เกียวโดนิวส์ (19 มี.ค.) ญี่ปุ่นจะเริ่มการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายที่เรียกว่า PFAS แหล่งข่าวของรัฐบาลระบุเมื่อวันจันทร์ หลังจากการตรวจพบสารเคมีเหล่านี้ทั่วประเทศกระตุ้นให้เกิดความกังวลในหมู่ประชาชนท้องถิ่น
รัฐบาลเผยผลการตรวจพบสาร PFAS ในระดับความเข้มข้นสูงในสถานที่ใกล้กับกองกำลังป้องกันตนเองและฐานทัพสหรัฐฯ ตลอดจนพื้นที่อุตสาหกรรม
PFAS หรือสารโพลีฟลูออโรอัลคิล เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และมีคุณลักษณะที่สามารถต้านความร้อน น้ำมันและน้ำได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้นำสารเคมีนี้มาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่พบได้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น เสื้อผ้ากันน้ำ และกระทะเคลือบสารกันติด
ทว่าประโยชน์ของสาร PFAS นี้กลับมาพร้อมกับความเสี่ยงเชื่อมโยงกับปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ
นักวิจัยบางคนเตือนถึงผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ รวมถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็ง การศึกษานี้ผลกระทบนี้จึงมีขึ้น วางแผนไว้เป็นเวลา 3 ปีตั้งแต่ประมาณเดือนมิถุนายน จะดำเนินการโดยสถาบัน 3 แห่ง
ในการศึกษานี้ มหาวิทยาลัยฮอกไกโดจะใช้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความเข้มข้นของ PFAS 39 ชนิดที่มีอยู่ในเลือดของคนประมาณ 700 คนตั้งแต่ระยะทารกในครรภ์จนถึงวัยรุ่นตอนปลาย เพื่อตรวจสอบผลกระทบของสารต่อการเผาผลาญไขมันและการพัฒนาของพวกเขา
มหาวิทยาลัยการแพทย์เฮียวโงะจะทำการทดลองกับหนูเพื่อตรวจสอบว่าสารดังกล่าวไปกดระบบภูมิคุ้มกันและลดประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนหรือไม่ ในขณะที่สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งชาติจะพยายามชี้แจงกลไกของความเป็นพิษในระดับโมเลกุล
การศึกษาที่นำโดยรัฐบาลนี้เกิดขึ้นในขณะที่สภาท้องถิ่น 12 แห่งทั่ว 8 จังหวัดเรียกร้องให้สภาฯ ดำเนินการเพื่อจัดการกับการปนเปื้อน หลังจากตรวจพบ PFAS ที่มีความเข้มข้นสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในส่วนต่างๆ ของประเทศ
มีการรายงานระดับที่เกินมาตรฐานของรัฐบาลใกล้กับฐานทัพอากาศโยโกตะทางตะวันตกของโตเกียว และฐานทัพเรือสหรัฐฯ ในเมืองโยโกสุกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโตเกียว รวมถึงในช่องทางระบายน้ำในสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดฟุกุชิมะ และพื้นที่โดยรอบโรงงานเคมีในจังหวัดชิซุโอกะ
PFAS เป็นคำทั่วไปสำหรับกลุ่มสารเคมีสังเคราะห์กว่า 10,000 ชนิด ซึ่งรวมถึง PFOS หรือกรดเพอร์ฟลูออโรออกเทนซัลโฟนิก และ PFOA หรือกรดเพอร์ฟลูออโรออกตาโนอิก
PFAS เป็นสารมลพิษอินทรีย์ที่คงอยู่ตลอดไป มีฉายาว่า “สารเคมีชั่วนิรันดร์” (forever chemicals) เนื่องจากแทบจะทำลายไม่ได้ ไม่ย่อยสลายเมื่อเวลาผ่านไป แตกต่างจากสารเคมีอื่นๆ จึงสะสมในสิ่งแวดล้อมและร่างกายมนุษย์ได้
ในปี 2561ญี่ปุ่นสั่งห้ามการผลิตและนำเข้าสาร PFOS สำหรับการใช้งานทั้งหมด ซึ่งมักใช้ในถังดับเพลิงโฟม รวมถึงสารที่จัดอยู่ในประเภท PFOA และล่าสุด กรดเปอร์ฟลูออโรเฮกเซนซัลโฟนิก หรือ PFHxS ได้ถูกเพิ่มเข้าไปในรายการต้องห้ามในปี 2566
สื่อต่างประเทศรายงานว่า แม้งานวิจัยที่ผ่านมายังไม่อาจสรุปได้ว่า สาร PFAS ที่เป็นสารเคลือบเครื่องครัวเทฟลอน และใช้ในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น สี กาว กระดาษ เสื้อกันฝน บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นสารก่อมะเร็งและส่งผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่ แต่ความที่ไม่ย่อยสลาย ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่าหากไม่จำกัดปริมาณการใช้สาร PFAS เสียแต่บัดนี้ จะเกิดผลร้ายต่อมนุษย์ในอนาคตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ผลการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์สวีเดนยังชี้ว่า พบการปนเปื้อนในน้ำฝนที่ตกลงมาทั่วโลก ซึ่งสูงเกินระดับปลอดภัยมาก ขณะนี้ไม่มีสถานที่แห่งใดบนโลกปลอดสาร PFAS อีกแล้ว