xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 ต.ค.2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 11 แกนนำพันธมิตรฯ คดี ทอท.เรียกค่าเสียหาย 500 ล้าน ด้าน "สนธิ" ยัน ไม่เสียใจ เพราะสู้เพื่อชาติ!

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 11 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลังบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (ทอท.) ฟ้องขอให้ลูกหนี้ทั้งหมดล้มละลาย เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่าเสียหายจำนวน 500 ล้านบาท จากการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองในปี 2551 ตามที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาได้

โดยระบุว่า ทอท. โจทก์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้ลูกหนี้ทั้ง 11 ล้มละลาย และศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 12 ก.ย.2566 ให้พิทักษ์ทรัพย์ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ลูกหนี้ที่ 1, นายสนธิ ลิ้มทองกุล ลูกหนี้ที่ 2, นายพิภพ ธงไชย ลูกหนี้ที่ 3, นายสุริยะใส กตะศิลา ลูกหนี้ที่ 4, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ลูกหนี้ที่ 5

นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ลูกหนี้ที่ 6, นายอมร หรืออิทธิ หรืออมรเทพ หรือรัชต์ชยุตม์ หรืออมรศักดิ์ อมรรัตนานนท์ หรือศิรโยธินภักดี หรืออิทธิประชา ลูกหนี้ที่ 7, นายสำราญ รอดเพชร ลูกหนี้ที่ 8, นายศิริชัย ไม้งาม ลูกหนี้ที่ 9, นางมาลีรัตน์ หรือมาลีรักษ์ แก้วก่า ลูกหนี้ที่ 10 และนายเทิดภูมิไท หรือเทิดภูมิ ใจดี ลูกหนี้ที่ 11 เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว

ดังนั้น นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และบุคคลผู้เป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 24/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งผู้ใดมีหน้าที่ตามมาตรา 24/1 แล้วไม่ปฏิบัติตาม มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท ตามมาตรา 173/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483

อนึ่ง เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีนี้จะเป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ฝ่ายคำคู่ความ สำนักงานเลขานุการกรม กรมบังคับคดี หรือสำนักงานบังคับคดี ซึ่งลูกหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่โฆษณาคำสั่งนี้ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดวันลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 17 ต.ค.2566

ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ในฐานะอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ได้กล่าวในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. ถึงเรื่องดังกล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่การท่าอากาศยานไปฟ้องศาลแพ่งว่า เราทำให้การท่าอากาศยานเสียหาย จึงเรียกร้องค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เราแพ้แล้วพิพากษาให้เราทั้ง 11 คนร่วมกันจ่ายเงิน 500 ล้านบาท ศาลอุทธรณ์ยืนยังให้จ่าย 500 ล้านบาทเหมือนกัน มาถึงศาลฎีกา ศาลสุดท้ายท่านก็ยืน ให้จ่าย 500 ล้านบาท

“พวกผมคงไม่มีเงินไปจ่ายหรอกครับ ...แล้วก็ไม่ใช่เป็นการล้มละลายครั้งแรก นี่เป็นการล้มละลายครั้งที่สอง ครั้งแรก ผมล้มละลายเมื่อประมาณปี 2541 ตั้ง 20 กว่าปีแล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง บริษัทในเครือ หรือบริษัทต่างๆ ทั่วประเทศไทยต่างเดือดร้อนกันหมด ล้มละลายกันเป็นแถว บริษัทที่ผมทำอยู่ก็ไม่พ้นก็เลยต้องล้มละลายตาม ครั้งนี้ก็ไม่พ้นอีกเหมือนกัน เพราะว่าพวกเราไม่มีเงินไปจ่ายหรอกครับ เงินตั้ง 500 ล้านบาท แล้วศาลท่านไม่พิจารณาข้อสู้ของพวกเราเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่เป็นไร ผมเสียใจไหม ผมไม่เสียใจหรอกเรื่องนี้ เพราะว่าเราสู้กันเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง..."

นายสนธิ กล่าวด้วยว่า “สนธิ ลื้มทองกุล ล้มละลายมา 2 ครั้งในชีวิต โดนยิงมา 200 นัด ติดคุกติดตะรางมาแล้ว ท่านผู้ชมว่าผมได้ชดใช้หนี้แผ่นดินมากพอหรือยัง ผมว่ามากพอแล้วนะ สำหรับมนุษย์คนหนึ่งอย่างผม ที่พูดมานี่ไม่ได้น้อยอกน้อยใจเลยสักนิด ถือว่ามันเป็นภาระที่ต้องรับผิดชอบ แล้วผมไม่เสียใจเหมือนกับที่คุณศิริชัย ไม้งามพูด ไม่เสียใจเลยแม้แต่นิดเดียว

“สิ่งที่ผมสนใจมากที่สุดคือปัญญาของผม เอาปัญญามาให้ท่านผู้ชม ได้มากน้อยแค่ไหนนั่นคือสิ่งที่ผมจะทำก่อนที่ผมจะตาย เพราะว่าผมมีทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด และไม่มีใครเอาไปได้ ท่านผู้ชมรู้ไหมมันคืออะไร ใจผม ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ไม่มีใครเอาไปได้ เสียอะไรเสียไปรักษาใจให้ดี”

ขณะที่นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแกนนำพันธมิตรฯรวม 11 คนว่า "ขอคารวะแกนนำพันธมิตรทุกท่าน ที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จากการต่อสู้เพื่อประเทศบ้านเมือง ขอคารวะแกนนำพันธมิตรที่ไม่หนี ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่เหมือนนักการเมืองหน้าตัวเมีย ที่หนีไปเสวยสุขเมืองนอก แต่สั่งขี้ข้าปั่นความวุ่นวายในประเทศ ขอคารวะจิตใจแกนนำพันธมิตร"

2.ราชทัณฑ์ไฟเขียว "ทักษิณ" นอน รพ.ตำรวจต่อหลังครบ 60 วัน เหตุแพทย์ยันจำเป็นต้องรักษาต่อ ด้าน คปท. เตรียมทวงถามความจริงหน้า รพ.ตำรวจ 22 ต.ค. อาจมีบุกชั้น 14!


หลังจากหลายฝ่ายจับตาว่า กรมราชทัณฑ์จะให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาเด็ดขาดในคดีทุจริต 3 คดี อยู่ รพ.ตำรวจต่อไปอีกหรือไม่ หลังออกจากเรือนจำตั้งแต่คืนแรกที่เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ไปพักรักษาที่ รพ.ตำรวจ โดยอ้างมีอาการป่วยหลายโรค ซึ่งมีกำหนดครบ 60 วันในวันนี้ (21 ต.ค.) จากที่ก่อนหน้านี้ ช่วงจะครบกำหนด 30 วัน กรมราชทัณฑ์เคยอ้างเหตุตามความเห็นของแพทย์ รพ.ตำรวจ ให้นายทักษิณ อยู่ รพ.ตำรวจต่อ ว่าเพิ่งผ่าตัด แต่ไม่ยอมเผยสาเหตุของการต้องผ่าตัดนั้น

ปรากฎว่า ล่าสุด วันนี้ (21 ต.ค.) กรมราชทัณฑ์ได้เผยแพร่เอกสารให้ความเห็นชอบให้นายทักษิณรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจต่อไป โดยระบุว่า “กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า ขณะนี้ นายทักษิณ ชินวัตร รักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกครบ 60 วัน ในวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งความเห็นจากแพทย์โรงพยาบาลตำรวจผู้ทำการรักษา เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนรายละเอียดของการเจ็บป่วยนั้น เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลออกสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย

เอกสารของกรมราชทัณฑ์ ระบุด้วยว่า “รายละเอียดตามกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ระบุว่า การพักรักษาตัวเกินกว่า 30 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง, การพักรักษาตัวเกินกว่า 60 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ และการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ

ดังนั้น ในกรณีนายทักษิณที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกเกินกว่า 60 วัน ขณะนี้อธิบดีได้มีหนังสือเห็นชอบ พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง รายงานให้ปลัดกระทรวงทราบตามขั้นตอนทางกฎหมาย

“โดยกรมราชทัณฑ์มีสถิติสะสมการส่งผู้ต้องขังป่วยออกรักษาพยาบาลนอกเรือนจำนานเกิน 30 วันขึ้นไป ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565-ปัจจุบัน รวม 149 ราย แบ่งเป็น เกินกว่า 30 วัน จำนวน 115 ราย เกินกว่า 60 วัน จำนวน 30 ราย และเกินกว่า 120 วัน จำนวน 4 ราย (ข้อมูลสถิติกองบริการทางการแพทย์)”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงใกล้จะครบ 60 วันที่นายทักษิณอยู่ รพ.ตำรวจ ปรากฏว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวัน 13 ต.ค. โลกออนไลน์ได้มีการส่งต่อภาพการเคลื่อนย้ายนายทักษิณ ซึ่งอยู่ในชุดคนไข้สีฟ้าสวมหน้ากากอนามัยนอนอยู่บนเตียงรถเข็นผู้ป่วย

ซึ่งในเวลาต่อมา นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพของนายทักษิณจริง โดยทางผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รายงานในขณะนั้นว่า ช่วงเช้าวันนี้ (13 ต.ค.) เวลาประมาณ 10.00 น. แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจได้นำตัวนายทักษิณออกไปเพื่อทำซีทีสแกน และเอ็มอาร์ไอ ที่ตึก ภปร.โรงพยาบาลตำรวจ และเสร็จสิ้นในเวลา 11.00 น. ซึ่งการนำตัวออกไปครั้งนี้เป็นไปตามระบบการรักษาผู้ป่วยของแพทย์ ส่วนรายละเอียดของการเจ็บป่วยแพทย์ไม่ได้แจ้ง ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและจรรยาแพทย์

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่า ภาพดังกล่าวเป็นการจัดฉาก เพื่ออ้างเป็นเหตุให้นายทักษิณได้พักอยู่ รพ.ตำรวจต่อไปหลังครบกำหนด 60 วัน

โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ขอให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษ ตรวจสอบข้อพิรุธการป่วยของ นายทักษิณ หลังมีภาพนอนป่วยเข้ารับการตรวจ CT SCAN และ MRI เพื่อสร้างสถานการณ์ให้นักโทษชายเด็ดขาดได้รักษาตัวต่อในโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งขัดต่อกฎหมายราชทัณฑ์ 2560 และกฎกระทรวงหรือไม่

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการจัดฉากกันเพื่อหวังการตบตาสังคม หรือเพื่อเอื้อประโยชน์กันในการชงเรื่องมายังท่านปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอนอนรักษาตัวใน รพ.ตำรวจ ต่อไป ก่อนครบ 60 วัน โดยไม่ต้องกลับเข้าคุกอีกหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาช่วงครบ 30 วัน เคยอ้างเหตุเข้ารับการผ่าตัดมาแล้ว

“ที่สำคัญ กรมราชทัณฑ์จะอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำได้นั้น ต้องเป็นไปตาม ม.55 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 คือ 1.เป็นผู้ต้องขังซึ่งป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือ 2.เป็นโรคติดต่อร้ายแรงเท่านั้น ส่วนนักโทษชายรายนี้ ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และผู้บริหารเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แถลงเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ว่า มีประวัติการป่วยเพียง 4 โรคสำคัญเท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อแต่อย่างใด”

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ตนจะไปยื่นศาลปกครอง กรณีที่กรมราชทัณฑ์ให้ความเห็นชอบให้นักโทษเด็ดขาดชายรายนี้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ หรือโรงพยาบาลตำรวจนั้น เป็นการใช้อำนาจเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ รวมถึงแพทยสภาขอช่วยตรวจสอบนายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ เพราะก่อนเข้าประเทศไทยยังมีสุขภาพแข็งแรง

ด้านนายพิชัย ไชยมงคล และนายนัสเซอร์ ยีหมะ พร้อมตัวแทนกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้เข้ายื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม เช่นกันในวันต่อมา (18 ต.ค.) เพื่อขอคัดค้านการให้ น.ช.ทักษิณ นอนรักษาอาการป่วยต่อ รพ.ตำรวจ หลังครบ 60 วัน และขอให้รีบส่งตัวนักโทษสู่เรือนจำ

นายพิชัย กล่าวว่า มายื่นเรื่อง 3 ข้อถึง ปลัด ยธ. ประกอบด้วย 1.นำตัว น.ช.ทักษิณ ที่นอนรักษาตัวอยู่ ร.พ.ตำรวจ กลับเข้ามารับโทษที่เรือนจำโดยเร่งด่วน อย่าให้กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นเครื่องมือเฉพาะบุคคล 2.ขอคัดค้านกระบวนการร่วมกันจัดฉาก เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการขยายเวลานอนนอกเรือนจำของ น.ช.ทักษิณ และ 3.ขอเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา ได้มีสิทธิ์ในการเข้าไปร่วมสังเกตุอาการป่วย น.ช.ทักษิณ ตามหลักสากล

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา คปท. ได้ติดตามและไม่เห็นด้วยกรณี น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ออกไปรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำ โดยอ้างว่ามีอาการป่วย 4 โรคร้ายแรง สังคมก็ยังมีคำถามถึงอาการป่วยของ น ช.ทักษิณ ว่ามีอาการป่วยจริงหรือไม่ และเมื่อใกล้ครบกำหนด 30 วัน อ้างเหตุผลการผ่าตัด ประกอบกับความเห็นของนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต่างๆ ซึ่งเป็นนายแพทย์ภายนอก ก็มีความเห็นว่าโรคของ น.ช.ทักษิณ หากมีการรักษาจริงก็ใช้เวลาในการฟื้นตัวไม่นาน และยกตัวอย่างกรณีของนายเปรมชัย กรรณสูต อดีตผู้ต้องหาคดีฆ่าเสือดำ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้รักษาตัวภายนอกเรือนจำ ถือเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม

“กลุ่ม คปท. จึงร้องทุกข์กล่าวโทษที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เจ้าหน้าที่รัฐ 5 ราย คือ 1.นายอายุตม์ สินธพพันธ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ขณะนั้น) 2.นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 3.นายแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ 4.พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงห์จารุ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และ 5.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.66”

นายพิชัย กล่าวต่อว่า พอจะครบ 60 วัน ก็มีการจัดฉากเข็นเตียง น.ช. ทักษิณ ออกมาให้สังคมเห็นเพื่อจะใช้เป็นข้ออ้างในการขยายเวลาออกไปอีก เป็นเสมือนการมอบอภิสิทธิ์พิเศษแก่บุคคลเพียงคนเดียวหรือไม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหาก ปลัด ยธ. ในฐานะผู้พิจารณาอนุมัติ หากยังให้รักษาตัวนอน รพ.ตำรวจ ต่อ กลุ่ม คปท. จะยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อ ป.ป.ช. เพิ่มเติม อีก 1 ราย เพราะรู้เห็นด้วย

ด้านนายนัสเซอร์ เผยว่า ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ กลุ่ม คปท. จะจัดกิจกรรมบริเวณด้านหน้า รพ.ตำรวจ เพื่อทวงถามความเป็นจริงกรณี น.ช.ทักษิณ นอนป่วย ถ้าไม่ได้รับคำตอบ อาจต้องบุกขึ้นไปที่ชั้น 14 เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอาการป่วยของ น.ช.ทักษิณ ว่าจริงหรือไม่ และมีอาการหนักเพียงใด ยืนยันไม่ใช่คำขู่ แต่ต้องการให้สังคมรับทราบ และประชาชนทำหน้าที่ได้เพียงเท่านี้เท่านั้น

3. ราชทัณฑ์ปล่อยตัว “เปรมชัย” หลังเข้าข่ายลดวันจำคุกเพื่อคุมความประพฤติ ก่อนพ้นโทษจริง 7 ธ.ค. ไม่ต้องใส่กำไล EM เหตุป่วยเบาหวานเคยคว้านข้อเท้า!




เมื่อวันที่ 17 ต.ค. มีข่าวลือว่า กรมราชทัณฑ์ได้ปล่อยตัวนายเปรมชัย กรรณสูต นักโทษคดีเสือดำ ต่อมา กรมราชทัณฑ์ได้ออกเอกสารชี้แจงว่า “กรมราชทัณฑ์ ได้กำหนดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยลดวันต้องโทษจำคุก ครั้งที่ 13/2566 ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 โดยมีผู้ต้องขังที่เข้ารับการพิจารณารวมทั้งสิ้น 567 ราย อนุมัติ 484 ราย ไม่อนุมัติ 83 ราย โดยกลุ่มที่อนุมัติปล่อยตัวลดวันต้องโทษจำคุก ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 มีจำนวน 113 ราย

ซึ่งในกลุ่มนี้มีนักโทษเด็ดขาดเป็นที่สนใจของสังคม จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายเปรมชัย กรรณสูต ต้องโทษอยู่ที่เรือนจำอำเภอทองผาภูมิ ในความผิดฐาน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ปล่อยตัวลดวันต้องโทษจำคุกเพื่อคุมความประพฤตินายเปรมชัยฯ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2566 และจะพ้นโทษในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 แต่เนื่องจากนายเปรมชัยฯ มีปัญหาด้านสุขภาพ ตรงบริเวณข้อเท้าที่เคยถูกคว้านเนื้อที่ตายจากอาการเบาหวานลงขา เพราะป่วยเป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมได้ยาก และหากให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) จะมีการเสียดสีจนเกิดบาดแผลที่รุนแรงขึ้นอีก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบำบัดรักษาในกรณีฉุกเฉิน คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติเห็นควรไม่ให้ใช้ EM ทั้งนี้ เมื่อปล่อยตัวคุมประพฤติ นายเปรมชัยจะต้องมารายงานตัวและอยู่ภายใต้เงื่อนไขคุมความประพฤติจนกว่าจะครบกำหนดโทษจริงต่อไป”

อนึ่ง นายเปรมชัย และพวกรวม 4 คน ถูกดำเนินคดีหลังเข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ท้องที่ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี นายวิเชียร ชิณวงษ์ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี ได้นำกำลังเข้าจับกุม พร้อมยึดของกลาง ประกอบด้วย ซากเสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง พร้อมอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนจำนวนมาก เหตุเกิดระหว่างวันที่ 4-6 ก.พ. 2561

ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2564 จำคุกนายเปรมชัย 2 ปี 14 เดือน ไม่รอลงอาญา ให้ชดใช้เงิน 2 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 2 นายยงค์ โดดเครือ (คนขับรถ) จำคุก 2 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 3 นางนที เรียมแสน (แม่ครัว) จำคุก 1 ปี 8 เดือน รอลงอาญา 2 ปี (ไม่ได้ฎีกา) จำเลยที่ 4 นายธานี ทุมมาศ (นายพราน) จำคุก 2 ปี 13 เดือน

ระหว่างอยู่ในเรือนจำ ปรากฎว่า นายธานี ทุมมาศ นายพราน จำเลยที่ 4 ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และเสียชีวิตลงช่วงกลางเดือน ก.ค.2564 ทำให้คดีดังกล่าว เหลือจำเลยที่อยู่ในเรือนจำ 2 คนเท่านั้น คือนายเปรมชัยฯ จำเลยที่ 1 และนายยงค์ โดดเครือ (คนขับรถ) จำเลยที่ 2

หลังได้รับการปล่อยตัว นายเปรมชัยได้เดินทางออกจากเรือนจำอำเภอทองผาภูมิ โดยนายวิทูล ยิ้มพราย คนสนิท ได้ให้คนขับรถนำรถบ้านยี่ห้อเบนซ์สีขาว หมายเลขทะเบียน 2 ขธ 6263 กรุงเทพมหานคร ที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างครบครันมารับตัวนายเปรมชัย ซึ่งนายเปรมชัยสามารถเดินขึ้นรถได้ แต่ต้องใช้ไม้เท้า และมีผู้ช่วยพยุงตัวขึ้นรถ เมื่อนายเปรมชัยขึ้นรถแล้ว คนขับได้ขับรถออกไปในทันที

อย่างไรก็ตามนายวิทูล ยิ้มพราย กล่าวว่า ขณะนี้คุณเปรมชัยอายุ 70 ปีแล้ว หลังออกจากเรือนจำ สิ่งแรกเลยที่จะทำคือต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กทม. เนื่องจากคุณเปรมชัยป่วยเป็นหลายโรค โดยเฉพาะขณะนี้ตาด้านซ้ายมองไม่เห็น เนื่องจากก่อนวันที่ศาลตัดสิน คุณเปรมชัยได้ไปรักษาดวงตามา เมื่อมาฟังคำพิพากษาตัดสิน คุณเปรมจึงต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ทำให้ไม่สามารถรักษาได้อย่างเต็มที่

นายวิทูล ยังกล่าวถึงนายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 (คนขับรถ) ด้วยว่า คาดว่า คงอยู่ในเรือนจำ แต่เชื่อว่านายยงค์น่าจะมีรายชื่ออยู่ในข่ายกลุ่มที่อนุมัติปล่อยตัว ลดวันต้องโทษจำคุกในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็น 1 ในจำนวน 113 ราย

4. ศาลพิพากษาจำคุก "โฟล์ค" 2 ปี ไม่รอลงอาญา ผู้ต้องหาคดี ม.112 ด้าน "หยก" ปีนรั้วศาล "บุ้ง ทะลุวัง" ป่วน จนท. จนถูกกระบองตีแขนเลือดไหล ยังอ้าง จนท.ทำร้าย!



เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา นายสหรัฐ สุขคำหล้า หรือโฟล์ค ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีการปราศรัยพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุมที่ชื่อว่า "บ๊ายบายไดโนเสาร์" เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 โดยพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ขณะที่ทนายความประกันตัวในชั้นอุทธรณ์

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า เกิดความวุ่นวายที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ทะลุวัง" นำโดย น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง และ หยก (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) เยาวชนวัย 15 ปี เข้าไปหานายสหรัฐระหว่างถูกส่งไปยังห้องควบคุมตัว กระทั่งเกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่

จากนั้น เฟซบุ๊กของหยกได้โพสต์ข้อความระบุว่า "ไปฟังคำพิพากษาคดีอาญามาตรา 112 พี่โฟล์ค ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี พอพี่เขาถูกส่งไปยังห้องควบคุมตัว หนูไปตะโกนเรียกชื่อพยายามคุยกับพี่เขา เจ้าหน้าที่ไม่พอใจการกระทำหนู หนูเลยรีบคุยจนจะกลับออกมาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่มาแตะตัวหนู พี่บุ้งเข้ามากันไม่ให้เขาทำ จากนั้นมาจนถึงหน้าศาลได้เกิดเหตุถกเถียงกับเจ้าหน้าที่ เขาตีพี่บุ้งด้วยไม้ พี่บุ้งยกศอกขึ้นกัน ทำให้ไม่โดนหน้าโดนหัว แขนพี่บุ้งเลือดไหล ต่อมาเจ้าหน้าที่คนนั้นก็บอกว่า จะให้ศาลดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลกับทำร้ายเจ้าหน้าที่กับพี่บุ้งและหยก และอ้างว่ามีอำนาจทุกอย่างในศาลนี้ เขาพูดว่าในตอนนี้ได้แจ้งศาลแล้ว"

ขณะที่ปฏิกิริยาของชาวเน็ต ต่างตำหนิหยกและกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าทะลุวังว่า บุคคลภายนอกจะเข้าไปใกล้ตัวผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมในพื้นที่ควบคุม หรือห้ามกระทำการใดๆ ไม่ได้ และพื้นที่ตรงนั้นเป็นเขตอำนาจศาล ผิดเต็มๆ บางคนกล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายๆ อย่าง ขอเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง บางคนกล่าวว่า ชอบเทเลือดราดตัวเป็นปกติอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ เป็นต้น

ในเวลาต่อมา สำนักงานศาลยุติธรรมได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยระบุว่า "วันนี้มีการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งศาลได้ดำเนินการเสร็จแล้ว จากนั้นมีเยาวชนหญิงได้ปีนรั้วเข้ามาในบริเวณศาลอาญากรุงเทพใต้ ทั้งที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ได้ปิดประตูรั้ว หรือห้ามผู้มาติดต่อราชการเข้าแต่อย่างใด และขณะเวลาเกิดเหตุประชาชนก็ยังเข้ามาใช้บริการได้ตามปกติ

"เมื่อเกิดเหตุเช่นนั้น เจ้าพนักงานตำรวจศาล ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชนที่มาติดต่อราชการในขณะนั้นเห็นเหตุการณ์และได้เข้าห้ามปราม เพื่อไม่ให้ปีนรั้วเข้ามา จึงถูกบุคคลหนึ่งที่มาพร้อมกับพวกรวม 4 คน เข้ากระชากคอเสื้อเจ้าพนักงานตำรวจศาล จากนั้นกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้เดินเข้ามาและด่าทอเจ้าหน้าที่ขณะยืนโทรศัพท์รายงานเหตุการณ์และโทรแจ้งตำรวจท้องที่ให้เข้ามาควบคุมสถานการณ์

"ต่อมา บุคคลที่ได้กระชากคอเสื้อเจ้าพนักงานตำรวจศาลก่อนหน้านั้น ได้เดินเข้ามาผลักหน้าอกเจ้าพนักงานตำรวจศาล เจ้าพนักงานตำรวจศาลจึงเดินถอยออกและพูดห้ามปรามตามยุทธวิธีปฏิบัติหลายครั้ง แต่บุคคลดังกล่าวยังเดินเข้ามาเตะเจ้าพนักงานตำรวจศาล เจ้าพนักงานตำรวจศาลจึงใช้กระบองขู่ แต่ก็ไม่หยุดและยังเดินเข้าหา เจ้าพนักงานตำรวจศาลจึงใช้กระบองตีเพื่อระงับเหตุและป้องกันตัว

"หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ กลุ่มบุคคลทั้งหมดขอพบผู้บริหารศาล ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวอ้างว่าจะไปทำแผล และเดินออกไปจากศาลทั้งหมด ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่เห็นว่า เป็นสิทธิที่จะไปรักษาตัว จึงมิได้ห้ามปรามและขัดขวางแต่อย่างใด

"สำนักงานศาลยุติธรรมขอเรียนเพิ่มเติมว่า เจ้าพนักงานตำรวจศาลมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลตามหลักสากล เพื่อให้การดำเนินงานของศาลสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกคนได้สมดังเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไปจะเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดกล้องวงจรปิดในบริเวณศาลสามารถบันทึกไว้ได้"

5. "แอมมี่" ส่อเจอคุกคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ฯ หลังศาล รธน.ชี้ชัด ก.ม.อาญา ม.217 ระบุโทษวางเพลิงเผาทรัพย์ จำคุก 6 เดือนถึง 7 ปี ปรับ 1 หมื่นถึง 1.4 แสน ไม่ขัด รธน.!



เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีกรณีที่ศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่” นักร้องวง The Bottom Blues และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จำเลยที่ 1 และ นายธนพัฒน์ กาเพ็ง จำเลยที่ 2 ในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 140,000 บาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 140,000 บาท ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ นายไชยอมร ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้าเรือนจำคลองเปรม เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 28 ก.พ. 2564 ภายหลังถูกจับกุม นายไชยอมรโพสต์ข้อความว่า เหตุดังกล่าวเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเขาต่อกรณีนักกิจกรรมถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนนายธนพัฒน์ เป็นเยาวชนอายุ 18 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และวางเพลิงเผาทรัพย์จากเหตุดังกล่าวด้วย

สำหรับคดีนี้ มีรายงานว่า ศาลอาญาได้ออกหมายจับนายไชยอมร หรือแอมมี่ ในข้อหากระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564

โดยพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ขออนุมัติหมายจับนายไชยอมร หลังชุดสืบสวนตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบผู้ก่อเหตุใช้รถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ สีขาว เป็นยานพาหนะที่ใช้ก่อเหตุเผาทำลายทรัพย์สินราชการหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม จนทราบว่า มีผู้ร่วมก่อเหตุทั้งหมด 3 คน โดยนายไชยอมรเป็นผู้ลงจากรถไปก่อเหตุวางเพลิง ส่วนอีก 2 คนอยู่ในรถดังกล่าว

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวยืนยันในช่วงนั้นว่า ตำรวจมีพยานหลักฐานชัดเจนในการออกหมายจับบุคคลทั้งสาม พร้อมระบุว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องร้ายแรง และสะเทือนจิตใจ ตำรวจจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น