“เจี๊ยบ” งง จริงหรือ? ตั้งคำถามพาดพิง “สถาบัน” เข้าองค์ประกอบความผิดตาม #มาตรา112 ศูนย์ทนายสิทธิฯ เผย “ทานตะวัน” อดอาหารประท้วง หลังถูกถอนประกัน “ก้าวหน้า” ปลุกต้าน “เห็นต่าง” เป็น “อาชญากร”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (21 เม.ย. 65) เพจเฟซบุ๊ก การเมืองไทย ในกะลา โพสต์ข้อความพร้อมแชร์โพสต์ของ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ระบุว่า
“กลุ่มทะลุวัง” สำรวจความเห็นที่แยกราชประสงค์ ต้องการจ่ายภาษีให้ราชวงศ์หรือไม่
https://prachatai.com/journal/2022/03/97954
............................................
การตั้งคำถามไปเข้าองค์ประกอบความผิดตาม #มาตรา112 ดูหมิ่น หมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายได้อย่างไร
แทนที่จะสนใจผลโพล
กลับไปตั้งข้อหา ดำเนินคดีและสุดท้ายถอนประกันเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ
#ยกเลิก112
อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
21 เมษายน 2565
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=5201031166644255&id=100002122704302
ขณะเดียวกัน จากกรณีเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 112 ต่อมาในช่วงบ่าย นายกฤษฎา นุตจรัส ทนายความ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ ขอปล่อยชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน ต่อศาลอาญาใหม่อีกครั้ง แต่ศาลยกคำร้อง
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัว น.ส.ทานตะวัน ไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ ทวิตเตอรร์ TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ภายหลังทนายความได้เข้าเยี่ยมตะวันทางไลน์ของทัณฑสถานหญิงกลาง ทำให้ทราบว่า ตะวันได้เริ่มต้นอดอาหาร โดยดื่มเพียงน้ำและนมตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้ จึงเข้าสู่วันที่ 2 ของการอดอาหาร (จากแนวหน้า)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 65 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว คดีดำฝากขัง ฝ. 252/2565 ที่พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ยื่นคำร้อง ขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักเคลื่อนไหวอิสระ อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 112
กรณีวันที่ 5 มี.ค. 65 ผู้ต้องหาโพสต์เฟซบุ๊ก มีเจตนาพิเศษ ด้อยค่าสถาบันฯ ตาม ป.อาญามาตรา 112, ม.138 ว.2 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ม.368 ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีนี้ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา โดยวางหลักทรัพย์ 1 แสนบาท ให้ใส่กำไลอีเอ็ม และห้ามกระทำการอันเป็นการเสื่อมพระเกียรติ
โดย นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่า ในความเห็นของตน เนื้อหาที่พนักงานสอบสวนร้องมา ไม่มีเรื่องใดที่เป็นการผิดเงื่อนไขของศาล เนื่องจาก น.ส.ทานตะวัน โพสต์เฟซบุ๊ก เช่น มีตำรวจคอยติดตามดู มีการกักรถไว้ตอนที่กำลังจะไปเรียนหนังสือ เนื่องจากมีขบวนเสด็จฯผ่านตามที่ตำรวจกล่าวอ้าง แต่เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นการรายงานจากสายสืบ ไม่ได้เกี่ยวพันกับการหมิ่นสถาบัน แต่ประเด็นหลักที่ทางพนักงานสอบสวนนำเสนอ คือ น.ส.ทานตะวัน ได้โพสต์เวลาขบวนเสด็จฯ ที่จะเสด็จฯไปวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นประกาศของทางราชการอยู่แล้ว มีการโยงไปถึงเรื่องเก่าอย่างการที่เคยทำโพล ซึ่งกรณีนี้เป็นคดีความอยู่แล้วที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
นายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า ตนยังได้ขอศาลว่า น.ส.ทานตะวัน ยังเป็นผู้ต้องหาที่ถูกฝากขังอยู่ในอำนาจของศาล แต่มีการตามติดชีวิตอาจผิดกฎหมายได้ ตนจึงแถลงขอให้ศาลให้ความคุ้มครอง สำหรับการฟังคำสั่งวันนี้ตนไม่มีความหนักใจ
ด้าน น.ส.ทานตะวัน เปิดเผยว่า มีการคุกคามโดยจะมีชายหัวเกรียนมาคอยเฝ้าหน้าบ้าน จอดรถตามซอกซอย และขับรถติดตามเวลาเดินทางออกนอกบ้าน แบบนี้หลายครั้ง อย่างล่าสุด มีกรณีที่คนติดตามได้ขับรถและปาดหน้ารถยนต์ของตนที่นั่งอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนรู้สึกว่าอันตรายมากๆ ส่วนที่แน่ใจได้ว่า เป็นทางตำรวจจริง เนื่องจากมีทางตำรวจสันติบาลโทร.มาระบุว่า ผู้ที่ติดตามเป็นรุ่นน้องของเขาเอง ที่ผ่านมา ตนได้พยายามจะขอเจรจาพูดคุยกับคนที่ติดตามว่าทำไปเพื่ออะไร แต่ว่าเขาไม่ยอมลงมาตอบคำถาม หรือคุยกับเราเลยเป็นแบบนี้อยู่หลายครั้ง
น.ส.ทานตะวัน กล่าวต่อว่า การใส่กำไล EM นั้น ทำให้เกิดความไม่สะดวกหลายประการ อย่างเช่น กรณีแบตหมดที่เร็วมาก บางครั้งต้องตื่นมากลางดึก เพื่อชาร์จแบต และก็เวลาอาบน้ำทำความสะอาดไม่สะดวก เช็ดล้างยาก จึงได้ปรึกษากับทนายแล้วว่า เมื่อเวลาผ่านไปอีกสักระยะ อาจมีการขอถอดกำไลอีเอ็มออก เนื่องจากศาลมีเงื่อนไขกำหนดหลายข้ออยู่แล้ว และไม่คิดหลบหนีไปไหนแน่นอน เพราะกำลังวางแผนจะศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ต่อมาศาลมีคำสั่งโดยเห็นว่า ผู้ต้องหาได้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการรับเสด็จฯตามเอกสารที่ศาลให้ตรวจดู ถือว่าเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา จากนั้นเจ้าหน้าที่เตรียมนำตัวน.ส.ทานตะวัน ไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า - Progressive Movement โพสต์ประเด็น [หยุดปฏิบัติกับผู้เห็นต่างเหมือนเป็น “อาชญากร”]
โดยระบุว่า “ในเมื่อทุกวันนี้คดีความมั่นคง กลายเป็นคดีทางการเมืองของผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาลทั้งสิ้น เราเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่กลัวบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ แต่ทางเจ้าหน้าที่เข้าใจประชาชนหรือไม่ เพราะแนวทางปฏิบัติแบบนี้ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มันเกินกว่าเหตุ วันนี้รู้สึกเหนื่อยใจเป็นอย่างมาก เพราะการเป็นประชาชนประเทศนี้ ถ้าอยู่ตรงข้ามรัฐบาล วิจารณ์รัฐบาล ก็ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นอาชญากร”
พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เปิดเผยหลังจากได้เข้าสอบถามข้อเท็จจริงตำรวจ สถานีตำรวจนครบาล (สน.) พญาไท กรณีที่มีหนังสือ ที่ ตช 0015 (บก.น.1) 4/478 ลงวันที่ 19 เม.ย. 2564 เรื่อง “ขอให้เพิกถอนหนังสือเดินทางของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และตัวเธอเอง”
กรณีทวงถามข้อเท็จจริงดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อวานนี้ (20 เมษายน) พรรณิการ์เดินทางไปทำพาสปอร์ตที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน ศูนย์การค้าเอ็มบีเค ปรากฏว่า ไม่สามารถทำได้!
เมื่อสอบถามไปที่ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาสาเหตุ ก็ได้คำตอบว่า สน.พญาไท มีหนังสือ ลงนามโดย พ.ต.ท.บารมี วงษ์อินตา รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.พญาไท ระบุว่า ทั้ง 3 เป็นผู้ต้องหาคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จึงขอให้เพิกถอนหนังสือเดินทาง
ทำให้ พรรณการ์ ต้องเดินทางไปที่ สน.พญาไท เพื่อสอบถามถึงการออกหนังสือเพิกถอนพาสปอร์ตฉบับนั้น ทั้งๆ ที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ ยังไม่มีคำสั่งศาลห้ามเดินทางออกนอกประเทศแต่อย่างใด
ท่ามกลางสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจกับกรณีนี้ เมื่อเดินทางมาถึง พรรณิการ์ ได้ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้น ทาง สน.พญาไท ใช้เหตุการเพิกถอนหนังสือเดินทาง ว่า ธนาธร ปิยบุตร และตนนั้น เป็นผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งขอยืนยันว่า คดีนี้ทางอัยการยังไม่สั่งฟ้อง เพราะฉะนั้นยังไม่มีคำสั่งศาลห้ามเดินทางออกนอกประเทศอย่างแน่นอน อีกทั้งยังไม่แน่ว่า อัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ แต่ตำรวจกลับมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทาง วันนี้ จึงเดินทางมาเพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจในแนวปฏิบัติของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ไม่แปลกถ้าใครจะนึกคิดไปว่า กรณีนี้มีเหตุจูงใจทางการเมือง ที่ต้องการบดขยี้บรรดาแกนนำคณะก้าวหน้า และนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมที่เป็นฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่โดนคดีความมั่นคง คดีการเมืองต่างๆ รวมแล้วราว 1,800 คน ถ้ามีใครแจ้งความเอาไว้ หมายความว่า ตำรวจต้องมีหนังสือให้กรมการกงสุล เพิกถอนหนังสือเดินทางใช่หรือไม่ ?
“ถ้ามีใครไปแจ้งความเอาไว้ ช่ออยากถามว่า ทุกคนจะต้องโดนเพิกถอนหนังสือเดินทางแบบนี้หรือไม่ ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการเดินทางของบุคคลเหล่านี้อยู่ที่ไหน ไม่แน่ใจว่า นี่คือ แนวทางปฏิบัติของทางเจ้าหน้าที่หรือไม่ เพราะเราไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่โดนในลักษณะแบบนี้ ก่อนหน้านี้ มีนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม 11 คน รวมถึงแรปเปอร์วง Rap Against Dictatorship ก็โดนเพิกถอนพาสปอร์ตแบบเดียวกัน เราตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการเลือกปฏิบัติกับผู้ที่เห็นต่าง กับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือไม่ เพราะดูเหมือนจะถูกปฏิบัติแบบเพิ่มเส้นเพิ่มลูกชิ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแตกต่างจากคดีทั่วไปเป็นอย่างมาก” พรรณิการ์ กล่าว
หลังจากที่พรรณิการ์ได้เข้าพูดคุยกับตำรวจ ได้คำตอบกลับมาว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานในคดีความมั่นคง เพราะหากไม่ทำตามนี้เกรงว่าจะเป็นการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ และทางเจ้าหน้าที่ส่งเรื่องไปเป็นเพียงหนังสือขอความร่วมมือเพียงเท่านั้น ซึ่งดุลพินิจในการจะเพิกถอนการทำหนังสือเดินทางเป็นของอธิบดีกรมการกงสุล ว่า จะมีดุลพินิจอย่างไร
และก็มีเรื่องที่น่ายินดีที่ไม่ควรเป็นเรื่องตั้งแต่ต้น คือ ตำรวจยืนยันกับพรรณิการ์ ว่า จะทำหนังสือไปทางกรมการกงสุลภายในเที่ยงวันนี้ เพื่อยกเลิกหนังสือขอความร่วมมือดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม อยู่ที่อธิบดีกรมการกงสุลว่าจะดำเนินการหรือไม่
#คณะก้าวหน้า #หยุดคุกคามประชาชน
แน่นอน, ประเด็นที่น่าคิด ก็คือ ทุกประเด็นปัญหาล้วนถูกโยงเป็นประเด็นทางการเมือง แม้ว่า จะมีการทำผิดเกิดขึ้นจริง แต่บางฝ่ายกลับเห็นว่า ไม่ใช่ความผิด มองไปที่เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งที่ความเป็นจริง เป็นการแสดงออกที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น รวมถึงเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ?
เรื่องทำนองนี้ แม้แต่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็ได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานเอาไว้แล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มบุคคลที่นำมาโต้แย้ง โดยหยิบยกเรื่องการกลั่นแกล้งรังแกทางการเมือง “ปิดปาก” ผู้เห็นต่างทางการเมือง ใช้ “นิติสงคราม” เป็นเครื่องมือทางการเมือง
แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินที่ให้ความยุติธรรมไปมากกว่าศาล ตัวพวกเขาเองอย่างนั้นหรือ น่าคิดหรือไม่?