หลักสูตรปริญญาโท วิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Anti-Aging and Regenerative Medicine) วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดงาน “สัมมนาศาสตร์ความรู้พื้นฐานทางด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Basic Anti-Aging Module) รุ่นที่ 15” อัปเดตองค์ความรู้ในมุมกว้างทางด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพให้แก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไปที่ต้องการความรู้เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติกับตัวเองและครอบครัว เมื่อวันที่ 16-17 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมสนม สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
นำโดย “ผศ.ดร.นพ.พัฒนา เต็งอำนวย” คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคไต และเวชศาสตร์ชะลอวัย “ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ” รองคณบดีฝ่ายงานวิจัยฯ และประธานผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ และสาขาวิชาเวชศาสตร์ความงาม “พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน” ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ หลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ และสาขาวิชาเวชศาสตร์ความงาม และ “ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์” ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และเวชศาสตร์ชะลอวัย เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิถ่ายทอดความรู้ โดยภายในงานวันที่ 16-17 มีนาคม เป็นการสัมมนาใน Module 1 มีจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 270 คน เพื่อศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์ชะลอวัยคืออะไร โภชนาการในศาสตร์ชะลอวัย อาหารและอาหารเสริม อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระ ภาวะลำไส้รั่ว ภาวะแพ้อาหารแฝง สมุนไพรและพฤกษะเคมี วิถีชีวิตการรับประทานอาหารแบบชะลอวัย เป็นต้น
กิน “อาหารด่าง” สร้างไทม์แมชชีนย้อนสุขภาพ
พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ หลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ และสาขาวิชาเวชศาสตร์ความงาม วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) บรรยายในหัวข้อ “อาหารที่ดีและอาหารที่เลว” และ “สุขภาพลำไส้ แบคทีเรียและยีสต์ แบคทีเรียชนิดที่ดี” โดยกล่าวเริ่มต้นว่า ส่วนใหญ่คนมีมุมมองต่อเรื่อง Anti-aging เป็นเพียงเรื่องของความงาม ทว่า ‘ความงาม’ แท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งในศาสตร์ดังกล่าวนี้เท่านั้น เพราะถ้าสุขภาพร่างกายดี ความงามก็จะเปล่งออกมาเอง
“ร่างกายเราคือหมอที่ดีที่สุด เขาจะพยายามซ่อมแซมตัวเอง ทุกคนคงเคยได้ยินมาหมดแล้วว่า You are what you eat กินอะไรก็ได้อย่างนั้น เช่น กินขาหมูเยอะ ขาก็จะมีเซลลูไลตฺเยอะ ฉะนั้นการที่เราจะสุขภาพดีได้ ต้องบาลานซ์สมดุลที่เรียกว่า ‘6 อ’ ได้แก่ 1. อาหาร 2. ออกกำลังกาย 3. ออกซิเจน 4. เอนหลังนอน 5. อุจจาระ 6. อารมณ์”
เริ่มต้นที่ ‘อาหาร’ ที่นอกจากไม่ควรที่จะกินในปริมาณที่เยอะ โดยกินในรูปแบบของ Longevity diet ยังต้องคำนึงถึงเรื่องของลักษณะ ‘Raw Food’ การกินอาหารสดจากธรรมชาติโดยไม่ผ่านความร้อนหรือใช้ความร้อนไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส และเน้นผักกับผลไม้รสเปรี้ยว เพื่อปรับให้เลือดในร่างกายเป็น ‘ด่าง’ ซึ่งช่วยให้ไกลห่างจากโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ เช่น ไข้หวัด ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนล้า อ่อนเพลีย ไปจนถึงโรคร้ายอย่างมะเร็ง
“เมื่อร่างกายเป็นด่าง มีค่า PH 7.4 พวกเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อไวรัส มะเร็งหยุดการเจริญเติบโตและตายหมด หรือถ้าไม่ตายหมดแต่ก็อยู่อย่างสงบสุข เพราะทุกระบบในร่างกายก็จะทำงานเป็นปกติ นอกจากนี้ การที่ค่าด่างเพิ่มขึ้นแค่ 7.42 ออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้นได้ถึง 60-70% ซึ่งมีการทดลองในนักกีฬาฟุตบอลชั้นนำเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ปรากฏว่าสามารถวิ่งสปรินต์ในระยะ 25 เมตรได้เร็วขึ้น จากการที่ออกซิเจนในเลือดดีขึ้น และเมื่อออกซิเจนดีขึ้นการเผาผลาญทุกอย่างก็ดีขึ้น”
“แต่ความสุขคือการกิน ฉะนั้นเราต้องเลือกกินโดยที่กินให้ดี กินให้ถูก และกินแต่พอดี” พญ.พักตร์พิไลย้ำ พร้อมกับเน้นหลักการจำอาหารด่างคืออะไรที่ไม่ใช่ ‘ผักและผลไม้รสเปรี้ยว’ นอกนั้นคือ ‘อาหารที่เป็นกรด’ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ ธัญพืช ผลไม้ที่ให้รสหวาน อาหารสำเร็จรูปและแปรรูป หรืออาหารตระกูลคาร์โบไฮเดรต น้ำตาลแท้และเทียม (ยกเว้นหญ้าหวาน) นม แอลกอฮอล์ กาเฟอีน ยา ฯลฯ
“จุลินทรีย์ แบคทีเรีย เชื้อรา” ตัวช่วยสุขภาพลำไส้ดี
พญ.พักตร์พิไลยังเน้นย้ำ ‘การดูแลในเรื่องของลำไส้’ เพราะร่างกายของมนุษย์มีจุลินทรีย์กว่า 100 ล้านล้านตัว โดยกระจายอยู่ในทุกส่วนของร่างกายทำให้มีบทบาทที่มากกว่าการรักษาแค่เฉพาะระบบทางเดินอาหาร การแก้ท้องเสีย นอกจากนี้ในลำไส้ยังมีแบคทีเรีย 99% ที่ช่วยร่างกายในการย่อยอาหาร ดูดซึมแร่ธาตุ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ระบบขับถ่าย ระบบทางเดินอาหารทำงานเป็นปกติ ป้องกันภาวะกรดไหลย้อน กระเพาะลำไส้อักเสบ ริดสีดวงทวาร ขณะที่อีกเกือบ 1% เป็นโปรโตซัวอะมีบา และเชื้อรา ซึ่งมีบทบาทในการช่วยดึงเกลือแร่ วิตามินที่หลากหลาย และที่สำคัญคือ ย่อยอาหารที่ทางเดินอาหารที่ไม่มีน้ำย่อย อย่าง เส้นใยไฟเบอร์ เป็นต้น
โดยอาหารและรูปแบบการกินข้างต้นยังมีส่วนช่วยสร้างสมดุลให้กับจุลินทรีย์ หรือโปรไบโอติก และเชื้อรา พอจุลินทรีย์สมดุลดี ก็ช่วยป้องกันการติดเชื้อ โดยจะสร้างสารฆ่าแบคทีเรียไม่ดีที่เกาะอยู่กับผนังลำไส้ แบคทีเรียที่ไม่ดีก็จะถูกขับออกมาเป็นอาการท้องเสีย ซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติในการกำจัดเชื้อโรคที่ไม่ดีออกไป ที่สำคัญ จุลินทรีย์มีส่วนช่วยให้ผนังลำไส้แข็งแรง ไม่รั่วหรือซึมอีกด้วย
“ฉะนั้น จุลินทรีย์ ทั้งอาหารที่ย่อยไม่เสร็จ ทั้งสารท็อกซิน เช่น เชื้ออีโคไล ที่ควรจะออกมากับอุจจาระ เมื่อหลุดเข้ามาในกระแสเลือด และเมื่อร่างกายรับรู้ถึงสิ่งแปลกปลอมก็จะสร้างภูมิคุ้มกัน และเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิด ‘โรคแพ้ภูมิตัวเอง’ หรือ SLE ต่างๆ”
พญ.พักตร์พิไลเล่าว่า เคยมีเคสคนไข้เป็นวัยรุ่นอายุ 30 กว่า เพิ่งจะมีลูกอายุ 3 ขวบ เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง นั่งร้องไห้ถามว่าหนูจะตายไหม กินยาสเตียรอยด์จะเป็นไตวายไหมในการรักษา จึงบอกว่า “ไม่” และรักษาโดยน้ำมันตับปลา แอสตาแซนธิน โซดามินต์ ใช้จุลินทรีย์ดีหรือโปรไบโอติก เป็นต้น ฉะนั้นยังมีอีกหลายคนที่ไม่ทราบ คิดว่าใช้เฉพาะระบบทางเดินอาหาร แก้ท้องเสียเท่านั้น
“นอกจากนี้ หากใครอยากสุขภาพดีย้อนวัยยังควรที่จะต้อง ‘ดื่มน้ำ’ โดยผู้หญิงให้ดื่มวันละ 8-9 แก้ว ส่วนผู้ชายวันละ 10-11 แก้ว และกิน ‘โซดามินต์’ พร้อมกับนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ” พญ.พักตร์พิไลกล่าวทิ้งท้าย