xs
xsm
sm
md
lg

ตบปาก “ท่านชายพระตะแบง” บิดเบือนความจริงคดีพันธมิตรฯ มโน “บ้านคุณยาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” ตบปาก “พิธา” และอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์สื่อบิดเบือนคดีพันธมิตรฯ ปี 51 เปรียบเทียบคดีชุมนุมสกายวอล์กปี 62 ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกัน ชี้ยุคพันธมิตรฯ ยังไม่มี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พันธมิตรฯ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ขับไล่รัฐบาลทุจริต แนะเอาเวลาไปศึกษาข้อกฎหมาย สู้คดีจะได้ไม่แพ้ตลอด ชี้มโนเรื่อง “บ้านคุณยาย” วาดภาพเลียนแบบแต่บรรยายเหมือนภาพวาดคิดขึ้นเอง สะท้อนความจอมปลอม กลับกลอก คงมีแต่ติ่งด้อยปัญญาที่ยังลุ่มหลง



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณี เมื่อวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลแขวงปทุมวัน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ได้อ่านคำพิพากษาจำเลย 8 คนที่เป็นผู้จัดการชุมนุม และชักชวนคนมาร่วมกิจกรรม “ไม่ถอยไม่ทน” ของอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่เมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2562 โดยจำเลย 8 คน  เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับพวก


โดยศาลตัดสินว่า นายธนาธร และพวก มีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากจัดการชุมนุมในระยะไม่เกิน 150 เมตร จากพระราชวัง พิพากษาลงโทษจำคุก 4 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท โดยให้รอลงอาญา 2 ปีและศาลปรับในคดีพินัย, ฐานไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่เป็นเงินคนละ 10,000 บาท และฐานใช้เครื่องขยายเสียงอีก 200 บาท โดยจำเลยทั้งหมดยื่นต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์ต่อไป

ภาพการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562
หลังฟังคำพิพากษา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองว่า คดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมที่สนามบิน มีโทษเพียงปรับ 20,000 บาท โดยไม่มีโทษอื่น แต่พวกตนชุมนุมที่สกายวอล์กสี่แยกปทุมวัน กลับถูกตัดสินจำคุก 4 เดือน ทั้งที่ไม่ได้สร้างความเสียหายใด ๆ

ขณะที่ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ของกลุ่มนายธนาธร และนายพิธาก็กล่าวว่า “ผมยกตัวอย่างว่าสมมติว่าผิด คุณยึดสนามบินศาลอาญาปรับแค่ 20,000 บาท แต่ทำไมไปสกายวอล์กศาลก็บอกว่าชุมนุมสั้นๆ หากจะขัดขวางจริงก็อาจจะนิดหน่อยในช่วงเวลา 45 นาที แต่ทำไมลงโทษจำคุกตั้ง 4 เดือน ผมว่ามันไม่ได้ผิดปกติแต่มันเป็นคำวินิจฉัยที่ผมรับไม่ได้”

“ทนายด่าง” นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนายธนาธร และ ทนายอาวุโสของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ค่ายเดียวกับอานนท์ นำภา)
“ทนายด่าง” หรือ กฤษฎางค์ นุตจรัส เป็นคนเดือนตุลาฯ เป็นอดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเวลานั้น เรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ มีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ ปัจจุบันอายุ 66 ปี และเป็นทนายอาวุโสให้กับศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน

ตบปาก “พิธา-ทนายด่าง” ก็เพราะ “บิดเบือน-อ่อนหัด” สู้คดีถึงแพ้แล้วแพ้อีก

เมื่อคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของ นายพิธา กับทนายความมีการพาดพิงไปถึงคดีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะอดีตแกนนำ และอดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงต้องขอออกมาพูดเสียหน่อย เพราะการกล่าวให้สัมภาษณ์พาดพิงไปเปรียบเทียบกับคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้งว่า ศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ตัดสินให้ปรับ 20,000 บาท เสมือนว่ามีความไม่เป็นธรรม และบิดเบือนข้อเท็จจริงในหลายประเด็น


ทั้ง ๆ ที่ความจริง เป็นคนละเรื่องกันและเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย เกิดขึ้นคนละเวลา คนละสถานที่ ต่างสถานการณ์ ต่างสาเหตุ อีกทั้งข้อเท็จจริงก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ประการแรก มีการบิดเบือนหลายครั้งจนถึงปัจจุบันว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พันธมิตร) “ปิดสนามบิน” แต่การต่อสู้คดีหลายปีติดกัน 10 ปี แล้วศาลพิพากษาเห็นว่าพันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นผู้ปิดสนามบินเลย

เพราะการชุมนุมในพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ เขตนอกการบิน (Landside) ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ เขตการบิน (Airside) ใด ๆ เลย และการสืบจนได้ข้อยุติทั้งทางเทคนิคและกายภาพทั้งหมดก็มาจากการซักค้าน “พยานโจทก์“ ทั้งสิ้น นายธนาธร นายพิธา รวมไปถึงติ่งพรรคก้าวไกล จึงควรอัพเดตข้อมูล-ข้อเท็จจริง เสียที เลิกโกหก บิดเบือน สร้างวาทกรรมให้ร้ายดังที่พยายามทำกันมาหลายปีได้แล้ว


ประการที่สอง การชุมนุมของพันธมิตรฯ พิสูจน์จากเนื้อหาของการชุมนุมว่าเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยเป็นการทำหน้าที่ของประชาชนชาวไทย คือ การต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้างคดีทุจริตคอร์รัปชั่นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ปกป้องอธิปไตยของชาติ ต่อต้านการทุจริตซื้อเสียงโกงการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน

ซึ่งกาลเวลาผ่านมาได้พิสูจน์ด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาว่า “เนื้อหา” ที่ต่อสู้ดังกล่าวเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้สารภาพสำนึกผิดของ นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร ว่าได้กระทำผิดจริงด้วย การชุมนุมจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ

ดังนั้นการชุมนุมของพันธมิตรฯ จึงใช้สิทธิ และทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญด้วย “วิธีการ” ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็น “เสรีภาพ” ที่กำหนดเอาไว้ใน มาตรา 63 ซึ่งระบุเอาไว้ชัดเจนว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

ซึ่งหากจะมีการจำกัดขอบเขตของเสรีภาพในการชุมนุมและปราศจากอาวุธ หรือการลงโทษผู้ชุมนุมนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดให้ “มีกฎหมายเฉพาะการชุมนุมสาธารณะ” เท่านั้นจึงจะจำกัดขอบเขตได้ ซึ่งในขณะนั้น ในปี 2551ยังไม่มีกฎหมายชุมนุมสาธารณะใดๆ จะอาศัยกฎหมายฉบับอื่นมาลงโทษผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธไม่ได้ ประเด็นนี้ก็เป็นข้อกฎหมายเช่นกัน


ต่างจากในปัจจุบัน หรือ การชุมนุมที่พวกคุณจัดใน ปี 2562 ที่มีการตราพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พุทธศักราช 2558 แล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ นั้นมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการการชุมนุมอย่างละเอียดว่าสิ่งใดทำได้และทำไม่ได้ มีบทลงโทษอย่างไร ใครละเมิดก็ผิดกฎหมาย ใครทำถูกต้องตามกระบวนการก็ย่อมต้องถูกต้องตามกฎหมาย

ประการที่สาม อย่าคิดว่าคดีของพันธมิตรฯ จะชนะเสมอไป เพราะคดีการชุมนุมของพันธมิตรฯ หลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ที่มีการล่วงล้ำเข้าไปในสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที การเข้าไปชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล ศาลฎีกาก็ลงโทษจำคุกแกนนำไปแล้วเช่นกัน เช่นเดียวกับ คดีความแพ่งที่สั่งให้ยึดทรัพย์แกนนำฯ ดังนั้นพันธมิตรฯ จึงไม่ได้อภิสิทธิ์ใด ๆ และเราก็ยังคงใช้สิทธิต่อสู้และเคารพตามกระบวนการยุติธรรม ไม่เคยงอแงโวยวาย ทำผิดก็พร้อมรับผิดไปตามกระบวนการยุติธรรม


ประการที่สี่ นายปานเทพเองเคยมีประสบการณ์ถูกดำเนินคดีความในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในข้อหายื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมต่อประชาชนเรื่องกฎหมายปิโตรเลียม ที่หน้ารัฐสภา (เดิม) ว่าอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังเช่นกัน และถูกดำเนินคดีในอีกข้อหาว่าชุมนุมโดยไม่ได้อนุญาต ในกรณีความเข้าไปยื่นหนังสือเรื่องการเรียกร้องการปฏิรูปพลังงานที่หน้าทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ แปลว่ากฎหมายเหล่านี้ไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะพรรคก้าวไกล แต่คนอื่นก็สามารถถูกดำเนินคดีนี้ได้ตามกฎหมาย


โดยทั้ง 2 คดีที่นายปานเทพ ถูกฟ้องร้องนั้น หลายคนคิดว่า ไม่น่าจะชนะได้ แต่นายปานเทพ ก็แสดงหลักฐาน เป็นทนายให้ตัวเอง ซักค้านด้วยตัวเองอยู่นานจนชนะคดีความ แต่อัยการก็ยังไม่ยอมและได้อุทธรณ์ต่อนายปานเทพก็ต่อสู้จนชนะอีก ทำให้อัยการก็ไม่สามารถยื่นฎีกาต่อได้

เพราะฉะนั้น เห็นได้ชัดว่า “ทีมทนาย” ยกตัวอย่างเช่น “ทนายด่าง” นายกฤษฎางค์ นุตจรัส นี่เห็นได้ชัดว่า “อ่อนหัดมาก”

นอกจากนี้ เมื่อย้อนไปดูคดีอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ทนายอานนท์ นำภา ที่ติดคุกอยู่ก็เช่นกันขึ้นชื่อลือชาในหมู่นักเคลื่อนไหวว่า หาก “ทนายอานนท์” บอกให้สู้คดีไหน เห็นแววก่อนเลยว่าแพ้แน่ ตั้งแต่คดี “อากง” หรือ นายอำพล ตั้งนพกุล,คดีนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดม หรือ หนุ่ม เรดนนท์, คดีนายเอกชัย หงส์กังวาน จนถึงคดีของ ตัวทนายอานนท์ เอง


หลักฐานเชิงประจักษ์เหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า นอกจากจะชอบบิดเบือนข้อเท็จจริง, ทำตัวเป็นเด็กเลี้ยงแกะแล้ว ในทางกฎหมายก็ยังอ่อนประสบการณ์ และสู้ไม่ถูกประเด็น บางประเด็นก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จริงตามที่กฎหมายกำหนด

ที่สำคัญก็คือ เวลาเคลื่อนไหว มีจิตที่ไม่บริสุทธิ์ มีวาระซ่อนเร้นในการทำหรือไม่ทำอะไรตลอดเวลา ... อย่างนี้สู้ไปเรื่อย ๆ ยังไงก็แพ้


“ผมว่าเอาจริง ๆ นะ พวกคุณธนาธร คุณปิยบุตร คุณพิธา รวมไปถึงทีมทนายความ แทนที่จะใช้เวลามาสัมภาษณ์มั่วๆ บิดเบือนจากความจริงซึ่งทำได้แค่ปลุกระดมชั่วครั้งชั่วคราว แต่ก็ไม่สามารถชนะคดีได้อยู่ดี ลองใช้เวลากลับไปคิดทบทวนตัวเอง ทำการบ้าน อ่านคำพิพากษาแต่ละคดีย้อนหลังว่าเขาแพ้หรือชนะด้วยการต่อสู้อย่างไร น่าจะช่วยเพิ่มพูนปัญญาตัวเอง และเกิดประโยชน์กว่า” นายสนธิกล่าว

พิสูจน์ “พิธา” นักสร้างโลกมโน

พอเอ่ยถึงชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แล้ว ก็ต้องกล่าวต่อไปเลยแล้วกันว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องอื้อฉาวผุดขึ้นมาในโลกออนไลน์ คือ กรณีนักข่าวโซเชียลไปขุดโพสต์เก่าๆ ในอินสตาแกรม ของนายพิธา โดย ถึงแม้ว่าจะเป็นโพสต์ที่ผ่านมาหลายปีแล้ว แต่ก็ทำให้คนปะติดปะต่อ และ ตั้งคำถามถึง “อาการหลอกตัวเอง หลงตัวเอง” ของนายพิธาว่าน่าจะเป็นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นเอาเดี๋ยวนี้

ยกตัวอย่าง เฉพาะ 2 เรื่องล่าสุดที่เขาเอามาแชร์ และพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็น Talk of The Town


เรื่องแรก - มีคนไปเห็นโพสต์ Instagram ของนายพิธา เมื่อ วันที่ 14 มกราคม 2559 หรือ ประมาณ 8 ปีที่แล้ว เป็นภาพที่นายพิธา ถ่ายกับผลงานศิลปะ โดยเขียนแคปชั่นว่า

"I donate art for cancer ศิลปะเพื่อเป็นทุนรักษาโรคมะเร็งให้ผู้ป่วยที่ยากไร้ รูปนี้ผมวาดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รูปแม่ลูก เดินเล่น ชานเมืองปารีส (ขอให้ผลบุญไปหาลูกสาวที่กำลังจะเกิด) เพื่อน ๆ ที่รักศิลปะทุกท่านสนใจลองดูครับ"

ฟังและชมดูเผิน ๆ ก็น่าชื่นชมดี  แต่ที่กลายเป็นประเด็น Talk of The Town เพราะภาพที่นายพิธา ระบุว่าเป็นภาพที่ตนวาด แม่-ลูก เดินเล่นชานเมืองปารีส บรรยายเสมือนหนึ่งตัวเองนั่งอยู่แล้วมีแม่ลูกเดินผ่าน ก็เลยวาดภาพเก็บไว้

แต่ภาพนี้เป็นภาพวาดลอกเลียนแบบงานชิ้นสำคัญของ โกลด์ โมเนต์ จิตรกรชาวฝรั่งเศส ที่มีชื่อเสียงก้องโลก ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง 20


ทั้งนี้ ภาพ Woman with a Parasol - Madame Monet and Her Son เป็นภาพที่ โมเนต์ วาดไว้เมื่อปี ค.ศ.1875 หรือ พ.ศ.2418 โดยบุคคลในภาพคือภรรยา และลูกชายของเขา ที่กำลังเดินเล่นอยู่ในแถบชานเมืองอาร์ฌ็องเตย (Argenteuil) ประเทศฝรั่งเศส

ถ้านายพิธาวาดภาพเลียนแบบได้ขนาดนี้ก็ถือว่าพอมีฝีมืออยู่บ้าง ในกรณีที่วาดเองจริง แต่การที่ไม่เอ่ยอ้างถึงต้นฉบับ และ เจ้าของภาพเลยทั้ง ๆ ที่เขาเป็นจิตรกรระดับโลกก็ถือว่าน่าแปลกใจอย่างมาก

เรื่องที่สอง เป็นประเด็นสุดย้อนแย้ง

มีคนไปขุด โพสต์ Instagram ของนายพิธา มาอีกแล้ว เป็นโพสต์เมื่อ วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 หรือประมาณ 9 ปีที่แล้ว เป็นภาพอาคารโบราณหลังใหญ่โตที่นายพิธาอ้างว่าเป็น "บ้านเก่าคุณยาย" โดยนายพิธาเขียนแคปชั่นว่า “my grandmother used to live in this house almost 1 century ago บ้านเก่าคุณยาย”


ปรากฏว่า ภาพนี้ และแคปชันนี้ ก็ไม่รอดพ้นมือนักสืบโซเชียล พากันไปสืบหาความจริง ได้ความมาว่า บ้านหลังนั้นที่แท้เป็นอดีตศาลากลางจังหวัด แถมไม่ได้อยู่ในประเทศไทยด้วย แต่เป็นศาลากลางจังหวัดที่พระตะบอง ประเทศกัมพูชา และเคยเป็นทำเนียบที่พักของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์(ชุ่ม อภัยวงศ์) ที่ตอนนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาคทาธรธรณินทร์ เจ้าเมืองพระตะบอง ต่อมาอพยพกลับมาไทยพร้อมครอบครัว มาสร้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ จ.ปราจีนบุรี รูปร่างของตึกทั้งสองจึงคล้ายคลึงกันมาก

ส่วน ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง ประเทศกัมพูชา จะเกี่ยวข้องกับคุณยายของนายพิธา อย่างไรไม่ทราบ หรือว่าฝั่งแม่ของนายพิธานั้นมีเชื้อสายกัมพูชา อันนี้หลายคนก็เลยตั้งข้อสงสัย ?

ภาพบน - ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง ประเทศกัมพูชา ภาพล่าง - ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี
พอเรื่องนี้มีคนสงสัยเยอะ ศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์นิด้า ก็สงสัยมาก ก็เลยไปถามคนรู้จักในสกุล “อภัยวงศ์” ซึ่งเป็นลูกหลานของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์)

ปรากฏว่า ต่อมาเรื่องนี้ก็กลายเป็นเรื่องถามกันให้วุ่นในไลน์กลุ่มของลูกหลานตระกูลอภัยวงศ์เพราะไม่มีใครทราบเลยว่า นายพิธา มาเกี่ยวข้องเป็นญาติกับสกุลอภัยวงศ์ตอนไหน ?

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม)
ยกตัวอย่างเช่น นายคฑา อภัยวงศ์ หรือ คุณต๊ะ ปัจจุบันอายุ 88 ปี ซึ่งเป็นบุตรชายของ ท่านควง อภัยวงศ์ ได้ส่งข้อความผ่านกลุ่มไลน์ประจำตระกูล โดยมีสมาชิก 97 คน โดยข้อความดังกล่าวระบุว่า

“เรื่องคุณพิธา ถ้ามีใครถาม ตอบได้เลยว่า
1. ไม่ใช่บุคคลในตระกูลอภัยวงศ์
2. การแอบอ้างว่าเคยอยู่ในตึกในภาพ เป็นการโอ้อวดสร้างภาพฐานะ ตามปกตินิสัยเขมร เพราะแม้แต่เคยอยู่ในบริเวณจวนเจ้าเมืองก็ยังไม่มี
3. ตึกที่พระตะบอง เป็นที่ทำการของฝรั่งเศส มากว่า 120 ปี คุณยายเกิดแล้วหรือยัง ….”


นอกจากนี้ อ.ตรีดาว อภัยวงศ์ อ.ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ลูกหลานตระกูลอภัยวงศ์ ยังออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ด้วยว่า “เรื่องคุณพิธา กับคำกล่าวที่ว่า #บ้านเก่าคุณยาย “My grandmother used to live in this house almost 1 century ago” และถ่ายภาพตึกที่เป็นของ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ต้นตระกูล ”อภัยวงศ์“ ทำเอา 2 วันนี้ ตรีดาวและญาติๆ ชุลมุนกันมากว่าจะตอบคำถามที่มีคนมาถามว่า “เป็นญาติกันหรอ อย่างไร สายไหน”


เลยขออธิบายแบบนี้นะคะ


1. คุณยายคุณพิธา ชื่ออะไร นามสกุลเดิมอะไร ถ้าทราบก็พอจะเชื่อมโยงได้ เนื่องจากตอนนี้หากัน(ยัง)ไม่เจอ ไม่มีใครรู้จักคุณพิธา


2. คุณยายเคยอาศัยที่บ้านหลังนี้เมื่อไหร่ ด้วยสถานะอะไร ?


3. เนื่องจากตึกนี้ถูกรัฐบาลกัมพูชา ในปกครองของฝรั่งเศสยึดไปตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 5 ตอนไทยต้องยอมเสียมณฑลบูรพา อันได้แก่ พระตะบอง เสียมราช ศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศสในสงคราม รศ. 112 (พ.ศ. 2436)


4. เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) อพยพครอบครัวกลับมาอาศัยที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2450 โดยยังไม่มีโอกาสได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนั้น ท่านยอมกลับมาเพราะไม่ต้องการเป็นข้ารับใช้ฝรั่งเศส


คนในตระกูลอภัยวงศ์ ได้รับการสั่งสอน อบรม ให้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์มาทุกชั่วอายุคน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและวางพระราชหฤทัยส่งให้บรรพบุรุษของตระกูลไปปกครองเมืองพระตะบองจนถึงสมัยที่ไทยต้องเสียดินแดนส่วนนี้ไป

5. ช่วงสงครามอินโดจีน (ระหว่างปี 2484-2489) ไทยได้ดินแดนส่วนนี้ คืนมานายควง อภัยวงศ์ บุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย นำธงชาติไทยกลับไปชักขึ้นเหนือดินแดนแห่งนี้ด้วยตัวเอง จากนั่นรัฐบาลไทยส่งนายเชียด อภัยวงศ์ หลานของเจ้าพระยาฯ ไปเป็นผู้แทน ซึ่งระหว่างนั้น นายเชียด และครอบครัว ได้กลับไปใช้บ้านหลังนั้นเป็นที่ทำการอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นก็ทรุดโทรมมาก (ภายหลังได้รับการบูรณะจากรัฐบาลกัมพูชา และเปิดใช้สำหรับต้อนรับแขกเมืองเท่านั้น)


6. สมัยสงครามอินโดจีน เรามีผู้แทนราษฎร จังหวัดพระตะบอง ชื่อ นายชวลิต อภัยวงศ์ และนายประยูร อภัยวงศ์ เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพิบูลสงคราม (เสียมราฐในปัจจุบัน) ทั้งสองจังหวัด อยู่ในประเทศไทย


7. ถ้าคุณยายคุณพิธา อาศัยในบ้านหลังนี้ช่วง 100 ปีที่แล้ว น่าจะรู้จักกับญาติๆ อภัยวงศ์ ที่ไปเป็นผู้แทน และทำงานให้บ้านเมืองในเวลานั้น


8. แม้คนในตระกูลจะไปอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนั้น ก็ไม่ใช่ในฐานะเจ้าของ จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ว่า คุณยาย ของคุณพิธา จะเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้


9. หากคุณยาย ของคุณพิธา เคยอยู่ที่นี่ และเรียกว่าเป็นบ้านของคุณยาย เราก็มีเหตุให้สงสัยว่า คุณยายเป็นใครกัน หรือพวกเราจะไม่รู้เอง คงต้องรอให้คุณพิธามาอธิบายเชื่อมโยงให้คนในตระกูลฟังซะแล้ว


ขณะเดียวกัน อ.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ แกโพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตแบบนี้ 

“ถ้าคุณพิธามีเชื้อสายอภัยวงศ์จริงๆ ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกผิดแผกไปจากบรรพบุรุษมาก เป็นข้าวนอกกอ ลูกหลานผ่าเหล่าโดยแท้

“เพราะว่า คุณพิธาเกี่ยวข้องกับพรรคล้มเจ้า ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

“แต่ต้นตระกูลอภัยวงศ์ คือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ท่านเป็นผู้จงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ไม่ยอมเป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย อพยพกลับประเทศไทย ทิ้งทรัพย์สมบัติรวมถึงจวนที่พระตะบองที่คุณพิธาโพสต์ว่าคุณยายเคยอาศัยอยู่

“นอกจากนี้ตระกูลอภัยวงศ์ยังมีความใกล้ชิดพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นอย่างยิ่ง พระนางเจ้าสุวัทนาวรราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชาติกำเนิดเป็นสามัญชน นาม เครือแก้ว อภัยวงศ์ ทรงเป็นพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี

“ดังนั้นหากคุณพิธามีเชื้อสายตระกูลอภัยวงศ์จริง ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกและมีพฤติกรรมที่บรรพบุรุษคงจะตำหนิติเตียนลูกหลานเยี่ยงคุณพิธาอย่างรุนแรง

“แต่ถ้าคุณพิธาไม่ใช่ลูกหลานตระกูลอภัยวงศ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำไมคุณพิธาถึงพยายามแอบอ้างว่าเกี่ยวข้องกับตระกูลอภัยวงศ์ ทั้ง ๆ ที่พฤติกรรมของคุณพิธาเองคือการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุข ทำไมคุณพิธา ถึงได้ดูย้อนแย้งไปเสียทุกทาง"


ประเด็นคือวันนี้สิ่งที่นายพิธา เคยโอ้อวด เคยโม้ เคยมโน เคยพูดกลับกลอกไปมา มาในอดีต ค่อย ๆ ย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเองทีละดอก ๆ ทีละเรื่อง ๆ จะทบทวนความทรงจำให้ฟังอีกครั้ง ก็ได้

1) เรื่องมาตรา 112 สมัยหาเสียง ที่พรรคก้าวไกลอ้างว่า “แก้ไข”ไม่ใช่ “ยกเลิก” แต่เมื่อ วันที่ 24 มีนาคม 2566 ที่สวนสาธารณะเทศบาลนครแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ปราศรัยปิดท้าย พอเด็กสามนิ้วให้เลือกแปะสติกเกอร์ข้าง "แก้ไข" หรือ "ยกเลิก" มาตรา 112 นายพิธาก็แสดงความกลับกลอก เลือก "ยกเลิก" ทันที เพื่อเอาใจเด็ก โดยเรื่องนี้วันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องที่พรรคก้าวไกลนำเรื่องการแก้ไข ม.112 มาหาเสียงเลือกตั้ง ก็ระบุเอาไว้ชัดเจน


2) อ้างว่าสมัยรัฐประหาร ปี 2549 ตัวเองโดนกักตัวมาไม่ทันงานศพพ่อ - โดนอายัดบัญชีทำให้ไม่มีเงินไปจัดงานศพ บรรดา “ติ่ง” นายพิธาฟังแล้วก็สงสารจับใจแถมยังโกรธแค้นเกลียดชังคู่ต่อสู้ทางการเมืองของนายพิธา


3) พูดกลับกลอกเรื่องกัญชา ตอนแรกบอกสนับสนุนกัญชาเสรี เพื่อสันทนาการ เพราะตัวเองก็ใช้รักษาโรคลมชัก แต่พอวันหาเสียงก็ไปพูดกับ นายชูวิทย์ ว่าไม่เอากัญชาเสรี ให้กลับไปเป็นยาเสพติด

4) อ้างว่าแก้หนี้บริษัทของครอบครัว 100 ล้านบาท แต่ความจริงเป็นตรงกันข้าม และเงินของบริษัทที่นายพิธาดูแลอยู่นั้นหายไป 100 กว่าล้านบาท

5) ปีที่แล้วก็ใส่เสื้อสีรุ้งไปออกงานบางกอกไพรด์ 2023 สร้างคะแนนนิยมทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่เคยสั่งอดีตภรรยาห้ามคบเพื่อนเพศที่สาม

“ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่รอให้ความจริงเปิดเผยออกมา ประชาชนที่มีปัญญาก็คงจะมองเห็นข้อเท็จจริงและตาสว่าง ส่วนติ่งโง่ ๆ ที่ด้อยปัญญา ยังคงลุ่มหลงหลงใหลกับภาพจอมปลอมที่นายคนนี้สร้างขึ้น ก็คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม”
นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น