อเด็คโก้เปิดตัวคู่มืออัตราเงินเดือนปี 67 กว่า 900 ตำแหน่งในไทย พร้อมผลสำรวจ Salary & Work Trend จากคนทำงานกว่า 2,400 คนทั่วประเทศ แนะองค์กรปรับโครงสร้างให้คล่องตัว และเน้นดึงดูดและรักษาพนักงานด้วยนโยบาย Remote/ Hybrid work และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง (Strong Company Culture)
บริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย HR Solutions Provider ผู้นำระดับโลกด้านการให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร เปิดตัว Adecco Thailand Salary Guide หรือคู่มืออัตราเงินเดือน ประจำปี 2567 อย่างเป็นทางการในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยในปีนี้นอกจากจะมีข้อมูลอัตราเงินเดือนของพนักงานตำแหน่งต่างๆ ในประเทศไทยกว่า 900 ตำแหน่งแล้ว ยังมาพร้อมกับผลสำรวจความคิดเห็นของคนไทยทั่วประเทศกว่า 2,450 คน เกี่ยวกับความพึงพอใจด้านเงินเดือนและสวัสดิการขององค์กรที่ตนเองสังกัด และความรู้สึกต่อเทรนด์การทำงานต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา
คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดแรงงานไทยในช่วงปีที่ผ่านมาค่อนข้างคึกคัก หลายธุรกิจฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการซึ่งกระจายการจ้างงานไปทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย มีการเพิ่มขึ้นของรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า gig economy หรือระบบเศรษฐกิจจากการรับงานเป็นชิ้นหรือเป็นครั้ง และมีการเปลี่ยนรูปแบบจากการจ้างงานประจำมาเป็นสัญญาจ้างตามระยะเวลาหรือฟรีแลนซ์มากขึ้นเพื่อให้องค์กรมีความคล่องตัว โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง และดีลิเวอรี
ในเรื่องของเงินเดือนและทักษะมาแรงพบว่า เงินเริ่มต้นของตำแหน่งต่างๆ ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก ในขณะที่เพดานเงินเดือนมีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามสภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และเป็นผลจากการแย่งชิงทาเลนต์ เช่น คนทำงานในระดับประสบการณ์ 0-3 ปี เงินเดือนสูงสุดที่ได้รับสูงถึง 100,000 บาท จากเดิมที่มีคนเคยได้ 80,000 บาทในปีที่ผ่านมา โดยเป็นเงินเดือนในตำแหน่ง Software Engineer ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อองค์กรในปัจจุบันที่นำซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้อย่างเข้มข้นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และหากมี soft skills ด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย องค์กรก็พร้อมจะจ้างด้วยอัตราเงินเดือนสูงกว่าอัตราทั่วไปของตลาด ส่วนเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง อาจสูงถึง 600,000 บาทหรือมากกว่า เช่น ตำแหน่ง Medical Director ในธุรกิจ Healthcare หรือ ตำแหน่ง Managing Director ในอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งสองธุรกิจเติบโตเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจด้านสุขภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งระดับสูงอื่นๆ เช่น Chief Digital Officer และ Chief Technology Officer ที่เงินเดือนอาจสูงถึง 500,000 บาทหรือมากกว่า ในภาพรวมตำแหน่งที่มีความต้องการสูง และได้เงินเดือนดีคือ ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและเทคโนโลยี ซึ่งต้องการคนที่มีทักษะเฉพาะหรือมีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งอาจจะยังมีไม่เพียงพอในตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ผลสำรวจ Salary and Work Trend Survey จากผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 2,456 คน ซึ่งสำรวจในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยังเป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นภาพรวมของตลาดแรงงานได้ชัดเจนขึ้น เช่น
• คนทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ หรือ 67% รู้สึกมั่นคงในอาชีพมากกว่าเดิม โดยเฉพาะคนในอุตสาหกรรมไอที อสังหาริมทรัพย์ และบริการเฉพาะด้านการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นสามอุตสาหกรรมที่มองว่าธุรกิจที่ตนเองสังกัดกำลังเติบโตมากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีในองค์กรที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ทำให้คนกล้าใช้เงินซื้อสินทรัพย์หรือพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น รวมถึงการหันมาใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรได้อย่างทันท่วงที
• คนทำงาน 36% บอกว่าตนเองกำลังมองหางานใหม่อย่างจริงจังในช่วงปีนี้ ในขณะที่ 54% บอกว่าพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ
• คนที่ต้องการเปลี่ยนงาน 60% คาดหวังการได้เงินเพิ่มมากกว่า 20% จากงานใหม่ และยิ่งมีอายุการทำงานน้อยก็จะมีสัดส่วนที่ต้องการเงินเดือนเพิ่มมากกว่าคนที่อยู่นานกว่า
• พนักงานในองค์กรขนาดใหญ่ (องค์กรขนาด 500 คนขึ้นไป) ให้คะแนนระบบพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กร (Learning & Development) ในระดับดี-ดีมาก ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนจากพนักงานในองค์กรขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แสดงถึงการให้ความสำคัญขององค์กรใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการ reskill/upskill ให้กับพนักงานจำนวนมาก เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ
• คนทำงาน 64% มองว่า CSR (Corporate Social Responsibility) / ESG (Environment Social Governance) เป็นหน้าที่ที่สำคัญลำดับต้นๆ ขององค์กร
• ทักษะด้านดิจิทัลและความเป็นผู้นำ เป็นทักษะอันดับหนึ่งร่วมกันที่คนทำงานกว่า 60% ต้องการพัฒนา โดยมองว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพได้มากที่สุด โดยทักษะด้านดิจิทัลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งหรือระดับใดในยุคปัจจุบัน ในขณะที่ทักษะความเป็นผู้นำก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้สามารถบริหารทีมงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• คนทำงาน 74% มองการเกิดขึ้นของ Generative AI เช่น ChatGPT ในแง่ดี และมีคน 45% ที่ใช้ Generative AI ช่วยในการทำงานเป็นประจำ มีเพียง 24% ที่รู้สึกกังวลว่าอาจโดน AI แย่งงานใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานพาร์ตไทม์ คนที่กำลังว่างงาน และผู้บริหาร ทั้งนี้เนื่องจาก Gen AI สามารถทำงานได้หลากหลายและช่วยจัดการงานตั้งแต่งานเล็กๆ อย่างการแปลภาษา งานออกแบบ ทำกราฟิก จนไปถึงการวางโครงงานของโปรเจกต์ต่างๆ ได้ ทำให้คนที่ทำงานพาร์ตไทม์ที่อาจรับงานเป็นชิ้นงาน อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ในขณะที่ผู้บริหารอาจเกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทัน ไม่รู้วิธีใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจกังวลว่า ด้วยข้อมูลที่มีมากกว่า และความสามารถในการประมวลผลที่เร็วกว่า AI ก็อาจจะประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่าคนที่มีประสบการณ์สูง
คุณธิดารัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวโน้มตลาดแรงงานในปีนี้ที่บางธุรกิจอาจจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์ในการดึงดูดและรักษาพนักงาน ผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงควรพิจารณาปรับนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน เช่น การให้มี "นโยบาย remote / hybrid work" ต่อไป ซึ่งสถิติพบว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ผู้สมัครงานและพนักงานใช้พิจารณาในการร่วมงานกับองค์กรนั้นๆ และการทำงานแบบรีโมตช่วยให้องค์กรสามารถดึงดูดคนเก่งที่มีความสามารถจากทุกที่ทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะที่ตั้งของสำนักงาน การมีตัวเลือกการทำงานแบบรีโมตหรือไฮบริดจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดึงดูดและรักษาทาเลนต์ในปี 2024 อีกเรื่องหนึ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญคือ การสร้าง "วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง" (Strong Company Culture) เพราะการสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งส่งผลให้พวกเขามีความผูกพันและต้องการอยู่กับองค์กรในระยะยาว ทาเลนต์คุณภาพมักจะมองหาองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงค่านิยมและเป้าหมายที่ตรงกับตนเองและสะท้อนถึงความรับผิดชอบทางสังคมแบบยั่งยืน (โดยเฉพาะ Gen Z ที่เป็นแรงงานรุ่นใหม่) การทำงานแบบทีม การแบ่งปันความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การส่งเสริมความหลากหลายและการรวมกลุ่ม ความยืดหยุ่นในการทำงาน พนักงานที่มีความสุขและพึงพอใจมักจะทำงานได้ดีขึ้น และสามารถช่วยลดอัตราการเปลี่ยนงานของพนักงาน ซึ่งเป็นการประหยัดทรัพยากรและเวลาที่จะต้องใช้ในการสรรหาและฝึกฝนพนักงานใหม่ โดยเฉพาะในยุคที่การทำงานมีความยืดหยุ่นและการเชื่อมต่อทางดิจิทัลจนกลายเป็นปกติองค์กรต้องเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ Gen AI รวมถึงนโยบาย Wellbeing ที่ดูแลสุขภาพกายและจิตของพนักงานไปพร้อมกัน รวมถึงส่งเสริมให้พนักงานได้มีเส้นทางการเติบโตและมีโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตามต้องการ และสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการมี competitive salary ที่ผลสำรวจพบว่าเป็นปัจจัยที่ผู้สมัครงาน 94% ใช้พิจารณาในการร่วมงานกับองค์กรหนึ่งๆ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนของตำแหน่งต่างๆ ได้จากการเช็กข้อมูลจาก Salary Guide และติดตามข่าวสารตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิด
ด้านคุณไซม่อน แลนซ์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสรรหาทรัพยากรบุคคล อเด็คโก้เอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงภาพรวมตลาดแรงงานในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า ในปีที่ผ่านมาองค์กรทั่วภูมิภาคได้เจอกับความท้าทายหลายประการซึ่งส่งผลต่อการปรับกลยุทธ์การจ้างงาน ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้สมัครงาน หลายองค์กรไม่สามารถรับผู้สมัครได้ทันทีและมีกระบวนการต่อรองเงินเดือนที่ยาวนานขึ้น การรักษาให้ยังคงอยู่กับองค์กรจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ปัญหาต่อมาคือการขาดแคลนทาเลนต์ในระดับผู้บริหาร โดยเฉพาะผู้บริหารที่เข้าใจเทคนิคการทำงานร่วมกับคนหลากหลายวัฒนธรรม และสุดท้ายคือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทักษะสำคัญต่อการทำงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งส่งผลให้หัวหน้างานต้องสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทักษะให้พนักงานเก่ากับการสรรหาพนักงานใหม่ที่สามารถใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในการทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อให้ทีมยังคงทำงานร่วมกันได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ในด้านรูปแบบการทำงาน พบว่าการทำงานแบบรีโมตยังคงเป็นรูปแบบที่คนคาดหวังมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังในกระบวนการสรรหาที่คนต้องการสมัครงานออนไลน์ได้ 100% ตั้งแต่การสมัครไปจนถึงการเริ่มงานวันแรก หรือความคาดหวังต่อการใช้นโยบายรีโมตต่อไป นำไปสู่การตั้งคำถามต่อนโยบายเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้ทาเลนต์หลายคนหันมาทบทวนและพิจารณาอีกครั้งว่ายังอยากร่วมงานกับองค์กรนั้นๆ หรือไม่
สำหรับการคาดการณ์ในปีนี้ เชื่อว่าหลายองค์กรจะมีการปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่องจาก digital disruption โดยเพิ่มการจ้างงานในรูปแบบ partnership & outsourcing หรือการจ้างคนและทีมงานภายนอกเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับองค์กร ซึ่งการปรับโครงสร้างองค์กรในลักษณะนี้ยังส่งผลให้ธุรกิจ career transition & outplacement ที่เชี่ยวชาญในการปรับโครงสร้างองค์กรและการเลิกจ้างเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงเชื่อว่าการแย่งชิงตัวทาเลนต์จะคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตำแหน่งดิจิทัล AI และพลังงานทดแทน เพื่อรองรับแนวทางการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต