อตั้งในนครนิวยอร์กตั้งแต่ปี 2355 โดยฉลองโอกาสครบรอบ 200 ปี และ 120 ปีในหลายประเทศในเอเชียในปี 2565
ย้อนกลับไปในอดีต ปี 2510 ซิตี้เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ชื่อ The Commercial Credit Corporation (Thailand) Ltd. ซึ่งเป็นธุรกิจด้านการให้กู้ยืม สำหรับรถยนต์และสินค้าอุปโภคบริโภค ปี 2511 บริษัท ไดเนอร์ส คลับ (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในฐานะผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิต (ในเวลานั้นคือชาร์จคาร์ด) แห่งแรกของไทย ก่อนที่ซิตี้กรุ๊ปซื้อกิจการและเครือข่ายของไดเนอร์สคลับ รวมทั้งบริษัท ไดเนอร์ส คลับ (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2524
ในปี 2512 ธนาคาร First National City ได้เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในลักษณะ joint venture ร่วมกับธนาคารกรุงเทพเพื่อก่อตั้งบริษัทด้านการลงทุนภายใต้ชื่อ Bangkok First Investment Trust, Ltd. ขณะเดียวกัน ก่อตั้งบริษัท เฟอร์ซห์เนชั่นแนล ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ไฟแน้นซ์ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด, ปี 2516 ธนาคาร First National City เข้าถือหุ้นส่วนหนึ่งของธนาคารหวั่งหลี ธนาคารเก่าแก่เป็นอันดับสองของประเทศ, ปี 2522 บริษัท เฟอร์ซห์เนชั่นแนล ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ไฟแน้นซ์ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด อย่างไรก็ตาม ในปี 2527 ซิตี้แบงก์ได้ซื้อกิจการสาขาประเทศไทยของธนาคารเมอร์แคนไทล์ ธนาคารสัญชาติอังกฤษ และได้ถอนหุ้นออกจากธนาคารหวั่งหลีในเวลาต่อมา
วันที่ 1 พ.ย. 2528 ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพฯ ได้เริ่มให้บริการธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยอย่างเป็นทางการ, ปี 2529 บริษัท ซิตี้แคปปิตอล จำกัด ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการเงินทุน ตลอดจนให้คำแนะนำทางการเงินแก่บริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ, ปี 2530 ก่อตั้งบริษัท ซิตี้คอร์ป ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อเพื่ออุปกรณ์พาณิชย์ หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 40 ในปี 2543 มีการแยกธุรกิจการให้สินเชื่ออยู่ภายใต้บริษัท เงินทุนซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด และธุรกิจหลักทรัพย์ในชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด
ปี 2547 บริษัท ซิตี้แคปปิตอล จำกัด ได้ขยายไปสู่ธุรกิจการเป็นตัวแทนติดตามหนี้สินเชื่อ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท กรุงเทพ อี-เซอร์วิส จำกัด, ปี 2548 บริษัท ซิตี้คอร์ป ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจสู่การให้บริการสินเชื่อบุคคล ภายใต้ชื่อ "ซิตี้โลน" ขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์ ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์, ปี 2549 บริษัทหลักทรัพย์ ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ช่วง (sub-brokerage), ปี 2551 แบรนด์ "ซิตี้โลน" เปลี่ยนชื่อเป็น "ซิตี้ แอดวานซ์", ปี 2552 บริษัท ไดเนอร์ส คลับ (ประเทศไทย) จำกัด เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัท ซิตี้ คอนซูเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด, ปี 2553 บริษัท กรุงเทพ อี-เซอร์วิส จำกัดรวมกิจการกับบริษัท เงินทุนซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บี.อี.เอส จำกัด
ปี 2554 ธนาคารซิตี้แบงก์เปิดให้บริการสาขาที่ 2 ถนนสีลม, ปี 2555 ธนาคารซิตี้แบงก์เปิดตัวสาขาที่ 3 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ปี 2559 ธนาคารซิตี้แบงก์ย้ายสาขาสีลมไปที่ เดอะ คริสตัล อย่างไรก็ตาม หลังการโอนธุรกิจธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคลในประเทศไทย ได้แก่ เงินฝาก บริการธนบดี ซึ่งรวมถึงบัญชีซื้อขายกองทุนรวมแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน และเปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน บริการตู้นิรภัย ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่มีทรัพย์จำนองเป็นประกัน ให้กับธนาคารยูโอบีไปแล้ว ธนาคารซิตี้แบงก์ยังคงให้บริการที่อาคารอินเตอร์เชนจ์ สี่แยกอโศก แก่กลุ่มลูกค้าองค์กรเท่านั้น