xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 21-27 ม.ค.2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.ตร.รวบ “ศรีสุวรรณ-เจ๋ง ดอกจิก-พิมณัฏฐา” รีดเงินอธิบดีกรมข้าว แลกไม่ร้องเรียน ด้านเจ้าตัวยัน ถูกกลั่นแกล้ง เพราะเหยียบตาปลาผู้มีอำนาจ!

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก.พร้อมนายนิวัติชัย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ร่วมกับ พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป., พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.ปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 และ พ.ต.อ.เพิ่มวุฒิ ประทุมราช ผกก.1 บก.ปปป.แถลงผลปฏิบัติการ "หยุดเถอะครับ" จับกุมนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ฐานร่วมกับนายยศวริศ หรือเจ๋ง ดอกจิก และ น.ส.พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ อดีต ผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ข่มขู่เรียกรับเงินจากนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว 3 ล้านบาท ก่อนเจรจาต่อรองเหลือ 1.5 ล้านบาท แลกกับการยุติเรื่องร้องเรียนโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการปลูกข้าว และโครงการปรับปรุงการผลิตสำหรับผู้ปลูกข้าว โดยอ้างว่า พบข้อพิรุธที่ส่อไปในทางทุจริต

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า อธิบดีกรมการข้าวกับภรรยามาร้องเรียนว่า ถูกกลุ่มผู้ต้องหารีดไถเงิน จึงรวบรวมหลักฐานพร้อมประสาน ป.ป.ท.และ ป.ป.ช.เปิดปฏิบัติการจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด โดยคดีนี้อธิบดีฯ ยืนยันว่า เรื่องที่ถูกกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง มีความพยายามเจรจาและเรียกรับเงิน จึงต่อรองเงินเหลือครึ่งเดียวจาก 3 ล้านบาทเหลือ 1.5 ล้านบาท ขณะนี้จ่ายไปแล้ว 6.6 แสนบาท พร้อมเก็บหลักฐานทางแชตไลน์ วิดีโอและหลักฐานต่างๆ จนมีความชัดเจน ก่อนมาแจ้งความกับตำรวจ บก.ปปป.

เมื่อตรวจสอบหลักฐานแล้วมีความน่าเชื่อว่า กลุ่มผู้ต้องหาร่วมกันกระทำผิดจริง ประกอบกับหลักฐานที่ได้รับก็มีน้ำหนัก ซึ่งได้ใช้เวลารวบรวมหลักฐานมานานกว่า 4 เดือน จนนำมาสู่การจับกุมครั้งนี้ หลังจากนี้จะเรียกสอบปากคำบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ราย

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวต่อว่า การสืบสวนขณะนี้ยังไม่พบว่ามีบุคคลอื่นเกี่ยวข้อง แต่พบว่ามีบัญชีม้า ซึ่งจะไล่ตรวจสอบเพิ่มเติม เชื่อว่ามีคนช่วยเหลือในการรับเงิน และผู้ต้องหายังอ้างไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ และจากการสอบปากคำนายศรีสุวรรณ ปฏิเสธข้อกล่าวหา อ้างว่ามีคนนำเงินมาให้ แต่ตนเองไม่ได้เป็นผู้เรียกรับ อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การทำงานของตนยังพบว่า ขบวนการหาเงินเช่นนี้ มีทั้งคนร้องเรียน คนเคลียร์ บัญชีม้าและคนรับเงิน ส่วนแผนการจับกุม หลังผู้เสียหายส่งมอบเงินด้วยการแขวนถุงใส่เงิน 5 แสนบาทไว้หน้าบ้าน ตำรวจยังเฝ้าคอยนานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนนำหมายค้นเข้าบ้าน แต่พบว่า มีคนวิ่งหลบหนีไปที่หลังบ้าน เมื่อรีบไปจับกุม ก็พบนายศรีสุวรรณในบ้าน พอถามว่าเงินอยู่ที่ใด เจ้าตัวก็พาเจ้าหน้าที่ไปหยิบเงินเอง ส่วนถุงใส่เงินพบว่าถูกทิ้งอยู่ข้างบ้าน ยืนยันว่าที่บ้านนายศรีสุวรรณ มีกล้องวงจรปิดทั้งหลัง ซึ่งเจ้าตัวเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด

เมื่อถามว่า จะคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาหรือไม่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ตอบว่า ส่วนตัวไม่อยากให้ประกันตัว แต่งานนี้บอกเลยว่า "ศรีเหนื่อยแน่" ส่วนที่นายศรีสุวรรณ อ้างว่าถูกกลั่นแกล้งนั้น อยากบอกว่า สิ่งที่ทำแล้วมีประโยชน์กับประเทศชาติก็น่าชื่นชม แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้ ถือว่ามีความชัดเจนที่เจ้าหน้าที่จะเอาผิดได้ หากมีใครที่ถูกข่มขู่รีดเงินจากผู้ต้องหากลุ่มนี้ ให้มาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา

ด้านนายนิวัติชัย กล่าวว่า คดีนี้เกิดเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้เสียหายร้องเรียนว่า "เจ๋ง ดอกจิก" เป็นผู้ประสานงาน กับนายศรีสุวรรณ และภรรยาเพื่อเรียกรับเงิน 3 ล้านบาท โดยกล่าวหาว่าทุจริตโครงการในกรมการข้าวหลายโครงการ ซึ่งมีงบประมาณหลักพันล้านบาท ก่อนที่ผู้เสียหายจะต่อรองจนเหลือ 1.5 ล้านบาท แต่ผู้เสียหายมั่นใจว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด จึงแจ้งความกับ บก.ปปป.จนมีการรวบรวมหลักฐานออกหมายจับ และวางแผนจับกุมที่บ้านพักนายศรีสุวรรณที่ จ.ปทุมธานี โดยพบหลักฐานว่า เจ้าตัวได้ถือเงินและยังมีหลักฐานการติดต่อทางโทรศัพท์ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ๋งดอกจิกนั้นถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้จะไม่ใช่ผู้มีตำแหน่งทางการเมือง แต่สามารถดำเนินคดีได้ และหากศาลสั่งฟ้องก็ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน

ทั้งนี้ ตำรวจได้เข้าจับกุมนายศรีสุวรรณที่บ้านพักย่านปทุมธานี ส่วนนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ตำรวจได้เข้าจับกุมที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนายยศวริศ ยืนยันในความบริสุทธิ์ ยอมรับว่าเคยเจอผู้เสียหาย แต่ไม่เคยมีปัญหากับผู้เสียหาย ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า จากการที่เป็นคณะทำงานได้มีการไปตรวจสอบโครงการตามที่ร้องเรียนหรือไม่ นายเจ๋ง กล่าวว่า ได้ไปตรวจสอบ และพบความผิดปกติค่อนข้างที่จะเยอะหลายโครงการ

ขณะที่นายศรีสุวรรณ เผยหลังให้ปากคำตำรวจว่า ถือเป็นเรื่องธรรมดา ตนอยู่ตรงนี้เหมือนเดินฝ่าฝน มันต้องเปียกเป็นธรรมดา พร้อมย้ำว่า หลังจากนี้จะทำหน้าที่ร้องเรียนต่อไป เพราะยังมีคนที่ต้องการให้ศรีสุวรรณทำหน้าที่นี้อยู่ ทั้งการฟ้องร้องคดีความให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งการจับผิดข้าราชการและนักการเมืองที่อาจเข้าข่ายการทุจริตและคอรัปชั่น ซึ่งมีจำนวนมาก การที่จะล้มศรีสุวรรณลงไปได้ การที่จะทำลายชื่อเสียงศรีสุวรรณลงไปได้ มันจะทำให้คนเหล่านี้แฮปปี้สบายใจ

"ยืนยันว่าผมไม่ได้มีการเรียกรับเงิน ส่วนกรณีเรื่องโยนเงินของกลางทิ้งข้างบ้านนั้น ขอเท็จจริง คือ เขาได้มีการเอาเงินไปแขวนไว้ แฟนผมไม่รู้จึงนำมาให้ดู ผมก็ไม่ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับเงินดังกล่าว จึงต้องปัดออกไปก่อน แน่นอนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันก็จะไปเหยียบตาปลาของผู้มีอำนาจ การเตะศรีสุวรรณให้ล้มลงได้ก็จะทำให้คนเหล่านี้ผยองขึ้นมาได้ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ผมทำใจมาโดยตลอดอยู่แล้ว"

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า มั่นใจว่าถูกกลั่นแกล้งแน่นอน โดยเฉพาะจากผู้ที่สูญเสียอำนาจหรือผู้ที่ถูกตนตรวจสอบมาโดยตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะทุกคนก็รู้อยู่ว่า ตนสามารถล้มใครไปได้เยอะแยะมากมาย ทั้งพรรคการเมือง ทั้งนักการเมือง ส่วนผู้เสียหายในคดีนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ตนได้ส่งข่าวให้นักข่าวว่าจะตรวจสอบเขาอย่างเข้มข้น เขาเองก็ต้องวิตกและพยายามหาหนทางในการหาเหตุล้มตนให้ได้ ทั้งนี้ ตนมีข้อมูลชัดเจนในการที่จะหักล้างสิ่งเหล่านี้ได้

ทั้งนี้ หลังตำรวจสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสาม (ศรีสุวรรณ-เจ๋ง ดอกจิก-น.ส.พิมณัฏฐา) แล้วเสร็จ ตำรวจได้แจ้งข้อหาสนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐเรียกรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดฯ ก่อนอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 4 แสนบาท

2.ศาล รธน.เสียงข้างมากมีมติ 8 ต่อ 1 ชี้ "พิธา" ไม่หลุดจาก สส.กรณีถือหุ้นไอทีวี เหตุไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว โว ถ้าต้องออกจากสภาอีก จะไปทำเนียบ!


เมื่อวันที่ 24 ม.ค ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา ไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) เนื่องจากในวันที่ 4 เม.ย. 66 ซึ่งเป็นวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต. แม้นายพิธาจะเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น แต่ในวันดังกล่าว บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ หลังจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้บอกเลิกสัญญาและยึดคลื่นความถี่คืน นับตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2550

ทั้งนี้ ตุลาการเสียงข้างน้อย 1 เสียง ที่เห็นว่าสมาชิกภาพ สส.ของนายพิธาสิ้นสุดลง ก็คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์

ด้านนายพิธา ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ตนรู้สึกเฉยๆ กับคำตัดสินที่ออกมา และว่า จากนี้ตนพร้อมที่จะเดินหน้าทำงานต่อไป ภารกิจแรกคือจะแถลงแผนงานประจำปี ที่ได้รับมอบหมายจากนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล

นายพิธา กล่าวด้วยว่า จะทำหน้าที่ สส. ให้สมกับที่รอมา วันนี้ในใจคิดแต่เรื่องการทำงาน และรอเวลาว่าจะได้กลับเข้าสภาเมื่อไหร่ การทำงานการเมืองในฐานะฝ่ายค้านจะต้องเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง จะรีบกลับไปเสริมทัพทำงานร่วมกับสมาชิกพรรคก้าวไกล ถ้าสภาไปเขียวเมื่อไหร่ก็จะกลับไปวันนั้นเลย

ส่วนการปรับโครงสร้างของพรรคก้าวไกลก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามวาระ เป็นปีๆ ตนยังไม่มีแผนการว่าจะกลับเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลในตอนนี้

เมื่อถามว่า จนถึงตอนนี้ประชาชนยังเรียกนายพิธาว่านายกฯ อยู่ นายพิธากล่าวว่า จนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ ตามลิสต์อยู่หากมีอุบัติเหตุหรืออะไรเกิดขึ้น สภาก็ยังมีการพูดคุยว่าคนที่อยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนก็ยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล

ถามต่อว่า จะมีการดำเนินคดีกับ กกต.หรือไม่ นายพิธา กล่าวสั้นๆ ว่า "ไม่มีครับ" ส่วนการวินิจฉัยคดีมาตรา 112 ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค.นี้ นายพิธา กล่าวว่า ยังมีความหวังอยู่เสมอ

วันเดียวกัน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีการถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลว่า ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พิธาไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว โดยให้เหตุผลในสามประเด็น ดังนี้ 1. ตามบทบัญญัติมาตรา 98 (3) “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” แม้ถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ก็เข้าข่ายตามมาตรา 98 (3) นี้ ไม่จำเป็นต้องดูจำนวนหุ้นมากเท่าไร จนส่งผลครอบงำสั่งการได้หรือไม่ กรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นต่างกับศาลฎีกา (คำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง 24/2566 คดีชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ถือหุ้น AIS 200 หุ้น) เป็นอันว่า ถ้ายังไม่ยกเลิกมาตรา 98 (3) ใครจะมาเป็นนักการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องไปตรวจสอบให้ดีว่า ตนเองถือหุ้นสื่อแม้แต่ 1 หุ้นหรือไม่ ก่อนเลือกตั้ง คดีขึ้นศาลฎีกา รอด หลังประกาศผลเลือกตั้ง คดีขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รอด

2. พิธายังคงถือหุ้นบริษัท ไอทีวี 42,000 หุ้น ณ วันสมัครรับเลือกตั้ง 3. บริษัท ไอทีวี ไม่ได้เป็นสื่อ โดยพิจารณาจากคำให้การของประธานบริษัท, สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) บอกเลิกสัญญาการทำสื่อกับไอทีวี, ไอทีวี ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ, งบการเงิน แสดงให้เห็นว่าไม่มีรายได้จากการทำสื่อ, เอกสารส่งสำนักงานประกันสังคม ไม่ได้ระบุว่าทำสื่อ

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา ไม่สิ้นสุดลงจากกรณีถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ว่า การกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา สามารถเข้ามาทำหน้าที่ได้ตามปกติ เพราะศาลไม่ได้สั่งให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลง ส่วนต้องรอเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญส่งมายังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก่อนหรือไม่นั้น ในทางธุรการก็จะมีหนังสือแจ้งมาตามขั้นตอน แต่จากที่ดูตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่า มีผลตั้งแต่อ่านคำวินิจฉัยแล้ว นายพิธาจึงสามารถเดินกลับเข้ามาลงชื่อและเข้าห้องประชุมสภาฯ ได้ทันที สำหรับเงินเดือน สส.ของนายพิธานั้น ก็จะดำเนินการย้อนหลังให้

ด้านนายพิธา ได้เดินทางเข้าสภาในวันต่อมา (25 ม.ค.) พร้อมเผยความรู้สึกถึงก้าวแรกในสภารู้สึกอย่างไรว่า ไออุ่นที่คุ้นเคย รวมเวลาตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นเวลา 6 เดือน ที่ไม่ได้มีโอกาสแถลงข่าวต่อสื่อ และประชาชนที่สภา ยังรู้สึกว่าสภาเป็นพื้นที่รวมตัวของประชาชน คิดถึงบรรยากาศอย่างนี้

เมื่อถามว่า เสียดายเวลา 6 เดือนที่หายไปหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เสียดายที่ไม่มีโอกาสในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ซึ่งคงไม่มีใครบอกได้ว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร หรือถ้ามีครั้งที่ 2 แล้วดีขึ้น จะกลายเป็นครั้งที่ 3 หรือไม่

ส่วนจะดำเนินคดีกับนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเป็นผู้ร้องคดีถือหุ้นไอทีวีหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่มี เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีต ตอนนี้จะใส่ใจกับปัจจุบัน ใช้สมาธิ ทรัพยากรเวลากับการทำงานในปัจจุบัน และอนาคตที่จะถึง

เมื่อถามว่า จะมีการกลับไปเป็นหัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่นั้น นายพิธา กล่าวว่า คำตอบนี้ต้องแยกเป็นสองส่วน หัวหน้าพรรคก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ คือ การประชุมวิสามัญของพรรคช่วงเดือนเมษายน ในส่วนที่สอง ตนไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ทำหน้าที่ได้ดี ตนไม่มีความจำเป็นที่จะเป็นหัวหน้าพรรค ก็แล้วแต่สมาชิกพรรค ตนและนายชัยธวัช ไม่มีใครยึดติดในตำแหน่ง

เมื่อถามถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดฟังคำวินิจฉัยในคดีนโยบายแก้ ม.112 ของพรรคก้าวไกล มีความกังวลบ้างหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ความรู้สึกเหมือนตอนคดีไอทีวี เราแยกแยะได้ว่าอะไรควบคุมได้หรือไม่ได้ ส่วนที่เราควบคุมได้เราก็ได้ทำเต็มที่ ถามอีกว่า จะออกจากสภาอีกหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ”ออกอีกจะออกไปทำเนียบ”

3. ศาลพิพากษาจำคุก "บุ้ง ทะลุวัง" 1 เดือน คดีทำร้ายตำรวจศาล พร้อมถอนประกันคดีหมิ่นสถาบัน หลังบุกพ่นสี ก.วัฒนธรรม ด้าน "หยก" ถูกออกหมายจับ หลังเบี้ยวมาศาล!



เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำสั่งกรณีตำรวจ สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกันตัว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง จำเลยในคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง มาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565

โดยพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องระบุว่า ทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมและพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้ถอดนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สว. ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ และขณะเดียวกัน ศาลยังนัดฟังคำวินิจฉัยคดีละเมิดอำนาจศาล ของน.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม กรณีกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล

น.ส.ทานตะวัน จำเลย คดีหมิ่นเบื้องสูง กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้มีความคาดหวังและไม่ได้กังวลในกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาตนเจออะไรหลายอย่าง ตั้งแต่ไปทำโพลสอบถามความคิดเห็น แต่ถูกถอนประกันเข้าคุก แม้จะออกจากบ้านไปซื้อกับข้าวก็ต้องขออนุญาตศาล สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจถอนประกันตัวเองเพื่อยืนยันในสิทธิการประกันตัวของเพื่อนหลายคน

ด้าน น.ส.เนติพร หรือบุ้ง จำเลย กล่าวว่า ไม่เคยคาดหวังกระบวนการยุติธรรมไทยอยู่แล้ว ถ้าผลคำตัดสินออกมา จากกรณีไปเรียกร้องให้ถอดถอน สว.เนาวรัตน์ แต่กลับถอนประกันเรา ปกป้องผู้มีอำนาจ ประเทศไทยก็แสดงชัดแล้วตั้งแต่กรณีนายมงคล หรือบัสบาส ที่ถูกตัดสินจำคุกมาตรา 112 ถึง 50 ปี อยากให้มองที่เนื้อหาที่ออกไปเรียกร้อง อย่าไปมองว่าพวกตนก้าวร้าว อยากให้มองว่าเราทำเพื่อสังคมไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง เพราะอยากได้ประเทศที่ดี

ต่อมา นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เผยว่า ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว น.ส.เนติพร หรือบุ้ง เนื่องจากไปชุมนุมเรียกร้องให้ถอดถอน สว.เนาวรัตน์ และปรากฏหลักฐานเป็นภาพถ่ายว่า เป็นบุคคลที่ไปพ่นสีธงสัญลักษณ์เบื้องสูง แม้ว่าขณะนั้นจะใส่หน้ากาก โดยศาลเชื่อว่า เป็นบุคคลเดียวกัน ในส่วนของ น.ส.ทานตะวัน ยังไม่มีเหตุให้เพิกถอนการประกัน จึงให้ยกคำร้อง

ส่วนคดีละเมิดอำนาจศาลที่มีเหตุกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในบริเวณศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลเห็นว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำไปตามหน้าที่ ตัว น.ส.เนติพร แม้ไม่ได้ปีนเข้าไป แต่ไปกระชากคอเสื้อ ทำให้เจ้าหน้าที่ศีรษะกระแทกได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล ลงโทษจำคุก 1 เดือน

นายกฤษฎางค์ เผยด้วยว่า ส่วนของ น.ส.หยก เยาวชนที่ปีนรั้วเข้าไป เนื่องจากยัวเป็นเยาวชน ศาลเลยให้ตักเตือน แต่เนื่องจากวันนี้หยกไม่ได้มาศาล ศาลจึงออกหมายจับเพื่อให้มาฟังคำพิพากษาที่ให้ตักเตือน ซึ่งตนได้ถาม น.ส.เนติพร ถึงแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ โดย น.ส.เนติพรได้แจ้งว่า จะไม่ยื่นประกันตัวใหม่หรือขออุทธรณ์ในวันนี้

ด้าน “หยก” ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวในเวลาต่อมา อ้างสาเหตุที่ไม่ได้ไปศาลตามนัดว่า ตนเองตื่นสาย โดยระบุว่า “วันนี้เราไม่ได้ไปศาล เมื่อคืนเรานอนดึกเราหลับๆ ตื่นๆ เห็นพี่บุ้งกำลังจะไปศาล แล้วตื่นมาอีกทีช่วงเกือบ 10 โมง เพราะเสียงสายโทรมา เขาโทรมาบอกเราว่า ’’พี่บุ้งโดยถอนประกัน‘‘ เรารู้สึกเสียดายมากที่อย่างน้อยในตอนนั้นที่เราสะลึมสะลือ เราไม่ได้บอกลาเขาไม่ได้อะไรเลย จนสายต่อมาที่โทรมาคือ สายน้ำ เราได้คุยกับพี่บุ้ง แต่แค่แปปเดียว เราพูดอะไรแทบไม่ออก พี่บุ้งขอเราให้เราดูแลตัวเองให้ดี แค่นั้น..."

4. "ถวิล เปลี่ยนศรี" ยื่น จ.ม.ขอให้ อสส.อุทธรณ์คดีถูก "ยิ่งลักษณ์" โยกย้ายไม่เป็นธรรม หลังศาลฯ ยกฟ้อง ยัน ไม่ได้ต้องการเอาชนะ แต่อยากให้คดีไปสุดทาง!



เมื่อวันที่ 24 ม.ค.นายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงถึงเหตุผลในการยื่นจดหมายถึงอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 23 ม.ค.เพื่อขอให้พิจารณายื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อคัดค้านคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566 กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โยกย้ายจากตำแหน่งเลขาฯ สมช.ไม่เป็นธรรมว่า คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ตามกฎหมายสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่เนื่องจากคดีนี้อัยการฯ เป็นผู้ฟ้อง หน้าที่จึงอยู่ที่อัยการ ที่จะสามารถยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายภายใน 30 วัน

ดังนั้น ถ้านับตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.66 เหลือเวลา 2 วัน ตนจึงรู้สึกร้อนใจ เพราะอยากให้คดีไปให้ถึงที่สุด จะได้สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยว่า คดีนี้จะไปถึงไหน ส่วนตัวตนเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะมีเจตนาพิเศษ ที่จะเอื้อประโยชน์ญาติและพรรคพวก ทำให้ตนเสียหาย แต่ยืนยันว่าตนไม่ต้องการเอาชนะ หรือมีความเจ็บแค้นเป็นการส่วนตัว

“ผมเหมือนนักมวย ที่แม้ไม่ได้เป็นผู้ไปฟ้องเอง แต่ผมเป็นผู้เสียหายในคดี อัยการเปรียบเหมือนโปรโมเตอร์ที่จัดผมไปชกมวย ผมก็แพ้ในครั้งแรก แล้วผมก็อยากแก้มือ เพราะผมเป็นผู้เสียหาย แต่ผมขอแก้มือเองไม่ได้ คนที่จะทำให้ผมแก้มือได้ในชั้นศาลฎีกาฯในชั้นอุทธรณ์ก็คืออัยการ หวังว่าอัยการสูงสุด จะเห็นความสำคัญ ไม่ปล่อยให้คดีจบไปในชั้นต้นโดยที่ยังสงสัยกันอยู่ และในวันนี้ผมจะไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะต้นเรื่องที่จับเรื่องนี้มาไต่สวน ก็ขอให้ ป.ป.ช. ประสานกับอัยการสูงสุด เพื่อให้เรื่องนี้ถึงที่สุด”

“ความจริงเรื่องนี้ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว ขอย้ำว่า ผมไม่มีอะไรติดในใจต้องการจะเอาชนะอะไรทั้งสิ้น ก็ขอขอบคุณ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดเป็นธุระเรื่องนี้และไม่ปล่อยให้ผ่านไป แต่เมื่อได้ดำเนินการเรื่องนี้ก็อยากจะรักษากระบวนการเอาไว้ เมื่อไปไม่สุดทาง ถ้าเลิกและยอมแพ้กลางคันก็จะเป็นที่เคลือบแคลง ผมจะแพ้หรือชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ได้มุ่งมั่นว่าจะเอาชนะให้ได้ และกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชุดสอบสวน อัยการ ไปถึงกรมราชทัณฑ์ มันมีอะไรต่างๆ ไม่ค่อยปกติเกิดขึ้นทุกวัน แต่อยากรักษากระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งของประชาชน สร้างความเท่าเทียมความเสมอภาคให้เกิดขึ้น ไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นจุดเล็กๆ ทำให้อัยการสูงสุดต้องมีมลทินไปด้วย”


ด้านนายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวว่า คิดว่า เรื่องนี้ในระบบศาลยุติธรรมให้ความเป็นธรรม ถ้าเป็นศาลยุติธรรมก็มี 3 ชั้นศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ถ้าเป็นศาลปกครองก็มีศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด ส่วนในเรื่องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองนั้น มี 2 ชั้นศาล เดิมมีชั้นศาลเดียวแต่งตั้งจากผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาจากที่ประชุมใหญ่ 9 คน หรือองค์คณะในศาลฎีกาก็ตาม สามารถพิจารณาอุทธรณ์ได้โดยอัยการสูงสุด ดังนั้น เรื่องนี้ยังไม่สิ้นสุดตามที่นายถวิลได้แถลง แต่อำนาจหน้าที่เป็นเรื่องของอัยการสูงสุด ต้องเรียนว่าหนึ่งในความสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คือการสิ้นสุดที่ศาลสุดท้าย หรือได้รับความยุติธรรม นายถวิลไม่ได้รับความยุติธรรมตั้งแต่ต้น ในการถูกโยกย้าย ซึ่งตนในฐานะ สว.ขณะนั้น ก็เห็นปัญหา เจตนาพิเศษที่ ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญก็ดี เห็นอยู่แล้วว่ามีการถูกกล่าวหาว่าย้ายเอื้อญาติ มันมีอยู่ แม้ศาลจะตัดสินยกฟ้องก็ตาม

“อัยการสูงสุดมีหน้าที่และอำนาจ การที่ตรวจสอบแล้วเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน และยังไม่เห็นว่าท่านจะไปขยายเวลา เพราะผมทราบว่าท่านต้องไปถ่ายเอกสารที่ยังอยู่ที่กองคดี แต่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ มันทำให้เห็นว่าความยุติธรรมล่าช้าคือความอยุติธรรม เพราะฉะนั้นฝากเรื่องนี้ไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งผมเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญ และผมเคยเป็นกรรมาธิการในการพิจารณา พ.ร.บ.อัยการ อยากเห็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่ศาล อัยการ ตำรวจ ราชทัณฑ์ ซึ่งวันนี้เราสั่นคลอนมากในประเทศไทยที่มีความเสื่อมศรัทธา ผมไม่อยากเห็นองค์กรอัยการถูกกล่าวหาเหมือนกรณีไม่อุทธรณ์คดีภาษี ซึ่งเป็นบาดแผลขององค์กรอัยการในอดีต ไม่อุทธรณ์ในคดีธนาคารกรุงไทย ไม่อุทธรณ์ในคดีกระทิงแดง 3 คดีใหญ่ๆ เป็นคดีที่ผมคิดว่าสั่นคลอนความศรัทธาของพี่น้องประชาชนมาก ซึ่งอัยการเป็นองค์กรใช้อำนาจกึ่งตุลาการ ทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน เรื่องนี้ยังไม่ยุติ และสามารถใช้อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดในการอุทธรณ์ได้ ส่วนในวันหน้าศาลจะตัดสินอย่างไร หรือจะพิจารณาใหม่ก็เป็นเรื่องที่เราทุกคนรับได้ แต่อย่าตัดตอนกระบวนการยุติธรรม ด้วยการไม่อุทธรณ์”

5. ไอทีวี เฮ! ศาล ปค.สูงสุดยืนไม่มีหนี้ต้องชำระ หรือความรับผิดตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ กับ สปน. เตรียมเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกำหนดทิศทางไอทีวีต่อไป!



เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ศาลปกครองสูงสุด องค์คณะที่ 2 ได้มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่ร้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทระหว่าง สปน. กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือไอทีวี ที่ระบุว่า สปน. และไอทีวี ต่างมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่กันและกันในจำนวนเงินเท่ากัน คือ 2,890.35 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว ต่างฝ่ายจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน

โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลที่มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางว่า คำอุทธรณ์ของ สปน.เป็นเพียงการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งเหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อกฎหมายและข้อสัญญาระหว่าง สปน.กับ ไอทีวี เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่กรณีที่เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

และที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า สปน.และไอทีวี ต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน ซึ่งเป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐาน และการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามกฎหมาย จึงไม่ใช่เหตุที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้ และมีคำสั่งยกคำฟ้องของ สปน.

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ไม่รับคำฟ้องของ สปน.ที่ร้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ปรากฎว่า บริษัท ไอทีวี มีการเผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี ลงวันที่ 25 ม.ค.2567 แจ้งผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ซึ่งทำให้บริษัทไม่มีหนี้ที่ต้องชำระ หรือภาระหน้าที่ หรือความรับผิดตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ หรือภาระผูกพันใดๆ กับ สปน. อีกต่อไป พร้อมมีการระบุว่า บริษัทจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาทิศทางของไอทีวีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น