หลักสูตรการจัดการ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIBA-DPU) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรัญญา ปานเจริญ หัวหน้าหน่วยการเรียนรู้ในรูปแบบโมดูล การบริหารการตลาดและความมั่งคั่งในการประกอบการ นำทีมจัดโครงการบรรยายพิเศษ หัวข้อ "ประสบการณ์และการแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจ" เมื่อวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์การเรียนรู้และหอสมุด โดยเรียนเชิญ ดร.นพชัย ถิรทิตสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอีโนวา เป็นวิทยากรมอบความรู้แก่นักศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงการสร้างธุรกิจ และแนวคิดการนำไปต่อยอดสร้างธุรกิจของตัวเองในอนาคตให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งการบรรยายนี้อยู่ภายใต้โครงการบูรณาการการเรียนการสอนร่วม 3 รายวิชา ได้แก่ วิชา MS310 การบริหารเงินและความมั่งคั่งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม MS316 การบริหารการตลาดอย่างสร้างสรรค์ และ MS401 หัวข้อพิเศษเกี่ยวกับการเริ่มต้นการประกอบการธุรกิจและนวัตกรรม
“ดร.นพชัย ถิรทิตสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอีโนวา ได้เริ่มต้นแชร์ประสบการณ์ ‘เคล็ดลับความสำเร็จ’ ลำดับแรก งของบริษัท Enova ที่กำลังเติบโตจากระดับ SMEs และกำลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ในอีก 3 ปีข้างหน้า คือ ‘คิดและลงมือ’ ตั้งแต่อายุน้อยๆ ช่วยเปิดโอกาสโลกทางธุรกิจ เช่นตัวเขาเองในช่วงแรกที่หลังเรียนจบจากคณะวิศวะ ไฟฟ้า ม.เกษตรฯ ใช้เวลาอยู่เพียง 6 ปีเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านการเป็นลูกจ้างจนมั่นใจ
จากนั้นร่วมกับเพื่อนสนิท 2-3 คนตั้งบริษัท Enova ในปี 2544 และดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทน โดยมีบิลคำสั่งซื้อทั้งหมดในปีแรกอยู่ที่ 6 แสนบาท ก่อนที่ปีต่อมาจะขยับเป็นเท่าตัวและแตะที่ 1 ล้านบาท กระทั่ง 10-20 ล้านบาทในช่วงระยะเวลา 10 ปี จากความสดใหม่ที่ไม่มีใครเล็งเห็นความสำคัญ ประกอบกับ ‘ความชำนาญ’ ที่ร่ำเรียนมาเฉพาะทางเป็นจุดแข็ง
“อย่ารอให้อายุมากแล้วกระโดดลงมา ช่วงวัยเด็กยังไม่มีภาระมากเราสามารถเสี่ยงได้ ถ้าทำแล้วพลาดอายุ 30 ยังกลับไปเป็นลูกจ้างได้ ผิดกับอายุ 35-40 ปี ที่อาจจะช้าไป ดังนั้นถ้าใจอยากเป็นผู้ประกอบการหาจุดตัวเองให้ได้และเริ่ม ถ้าเราไม่ลง ไม่มีทางที่จะเห็นตลาดเขามะรุมมะตุ้มกันยังไง แต่อย่าทำจนเสี่ยงมาก เงินทุนก้อนแรกๆ เรายังเด็กไม่มีใครให้กู้ ทุนหลักมาจากตังค์ตัวเอง ดังนั้นค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะถ้าล้มช่วงวัยรุ่น ในอนาคตจะกู้ลำบาก” เขากล่าว
สำหรับมือใหม่ “ดร.นพชัย” แนะนำขั้นช่วงเริ่มต้นควรที่จะใช้หลักทฤษฎีของ ‘Michael E. Porter’ ที่แบ่งกิจกรรมองค์กรออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ และกลยุทธ์สร้างความแตกต่าง โดยเริ่มจากการรู้จักจุดแข็งหรือความสามารถหลักของบริษัทตัวเองก่อน จากนั้นเขียนแผนการตลาด 1-2-3-4-5 ว่าจะใช้ความสามารถดังกล่าวไปตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างไรได้บ้าง
ต่อมาในลำดับที่สอง “ดร.นพชัย” เผยว่า ความสำเร็จของบริษัท Enova คือ ‘การรีเฟรชความรู้’ และไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ที่ส่งให้ยอดขายทะลุจากตัวเลขหลักสิบล้านบาท สู่ 100 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาทอย่างก้าวกระโดด
โดยจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นขณะที่ดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 10 ที่ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย ‘ทว่าการเติบโตกลับนิ่ง’ นอกจากนี้ เมื่อคิดจะพัฒนาองค์กรให้เติบโต ครั้นไปเจรจากับธนาคารเพื่อขยายธุรกิจ ‘แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ’ แม้ทุกอย่างจะพัฒนาก้าวหน้า เข่น พนักงานที่เพิ่มจากหลักหน่วยมาเป็นจำนวนกว่า 20 ชีวิต หรือประสบการณ์ทางเทคนิคในเรื่องพลังงานที่เป็นที่น่าเชื่อถือของคู่ค้า ฯลฯ
ในปี 2554 ดร.นพชัยจึงตัดสินใจเรียนต่อ ป.โท หลักสูตรการจัดการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ Information Technology Business Management ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยได้นำหลักการเรียนเรื่อง Knowledge Management หรือ KM มาจัดการรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ที่กระจายในตัวบุคคลหรือเอกสารไว้ที่ที่เดียว ทำให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงได้และเกิดการพัฒนาของพนักงานที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนดันยอดขายก้าวกระโดดขึ้นสู่ในระดับ 100 ล้านบาท
และจากประสิทธิภาพดังกล่าว ในปี 2566 ดร.นพชัยจึงไม่รอช้า ตัดสินใจลงเรียนเพิ่มทันทีในหลักสูตร MBA บริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และนำความรู้มาใช้เช่นเคย โดยครั้งนี้นำในเรื่อง การตลาดแบบดิจิทัล การบริหารซัปพลายเชนแบบบูรณาการ เทคโนโลยีด้านการเงิน การจัดการนวัตกรรม รวมทั้งการบริหารองค์กรและบุคคล มาตอบสนองความต้องการของลูกค้า และได้นำพาสู่ยอดขายทะลุเพดานที่สูงถึง 1,000 ล้านบาท
“เรียนจบ MBA เหมือนเราเป็นหมออายุรกรรมที่สามารถวินิจฉัยโรคคร่าวๆ ได้ทุกเรื่อง เพราะมันเป็นวิชาที่เอาทุกวิชาที่ร่ำเรียนมารวมกันและวางแผนร่วมกัน ทำให้เราได้เห็นโครงสร้างของทั้งองค์กรมันเชื่อมโยงกันหมด เวลาเกิดปัญหาเราก็จะรู้ว่ามันจุดไหน เราก็แก้ได้ไวความเสียหายก็น้อยลง”
“ส่วนเวลาจะพัฒนาอะไรเราก็มีตัวเลขที่ชัดเจนที่สามารถทำให้เข้าหาแหล่งเงินทุนอย่างธนาคารได้ง่าย เพราะธนาคารดูตัวเลขด้านการเงินบนพื้นฐานที่เราดำเนินกิจการมาทั้งหมด และที่สำคัญ เราต้องมีวินัยทางการเงินที่ดี มีระบบระเบียบ การที่เราคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง คิดเอาเองว่าเน้นเรื่องทางด้านเทคนิคเยอะๆ จะสร้างจุดแข็งให้ตัวเองดูน่าเชื่อถือ แต่ยิ่งธนาคารงง เราก็ยิ่งลำบาก ยิ่งไม่ผ่านการอนุมัติ”
“นี่คือ Key ที่สำคัญที่ทำให้เราคมขึ้นเรื่องของการเรียนรู้” เขาย้ำ สิ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามในหลัก ‘ทฤษฎี’ ที่มีประโยชน์ เพราะคือกระบวนการปฏิบัติที่คนอื่นๆ ใช้งานกันมาจนกระทั่งพิสูจน์ทราบและมีผลลัพธ์ชัดเจน ทั้งในแง่การแก้ปัญหาและการสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ
ดร.นพชัยเสริมอีกว่า เรียนนั้นสำคัญจริงๆ และสามารต่อยอดไปได้ในทุกๆ มุม เริ่มจากถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์ ยอด Return ถือว่าคุ้มมากสำหรับการเรียน ป.โท 2 แสนกว่าบาทแต่เรียนแล้วนำกลับมาพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ผลของการเรียนยังส่งต่อในเรื่องของ ‘คอนเนกชัน’ ซึ่งเป็นลำดับที่ 3 ของก้าวแห่ง ‘ความสำเร็จที่ยั่งยืน’ ตลอดชีวิต เพราะจะช่วยทำให้เรานั้นผ่านพ้นอุปสรรคหรือวิกฤตที่เจอด้วยดีท่ามกลางโลกที่หมุนไวเช่นนี้
“ความรู้ที่ตัวเราบางทีอาจจะไม่เพียงพอในการทำธุรกิจ เพราะโลกเราในวันนี้มันไปไวมาก ดังนั้น การที่เรามาเรียนเรามีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาทั้งชีวิตจึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะอาจารย์ก็คืออาจารย์ ท่านสอนเราจบไปแล้วท่านก็ยังเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นที่ปรึกษา เจอะเจอปัญหาหรือวิกฤตอะไรก็แก้ไขได้ตรงและถูก
“อย่างผมที่ปรึกษาพูดคุยกับท่านคณบดี ดร.รชฏ ขำบุญ นี่ก็เพิ่งสอบถามมีคอร์สสั้นๆ ให้เรียนอีกไหม เพราะหลังจากที่จบ ป.เอก เรื่องของการสร้างองค์กรให้ยั่งยืนในการทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม และนำกลับมาบริษัท Enova ที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 3 ปีข้างหน้า เราก็ยังต้องพัฒนากันต่อไป เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในให้เกิดก๊าซคาร์บอนฯ น้อยที่สุด และสร้างพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อประเทศไทยภูมิภาคอาเซียนเรา”
“ดังนั้น คิดและลงมือทำ การรีเฟรชความรู้ให้ก้าวทันอยู่เสมอนั้นสำคัญ และหากมีโอกาสเรียนให้เรียน เพราะมันคือการทำให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหา ก็อยากจะฝากถึงนักศึกษาให้คำนึงถึงจุดนี้” ดร.นพชัยกล่าวทิ้งท้าย