xs
xsm
sm
md
lg

ประวัติ "ตะวัน" มือป่วนขบวนเสด็จกรมสมเด็จพระเทพฯ "พิธา" ดูแลความประพฤติ มองตาแล้วเห็นพิพิมอยู่ในนั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดประวัติ "ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์" ผู้ต้องหาคดี 112 ที่ไปป่วนขบวนเสด็จ กรมสมเด็จพระเทพฯ ทั้งที่ปล่อยรถประชาชนร่วมในเส้นทาง ขับรถยนต์ด้วยความเร็วเพื่อไปให้ทันขบวนเสด็จ ตำรวจต้องสกัดกั้น เกิดมีปากเสียงขึ้นมา พบเรียนที่มหาวิทยาลัยที่สิงคโปร์ แต่ไม่จบเพราะทำกิจกรรม อ้างจะไปสมัครเรียนนิติรามฯ พิธาเป็นนายประกันและผู้กำกับดูแลความประพฤติ เคยยกย่อง "มองตาแล้วเห็นพิพิมลูกสาวผมอยู่ในนั้น"

วันนี้ (7 ก.พ.) จากกรณีที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 20 ปี โดยสารไปกับรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี รุ่นนิวเอ็มจี 3 สีขาว ทะเบียน 8 กจ 1711 กรุงเทพมหานคร มีชายไม่ทราบชื่อเป็นผู้ขับขี่ ไปบีบแตรรถยนต์ลากยาว ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจถวายความปลอดภัยภารกิจ 095 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และตลอดภารกิจมีการปล่อยรถประชาชนร่วมในเส้นทาง พบว่ารถยนต์คันดังกล่าวบีบแตรลากยาวระหว่างขบวน 095 เสด็จผ่านทางร่วมต่างระดับมักกะสัน และขับรถยนต์ด้วยความเร็วเพื่อไปให้ทันขบวน 095 แต่เมื่อมาถึงบริเวณทางลงทางด่วนพหลโยธิน 1 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รถปิดท้ายได้สกัดกั้นไม่ให้รถยนต์คันดังกล่าวลงไปร่วมกับขบวน 095 ได้ จึงปรากฏคลิปโต้เถียงดังกล่าว กลายเป็นที่วิจารณ์แก่โลกโซเชียลฯ

สำหรับ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 20 ปี เป็นบุตรของนายสมหมาย ตัวตุลานนท์ และนางกาหลง ตัวตุลานนท์ ก่อนหน้านี้เจ้าตัวให้สัมภาษณ์สื่อที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหลายสำนักว่า สมัยที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ไปสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ GED และใช้ผลสอบไปเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มหาวิทยาลัยที่สิงคโปร์ปิดการเรียนการสอน จึงกลับมายังประเทศไทย และเรียนออนไลน์แทน กระทั่งเห็นข่าวพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จึงศึกษาเรื่องการเมืองแล้วไปร่วมชุมนุมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นมา

กระทั่งไปสมัครเป็นการ์ดให้กับกลุ่มวีโว่ (WeVo) ของนายปิยะรัฐ จงเทพ และมีคนชวนไปร่วมกับกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ของนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เริ่มจากเคลื่อนไหวประเด็นการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หายตัวไปที่ประเทศกัมพูชา ภายหลังเมื่อทำกิจกรรมการเมืองมากๆ ไม่มีเวลาเรียนออนไลน์ จึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยที่ประเทศสิงคโปร์ เจ้าตัวอ้างว่ากำลังรอสอบเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ยังไม่พบหลักฐานว่าเจ้าตัวสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงแต่อย่างใด และการเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถ้ามีวุฒิการศึกษา ม.6 หรือเทียบเท่าขึ้นไปสามารถสมัครได้เลย ไม่ต้องสอบเข้าใดๆ

ตะวันเคยถูกจับกุมในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกกรณีทำโพลติดสติกเกอร์เรื่องขบวนเสด็จที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 แต่ได้รับการประกันตัว ต่อมาถูกดำเนินคดีกรณีเฟซบุ๊กไลฟ์รอรับขบวนเสด็จ บริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 และได้รับการประกันตัวเช่นกัน แต่ภายหลังถูกถอนประกัน ตะวันโพสต์ และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 และมีพฤติกรรมขับรถเข้าใกล้พื้นที่รับเสด็จ ก่อนที่วันที่ 20 เม.ย. 2566 ศาลได้สั่งเพิกถอนการประกันตัว และนำตัวส่งเข้าทัณฑสถานหญิงกลาง ระหว่างนั้นตะวันอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 37 วัน ก่อนที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นนายประกันให้กับตะวัน และได้รับการประกันตัว โดยศาลสั่งให้นายพิธาเป็นผู้กำกับดูแลความประพฤติของจำเลย มีอำนาจในการว่ากล่าวตักเตือนและควบคุมมิให้จำเลยกระทำผิดเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากมีการกระทำผิดเงื่อนไขถือว่าผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวผิดสัญญาประกัน

ครั้งหนึ่ง นายพิธากล่าวยกย่องตะวันในสภาฯ ว่า "ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวันและคุณแบม ผมมองตาตะวันแล้วเห็นพิพิมลูกสาวของผมอยู่ในนั้น" อีกทั้งตะวันและแบม หรือ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ ได้รับรางวัล The People Awards 2023 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบแก่คน 10 คนที่มีส่วนในการทำให้โลกในวันพรุ่งนี้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจัดโดยเว็บไซต์ The People ซึ่งขณะนั้นมีเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสม เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาสวนทางกับพฤติกรรมทำลายข้าวของและทรัพย์สินราชการ และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว หยาบคาย ภายใน สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงห้ามปรามอย่างใจเย็น

สำหรับพฤติกรรมของนายพิธา ที่เป็นนายประกันให้กับตะวัน และเป็นผู้กำกับดูแลความประพฤติของตะวันนั้น สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่พบว่านายพิธาและพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์รณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกมาตรา 112 โดยการเข้าร่วมการชุมนุมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นนายประกันผู้ต้องหามาตรา 112 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนายพิธา และเคยแสดงความคิดเห็นทั้งให้แก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมืองและสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 จัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ ณ สวนสาธารณะเทศบาลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตะวันและแบมขึ้นปราศรัยเชิญชวนนายพิธาและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ร่วมกิจกรรม "คุณคิดว่ามาตรา 112 ควรยกเลิกหรือแก้ไข" ซึ่งนายพิธาติดสติกเกอร์สีแดงติดลงในช่องยกเลิก มาตรา 112 แม้นายพิธาให้การต่อศาลว่าเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ตั้งกระทู้ถาม และผู้ฟังการปราศรัยโดยทั่วไปสงบสติอารมณ์ ก่อนที่จะฟังคำปราศรัยถึงเหตุผลที่สมควรแก้ไขมาตรา 112 และเป็นการบริหารสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรง

แต่หนังสือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า นายพิธาปราศรัยความตอนหนึ่งว่า "พี่น้องประชาชนเสนอกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้ามา พรรคก้าวไกลก็จะสนับสนุนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องขอโทษน้องทั้งสองที่พี่ต้องแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ในสภาก่อน ถ้าสภายังไม่ได้รับการแก้ไข ก้าวไกลจะออกไปสู้ด้วยกันครับ" แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของนายพิธาในขณะนั้นพร้อมจะสนับสนุนยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งคดีดังกล่าววินิจฉัยว่า นายพิธา และพรรคก้าวไกล ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เห็นว่าการเสนอร่างกฎหมายและใช้เป็นนโยบายหาเสียง มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในที่สุด พร้อมสั่งการให้ทั้งสองเลิกกระทำ เลิกแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณาและการสื่อความหมายวิธีอื่น เพื่อให้ยกเลิกมาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้แก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย



@mfp.official "ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวันและคุณแบม ผมมองตาตะวันแล้วเห็นพิพิมลูกสาวของผมอยู่ในนั้น" #พรรคก้าวไกล #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ #ตะวันแบม #ประกันตัว #ทิมพิธา #ประชุมสภา ♬ оригинальный звук - พรรคก้าวไกล

กำลังโหลดความคิดเห็น