"คฑา" บุตรชายวัย 88 ปีของ "ควง อภัยวงศ์" ยัน "พิธา" ไม่ใช่บุคคลในตระกูล แอบอ้างว่ายายเคยอยู่ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นการโอ้อวดสร้างภาพตามปกตินิสัยเขมร ด้าน "ตรีดาว" แจงแม้แต่คนในตระกูลเองยังไม่เคยอาศัยในฐานะเจ้าของ "คุณยาย" จะเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ได้อย่างไร
จากกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกขุดคุ้ยโพสต์ในอดีตที่เคยโพสต์รูปตึกที่เคยเป็นจวนของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในจังหวัดพระตะบอง กัมพูชา ว่าเป็นบ้านของคุณยาย เคยอยู่อาศัยเมื่อร้อยปีก่อน ทำคนแห่สงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับตระกูลอภัยวงศ์หรือไม่อย่างไร กระทั่งนายพิธาได้ลบโพสต์ดังกล่าวออกไปจากอินสตาแกรมเรียบร้อยแล้ว
ทางด้าน ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ก็ได้เกาะติดเรื่องดังกล่าว โดยได้เผยแพร่ภาพที่ระบุว่าเป็นแชตของ นายคฑา อภัยวงศ์ หรือคุณต๊ะ ปัจจุบันอายุ 88 ปี ซึ่งเป็นบุตรชายของ ท่านควง อภัยวงศ์ ได้ส่งข้อความผ่านกลุ่มไลน์ประจำตระกูล โดยมีสมาชิก 97 คน โดยข้อความดังกล่าวระบุว่า
“… เรื่องคุณพิธา ถ้ามีใครถาม ตอบได้เลยว่า
1. ไม่ใช่บุคคลในตระกูลอภัยวงศ์
2. การแอบอ้างว่าเคยอยู่ในตึกในภาพ เป็นการโอ้อวดสร้างภาพฐานะ ตามปกตินิสัยเขมร เพราะแม้แต่เคยอยู่ในบริเวณจวนเจ้าเมืองก็ยังไม่มี
3. ตึกที่พระตะบอง เป็นที่ทำการของฝรั่งเศสมากว่า 120 ปี คุณยายเกิดแล้วหรือยัง ….”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.อานนท์ยังเผยแพร่โพสต์ของ "ตรีดาว อภัยวงศ์" ที่ระบุว่า
เรื่องคุณพิธา กับคำกล่าวที่ว่า #บ้านเก่าคุณยาย “My grandmother used to live in this house almost 1 century ago” และถ่ายภาพตึกที่เป็นของ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ต้นตระกูล ”อภัยวงศ์“ ทำเอา 2 วันนี้ ตรีดาวและญาติๆ ชุลมุนกันมากว่าจะตอบคำถามที่มีคนมาถามว่า “เป็นญาติกันเหรอ อย่างไร สายไหน”
เลยขออธิบายแบบนี้นะคะ
1. คุณยายคุณพิธา ชื่ออะไร นามสกุลเดิมอะไร ถ้าทราบก็พอจะเชื่อมโยงได้ เนื่องจากตอนนี้หากัน(ยัง)ไม่เจอ ไม่มีใครรู้จักคุณพิธา
2. คุณยายเคยอาศัยที่บ้านหลังนี้เมื่อไหร่ ด้วยสถานะอะไร
3. เนื่องจากตึกนี้ถูกรัฐบาลกัมพูชา ในปกครองของฝรั่งเศสยึดไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ตอนไทยต้องยอมเสียมณฑลบูรพา อันได้แก่ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศสในสงคราม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)
4. เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) อพยพครอบครัวกลับมาอาศัยที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2450 โดยยัง
ไม่มีโอกาสได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนั้น ท่านยอมกลับมาเพราะไม่ต้องการเป็นข้ารับใช้ฝรั่งเศส คนในตระกูลอภัยวงศ์ได้รับการสั่งสอน อบรม ให้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์มาทุกชั่วอายุคน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและวางพระราชหฤทัยส่งให้บรรพบุรุษของตระกูลไปปกครองเมืองพระตะบองจนถึงสมัยที่ไทยต้องเสียดินแดนส่วนนี้ไป
5. ช่วงสงครามอินโดจีน (ระหว่างปี 2484-2489) ไทยได้ดินแดนส่วนนี้คืนมา นายควง อภัยวงศ์ บุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย นำธงชาติไทยกลับไปชักขึ้นเหนือดินแดนแห่งนี้ด้วยตัวเอง จากนั้นรัฐบาลไทยส่งนายเชียด อภัยวงศ์ หลานของเจ้าพระยาฯ ไปเป็นผู้แทน ซึ่งระหว่างนั้น นายเชียด และครอบครัว ได้กลับไปใช้บ้านหลังนั้นเป็นที่ทำการอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นก็ทรุดโทรมมาก (ภายหลังได้รับการบูรณะจากรัฐบาลกัมพูชา และเปิดใช้สำหรับต้อนรับแขกเมืองเท่านั้น)
6. สมัยสงครามอินโดจีน เรามีผู้แทนราษฎรจังหวัดพระตะบอง ชื่อ นายชวลิต อภัยวงศ์ และนายประยูร อภัยวงศ์ เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพิบูลสงคราม (เสียมราฐในปัจจุบัน) ทั้งสองจังหวัดอยู่ในประเทศไทย
7. ถ้าคุณยายคุณพิธา อาศัยในบ้านหลังนี้ช่วง 100 ปีที่แล้ว น่าจะรู้จักกับญาติๆ อภัยวงศ์ ที่ไปเป็นผู้แทน และทำงานให้บ้านเมืองในเวลานั้น
8. แม้คนในตระกูลจะไปอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนั้น ก็ไม่ใช่ในฐานะเจ้าของ จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ว่า คุณยาย ของคุณพิธา จะเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้
9. หากคุณยายของคุณพิธาเคยอยู่ที่นี่ และเรียกว่าเป็นบ้านของคุณยาย เราก็มีเหตุให้สงสัยว่า คุณยายเป็นใครกัน หรือพวกเราจะไม่รู้เอง คงต้องรอให้คุณพิธามาอธิบายเชื่อมโยงให้คนในตระกูลฟังซะแล้ว
(หากมีอะไรคลาดเคลื่อนไปก็คงเป็นความเขลาหรือไม่รู้ของอีชั้นเองค่ะ)