หลักสูตร Hospital and Wellness Management ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น ที่ดำเนินการโดยวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIM-DPU) ได้จัดอบรมในเรื่องของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การจัดการความขัดแย้ง และการจัดการโลจิสติกส์ และโซ่อุปทานสุขภาพ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพฯ
ในหัวข้อดังกล่าว อาจารย์ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ รองคณบดี วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย (TLWA) และผู้อำนวยการสายบริหารการสื่อสารและพัฒนาสุขภาพสัมพันธองค์กร เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “Effective Communication Conflict Management Empathy” และ รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายในหัวข้อ “Healthcare Supply Chain and Logistics”
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา เต็งอํานวย คณบดี วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIM-DPU) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร Hospital and Wellness Management ที่วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการได้จัดขึ้นว่า เป็นหลักสูตรที่มีวิทยากรเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์การบริหารงานโดยตรง โดยเปิดมาแล้วถึง 3 รุ่น ซึ่งในแต่ละรุ่นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากบุคลากรทางการแพทย์ ผู้บริหารโรงพยาบาล เจ้าของธุรกิจและผู้ที่สนใจทำงานบริหารเกี่ยวกับธุรกิจสุขภาพ คลินิกศูนย์เวลเนส มาเรียนรู้และเข้าใจหลักการบริหารสถานพยาบาล และศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร หลักสูตรนี้ใช้ระยะเวลาเรียน 3 เดือน เรียนสัปดาห์ละ 1 วัน รวมทั้งสิ้น 66 ชม. ผู้เรียนจะได้เรียนในเรื่องของหลักการจัดการองค์กรหรือธุรกิจให้บริการสุขภาพ หลักการของการชะลอวัย การจัดการทางการเงินและวิเคราะห์ทางการเงินในธุรกิจ การตลาดและการตลาดดิจิทัลสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลและผู้ให้บริการสุขภาพ การจัดการประกันภัยในธุรกิจสุขภาพ การจัดการธุรกิจเวลเนส การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้พัฒนากลยุทธ์ธุรกิจ การบริหารท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ การวางแผนกลยุทธ์และความเป็นผู้นำ และการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ในช่วงต้นของการอบรม อาจารย์ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการสื่อสารในการให้บริการทางสุขภาพ ซึ่งเรื่องการสื่อสารมีความสำคัญมาก โดยแนวโน้มการฟ้องร้องทางการแพทย์มีมากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างปัญหาการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับคนไข้ว่ามีหลากหลายสาเหตุ โดยส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ส่วนเรื่องความสำคัญของการสื่อสารทางสุขภาพ จะสามารถช่วยปรับปรุงระบบการให้บริการด้านสุขภาพให้ดีขึ้น ช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการส่งเสริมร่วมกันในระบบสุขภาพ และ ช่วยลดต้นทุนของการบริหารด้านสุขภาพ นอกจากนี้ได้แนะนำสำหรับการสื่อสารกับผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งการพูดคุยกับผู้ป่วยที่สูงอายุจะแตกต่างเล็กน้อยจากการพูดคุยกับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่อื่นๆ เช่น หลีกเลี่ยงแสดงความคุ้นเคยกับคนไข้สูงอายุมากเกินไปในครั้งแรก
นอกจากนี้ อาจารย์ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเกี่ยวกับ 7 ขั้นตอนในการบริหารความขัดแย้งในองค์กร คือ 1. หาสาเหตุของความขัดแย้งให้ได้เช่นกัน 2. หาผลที่สามารถป้องกันหรือปลอดภัยในการเจรจา 3. ตั้งใจฟังและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูด 3. ประเมินสถานการณ์ 4. กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างมีกำหนด 5. ตกลงแนวทางแก้ปัญหาและกำหนดความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา 6. ประเมินผล และ 7. วางแผนการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นอีกครั้ง
ในช่วงการบรรยายของ รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ท่านได้บรรยายเกี่ยวกับระบบการจัดซื้อสินค้า การบริหารคลัง และโลจิสติกส์ของโรงพยาบาล โดยกล่าวถึงการจัดการทรัพยากร (Resource Management - Material Management) ในเรื่องของการวางแผนและจัดการคลังสินค้า การเลือกซื้อและการจัดการผู้ขาย และการจัดส่งและการจัดสต๊อกสินค้า การพยากรณ์และการจัดการวัสดุคงคลัง (Forecasting and Inventory Management) การประมาณการปริมาณและการจัดการสินค้าให้เพียงพอและไม่เกินไป การบริหารสินค้าคงคลังเพื่อลดค่าใช้จ่าย และการรักษาสภาพคล่องของสินค้าโดยการกำหนดอัตราการหมุนเวียน
รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ได้อธิบายการจัดการการไหลของวัสดุและข้อมูล (Material and Information Flows/Links) ต้องมีการวิเคราะห์กระบวนการและการปรับปรุง และการควบคุมไม่ให้สินค้ามากเกินไป การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการโดยการลดความไม่แน่นอนในอนาคต พร้อมอธิบายระบบการจัดการสินค้าคงคลังพร้อมยกตัวอย่าง ระบบขนาดการสั่งซื้อที่ประหยัด (Q-System: Economic Order Quantity (EOQ)) และระบบการสั่งซื้อระยะเวลาคงที่ (P-System: Fixed order interval) ในช่วงท้าย อาจารย์ได้นำเสนอเรื่องการพยากรณ์ (Forecasting) โดยเน้นไปที่การใช้ข้อมูลในอดีตเพื่อทำการคาดเดาสำหรับอนาคตโดยใช้หลักการทางธุรกิจ และการพยากรณ์โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น การผลิต การจัดการคงคลัง และบุคลากร เพื่อช่วยให้องค์กรวางแผนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลดความไม่แน่นอนในการบริหารและการจัดการทรัพยากรต่างๆ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร Hospital and Wellness Management มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สามารถติดต่อที่ คุณวรันณ์ธร ปรีดา เบอร์โทร. 08-9996-7744 และ ดร.รมัยมาศ จันทร์ขาว เบอร์โทร. 09-1436-0964 หรือ ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://cim.dpu.ac.th