xs
xsm
sm
md
lg

CIM-DPU เปิดคุณสมบัติของสาร Astaxanthin “แอสตาแซนธิน” ที่ขึ้นชื่อเรื่อง Super Antioxidant สุดยอดสารกำจัดอนุมูลอิสระที่มีสมบัติช่วยลดความรุนแรงของ “โรคอัลไซเมอร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทำความรู้จัก Super Antioxidant “สารแอสตาแซนธิน” สารกำจัดอนุมูลอิสระที่มีสมบัติช่วยลดความรุนแรงของ “โรคอัลไซเมอร์” โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคตับและโรคไต รวมไปจนถึงโรคเบาหวาน แถมผิวสวยอ่อนเยาว์ไร้ริ้วรอยได้อีกด้วย

โดยหลังข่าวดีที่กลายเป็นที่ฮือฮาในวงการแพทย์สำหรับ สถาบันประสาทวิทยาอังกฤษ (University College of London) ที่ได้ออกมาประกาศความสำเร็จในการใช้ยาแก้ไอ Ambroxol รักษาโรคสมองเสื่อม อย่างไรก็ตามแม้ว่ายาแก้ไอดังกล่าวจะสามารถป้องกันและชะลอ รวมไปถึงการรักษาให้กลับมาปกติหรือเกือบปกติได้ แต่ก็อย่าลืมเรื่องของการ 'ระงับการอักเสบ' ที่เกิดขึ้นที่จะไปจุดชนวนให้เกิดการอักเสบและลุกลาม

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ จึงได้นำพารายการ "Talk Wave" ทาง Radio Thailand 95.5 FM มาพูดคุยกับ “อาจารย์ถกลรัตน์ ทักษิมา” อาจารย์ประจำหลักสูตรการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIM-DPU) เรื่อง "งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสมบัติของสาร Astaxanthin ที่มีผลต่อการบรรเทาความรุนแรงของโรคสมองเสื่อม - อัลไซเมอร์" โดยโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของภาวะสมองเสื่อมทั่วโลก และเชื่อว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 6-7 แสนคนในประเทศไทยที่มีภาวะสมองเสื่อมขณะนี้...

โดยโรคอัลไซเมอร์นี้จัดเป็นอาการสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคสมองเสื่อมที่เรียกว่า “Dementia” โดยคิดเป็นร้อยละ 50-60 ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียความทรงจำ (Loss of Memory) รวมถึงความนึกคิดและความมีเหตุผล (Cognition) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย เช่นลืมทานข้าว ชอบพูดซ้ำๆ ถามคำถามซ้ำๆ สติปัญญาความเฉลียวฉลาดลดลง การดำเนินของโรคนี้จะค่อยเป็นค่อยไป ลักษณะทางพยาธิที่พบในสมองของผู้ป่วยโรคนี้คือ พบว่ามี senile plaques or amyloid plaques, neurofibrillary tangles และสูญเสียหน้าที่การทำงานของจุดที่มีการประสานการทำงานระหว่างเซลล์ประสาท (synapse loss)

Astaxanthin “แอสตาแซนธิน” สุดยอดสาร Super Antioxidant

อาจารย์ถกลรัตน์บอกว่า 'สารอนุมูลอิสระ' หรือ 'Free Radical' เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญที่เพิ่มความรุนแรงของ 'โรคอัลไซเมอร์' หรือ 'สมองเสื่อม' รวมไปถึงโรคต่างๆ เช่น ระบบหัวใจ หลอดเลือด ฯลฯ โดยในยุคปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยทางมลภาวะและสภาพแวดล้อมต่างๆ นับวันยิ่งส่งให้สารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มาก ทำให้แม้ว่ากลไกของระบบร่างกายมนุษย์จะมีการกำจัดแบบอัตโนมัติ แต่ก็ไม่สามารถกำจัดได้หมด

ฉะนั้นเพื่อลดภาวะความรุนแรงของผู้ที่มีอาการป่วย การเลือกทานสารแอสตาแซนธินจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี เนื่องจากเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ได้รับคำจำกัดความว่าเป็น 'Super Antioxidant' ในการช่วยบรรเทา

“สาเหตุของการเกิดโรคสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ เกิดจากการมีสารสื่อประสาท (neuro-transmitter) ในปริมาณลดน้อยลง หรือมากเกินไปจึงส่งผลให้เซลล์สมองมีปัญหาในด้านการสื่อสาร หรือถูกทำลายได้ หรือเกิดจากความผิดปกติของโปรตีนที่เกิดจากการสะสมและเกาะกลุ่มกันของแอมีลอยด์ บีตา (Amyloid beta) และโปรตีนผิดปกติอีกตัวคือโปรตีนเทา (Tau Protein) ที่ทำให้เกิด Neurofibrillary tangles ส่งผลต่อการทำลายระบบขนส่งสารในเซลล์ประสาทได้ รวมไปถึงสาเหตุจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน”

“แต่ภาวะที่สำคัญของร่างกายที่ทำให้มีความรุนแรงของการเกิดโรคต่างๆ ก็คือการเกิดภาวะออกซิเดทีฟ สเตรส (Oxidative Stress) ซึ่งเป็นภาวะเครียดออกซิเดชัน คือภาวะที่มีปริมาณของสารอนุมูลอิสระอยู่มากเกินไปและจะไปทำปฏิกิริยาดึงอิเล็กครอนออกจากโมเลกุลต่างๆ คือ DNA โปรตีน และไขมัน เป็นต้น และเนื่องจากในสมองเป็นโครงสร้างที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบจำนวนมากแต่มีสัดส่วนของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อเยื่ออื่นๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์บริเวณนั้นๆ จนทำให้ความรุนแรงของโรคมีมากขึ้น

“ทีนี้จากการศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสามารถชะลอการเสื่อมและตายของเซลล์ประสาทได้ รวมไปถึงแอสตาแซนธิน ซึ่งได้รับการรับรองจาก FDA ของสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงจากการรับประทาน ทั้งงานวิจัยในมนุษย์และสัตว์ทดลอง”


เห็นผลใน 1 อาทิตย์

อาจารย์ถกลรัตน์บอกอีกว่า นอกจากสารแอสตาแซนธินเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่มีสีแดงส้มจัดอยู่ในกลุ่มของแซนโทฟิลล์ (Xanthophyll) พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ เช่นพบในกุ้ง เปลือกปู ปลาแซลมอน ไข่ปลาคาเวียร์ ยีสต์สีชมพู แต่จะพบมากในสาหร่ายสีแดง “Haematococcus pluvialis” ซึ่งในประเทศไทยได้มีความพยายามศึกษาสารดังกล่าวจากเปลือกกุ้ง เนื่องจากในประเทศไทยไม่สามารถเพาะเลี้ยงสาหร่าย Haematococcus pluvialis ได้

“เราอาจจะสงสัยแล้วทำไมเปลือกกุ้งสดถึงไม่เห็นสีแดงหรือสีชมพู นั้นเพราะว่าสารแอสตาแซนธินมีหลายรูปแบบในธรรมชาติ ซึ่งจะมีการเกาะหรือจับตัวกันกับพวกโปรตีนหรือไขมันในโครงสร้างตามธรรมชาติ โดยในกุ้งสดแอสตาแซนธินไม่ได้อยู่แบบอิสระ แต่พอโดนความร้อนเกิด Protein denaturation หรือการสูญเสียสภาพธรรมชาติ ก็จะทำให้สารแอสตาแซนธินอยู่แบบอิสระและแสดงสีแดงหรือสีชมพูออกมานั้นเอง

“ดังนั้นเมื่อเรากินกุ้งหรือเปลือกกุ้งเข้าไปก็จะได้รับสารแอสตาแซนธินเข้าไป แต่ก็อาจจะไม่ได้รับในปริมาณที่เพียงพอ เราจึงต้องทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเข้าไป โดยปริมาณที่ควรทานให้เห็นผลจากประสบการณ์ส่วนตัวในคนรอบข้างปกติ 1 อาทิตย์ ก็เริ่มเห็นผล”

สวยและสุขภาพดี

อาจารย์ถกลรัตน์เสริมว่า 'สารแอสตาแซนธิน' ไม่เพียงแต่จะบรรเทาความรุนแรงของโรคสมองเสื่อมเพียงเท่านั้น จากงานวิจัยยังพบ 'คุณประโยชน์' ในสารดังกล่าวช่วยให้สุขภาพร่างกายของเราดีขึ้นเพราะช่วยในการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังช่วยลดภาวะรุนแรงในโรคต่างๆ อาทิ โรคหลอดเลือดและหัวใจ มะเร็ง ตับ ไต เบาหวาน ฯลฯ

“บางคนอาจจะทานเพื่อหวังเรื่องริ้วรอย ก็พบว่า ริ้วรอยตื้นขึ้น แต่งหน้าแล้วแป้งติดหน้าดีขึ้น” ผู้เชี่ยวชาญย้ำ เพราะสารอนุมูลอิสระหลังเข้าสู่ร่างกายสามารถที่จะกระจายไปอยู่ทั่วร่างกาย และเมื่อเข้าไปจับอยู่ในส่วนของบริเวณไหนก็จะไปทำให้ 'เซลล์' หรือ 'สารชีวโมเลกุล' จุดนั้นๆ เกิดการเสื่อมสภาพและเสีย”

โดยสารแอสตาแซนธินนั้นยังมี 'คุณสมบัติพิเศษ' ในการกำจัดอนุมูลอิสระที่เหนือกว่า สารต้านอนุมูลอิสระในธรรมชาติชนิดอื่น อย่างเช่น มากกว่าวิตามิน C 6,000 เท่า วิตามิน E และสารสกัดจากชาเขียว 550 เท่า โคเอนไซด์คิวเท็น 800 เท่า เบต้าแคโรทีน 40 เท่า และสารสกัดจากเมล็ดองุ่น 17 เท่า ฯลฯ เนื่องจากโครงสร้างของสารแอสตาแซนธินเป็นแบบโพลิอิน คือมีพันธะคู่สลับกับพันธะเดี่ยว

“นอกจากนี้ที่ปลายของวงแหวนทั้งสองข้างของแอสตาแซนธินมีหมู่ไฮดรอกซิลอยู่ซึ่งสามารถให้ไฮโดรเจนกับอนุมูลอิสระได้เช่นกัน (ปลายทั้งสองข้างมีสมบัติความมีขั้วซึ่งละลายน้ำได้) ทำให้แอสตาแซนธินสามารถจับกับอนุมูลอิสระได้ทั้งส่วนที่ชอบน้ำและชอบไขมันได้ภายในโครงสร้างของเซลล์ต่างๆ”

“เมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินอี คนถึงบอกว่าสารแอสตาแซนธินนั้นมีคุณสมบัติมากกว่า 550 เท่า เพราะวิตามินอีจะมีคุณสมบัติที่กำจัดอนุมูลอิสระที่ชอบไขมัน ส่วนวิตามินซีที่เรารู้กันดีนั้นสามารถละลายได้ในน้ำและไม่ละลายในไขมัน ดังนั้นเวลาอยู่ในโครงสร้างของเซลล์ต่างๆ เขาก็จะกำกัดอนุมูลอิสระได้เฉพาะในน้ำ แต่เมื่อเราทานแอสตาแซนธินซึ่งทำได้ทั้ง 2 แบบ จึงสามารถกำจัดได้ในทั้ง 2 ส่วน ซึ่งนั้นเป็นที่มาของชื่อ Super Antioxidant นั้นเอง” อาจารย์กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น