พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ หรืออดีตหัวหน้า ศรภ. ลั่นก้าวไกลขาดเหตุผลจนติดเป็นนิสัย แนะคุยกันด้วยเหตุด้วยผลโดยมีคนฝ่ายอื่นเข้าร่วมบ้าง ตั้งคำถามกล้าไหมง่ายๆ แค่นี้ หรือกล้าแต่พูดให้เด็กฟังเท่านั้น
วันนี้ (4 ก.พ.) เฟซบุ๊ก “พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ หรืออดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ระบุข้อความว่า ”ก้าวไกล กับ การขาดเหตุผลจนติดเป็นนิสัย การเฮโลกันออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มพรรคก้าวไกล ทั้งเก่าและใหม่ ในเชิงคัดค้านกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่อง คุณพิธา กับพวกรวม 44 คน ว่าใช้สิทธิเสรีภาพมุ่งยกเลิก ม.112 มาก จนพัฒนาไปเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองในที่สุด
กรณีนี้ มีหลายคนออกมาพูดๆๆๆๆ โดยไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลให้จบเสียก่อน เช่น คุณชัยธวัช พูดเรื่องคำวินิจฉัยฯ ออกมาสรุปได้ 7 เรื่อง แต่ดูเป็นเรื่องไร้สาระที่คุณชัยธวัชพูดจากที่นึกฝันเอาเอง เช่น
1. “การตีความว่า อะไร คือการล้มล้างการปกครอง อาจเกิดปัญหาที่มีการตีความในหลักเกณฑ์ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะความคลุมเครือในการตีความ ข้อเท็จจริง และ เจตนา “ (เรื่องนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า การล้มล้างการปกครองมีมากกว่า 100 วิธี ไม่ใช่มีแต่เรื่อง ม.112 เท่านั้น ถึงแม้จะเป็นเรื่อง ม.112 เองก็ตามก็มีอีกหลายสิบวิธี แต่วิธีของคุณพิธา กับพวกนั้น ศาลท่านพูดไว้ชัดเจนเกินพอว่ามันเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาอย่างไร ดังนั้น ส.ส.ก้าวไกลทุกคนจึงควรอ่านคำวินิจฉัยให้จบเสียก่อน )
2. อีกข้อหนึ่ง คุณชัยธวัชกล่าวไว้ว่า “คำวินิจฉัยนี้จะทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ระบบรัฐสภามาหาข้อยุติความขัดแย้ง “(เรื่องนี้ก็อยากถามว่าตั้งแต่มีรัฐสภามา ระบบรัฐสภาเคยยุติความขัดแย้งสำเร็จสักครั้งหนึ่งไหม? น่าจะลองยกมาสักเรื่องที่รัฐสภาทำสำเร็จ อย่าแค่พูดให้ถูกใจเด็กๆ เท่านั้นเอง)
3. ตัวอย่างอีกข้อ "อาจส่งผลให้ประเด็น สถาบันฯ กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสถาบันฯ เอง" (เรื่องนี้ก็เช่นกัน เมื่อไรกันที่คุณพูดความจริง หรือไม่พูดอยู่ด้านเดียว เพื่อหวังผลยุยงเด็ก แล้วมันก็ไม่มีผลอะไร เพราะศาลไม่เคยห้ามการแก้ไข ม.112 ถ้าทำตามกติกาของรัฐธรรมนูญ เพียงแต่การแก้ไขครั้งนี้มีเจตนาที่ชัดเจน และทำต่อเนื่องกันมาเกือบ 3 ปีแล้ว อีกอย่างหนึ่ง การพูดของคุณชัยธวัช ซึ่งแย่อยู่แล้ว แต่คุณพิธาเอาไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ ผิดๆ ถูกๆ เพิ่มเข้าไปอีก เช่น ใช้คำว่า treason ที่แปลว่า กบฏ จนอาจทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้าใจผิดได้)
4. คุณชัยธวัชระบุด้วยว่าอาจนำไปสู่ปัญหา "ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญ"
(กรณีนี้ข้อเท็จจริงคือ ศาลรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นจากฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้ใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ สำหรับดูแล ปัญหาต่างๆที่เกิดจากฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลัก ดังนั้น จะไปผิดปกติอะไร นอกจากการใช้ความแค้นส่วนตัวของฝ่ายนิติบัญญัติบางคนมากดดันกับ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เท่านั้นเอง)
ดังนั้น เรื่องนี้น่าลองเอามาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล โดยมีคนฝ่ายอื่นเข้ามาร่วมบ้าง เช่น ดร.อานนท์ ดร.นิวส์ และอีกหลายคนก็พร้อมอยู่นะครับ ทีวีทุกช่องพร้อมเปิดให้พูดคุยกัน กล้าไหมละครับ ก็ง่ายๆแค่นี้เอง หรือกล้าแต่พูดให้เด็กฟังเท่านั้น”
คลิกอ่านโพสต์ต้นฉบับ