วิกฤติขัดแย้งมลรัฐเทกซัสกับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ส่อลาม เมื่อผู้ว่าการรัฐไม่ทำคำตัดสินของศาลฎีกาที่ให้เปิดทางให้ผู้อพยพเม็กซิโกเข้าประเทศ พร้อมสู้กลับด้วยการประกาศกฎอัยการศึก เสริมกำแพงลวดหนาม ตรึงกำลังทหารล้อมรอบ โดยมี 25 มลรัฐฐานเสียงรีพับลิกันร่วมให้การสนับสนุน ขณะที่รัฐบาลกลางก็ส่งรถถัง-รถหุ้มเกราะมุ่งไปยังชายแดนเทกซัส สถานการณ์อาจบานปลายสู่สงครามกลางเมือง หรือประกาศแยกตัวเป็นเอกราชของรัฐเทกซัส อย่างที่เคยเป็นมาแล้วเมื่อราว 180 ปีก่อน และแนวคิดนี้ยังสะสมเรื่อยมา และปะทุขึ้นเมื่อเกิดความขัดแย้งรุนแรงกับรัฐบาลกลาง โดยมีการเมืองระหว่างพรรครีพับลิกันและเดโมแครตอยู่เบื้องหลัง
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐเทกซัสกับรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ที่สะท้อนให้เห็นภาพความสับสนวุ่นวายทางการเมืองภายในสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นจากนายเกร็ก แอบบอต ผู้ว่าการมลรัฐเทกซัส ประกาศกฎอัยการศึกและชูธงประกาศเอกราช ซึ่งเทกซัสเคยเป็นประเทศเอกราชมาแล้ว 9 ปี ก่อนรวมเป็นประเทศเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา
นายเกร็ก แอบบอตต์ ผู้ว่าการมลรัฐเท็กซัส ต้องการเดินหน้าแยกตัวเป็นอิสระจากสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหาชายแดนรัฐเท็กซัส กับ ประเทศเม็กซิโก ซึ่งผู้ว่าการรัฐเท็กซัส สั่งให้มีการเพิ่มเติมรั้วลวดหนาม และสิ่งกีดขวางมิให้ผู้อพยพชาวเม็กซิโกหลั่งไหลเข้ามาในรัฐเท็กซัสได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง โดยในเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียวก็มีผู้อพยพเดินทางผ่านเม็กซิโกเข้ามายังรัฐเท็กซัสถึงกว่า 300,000 คน
อย่างไรก็ตามการดำเนินการสกัดกั้นผู้อพยพดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ของนายโจ ไบเดน จึงดำเนินการส่งเรื่องฟ้องร้องต่อศาลฎีกา
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 ศาลฎีกาก็มีคำตัดสินอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางรื้อถอนบางส่วนของรั้วลวดหนามที่สร้างขึ้นตามแนวชายแดนติดกับเม็กซิโกตามนโยบายเปิดพรมแดนของประธานาธิบดีไบเดน ที่ไม่ปกป้องรัฐเท็กซัสจากการบุกรุกของผู้อพยพลี้ภัย ด้วยเหตุที่ว่า หลายปีที่ผ่านมากลุ่มผู้อพยพชาวเม็กซิโกนั้นเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต และมีส่วนให้เขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2563 และน่าจะเป็นฐานเสียงสำคัญของเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี 2567 นี้ด้วย
นายเกร็ก แอบบอตต์ ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสจากพรรครีพับลิกัน ออกมาระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ได้เปลี่ยนชายแดนทางใต้ของประเทศให้กลายเป็นจุดเสี่ยงต่อการอพยพย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายแทนที่จะรักษากฎหมายและปกป้องชายแดน กลับสนับสนุนการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่ชายแดนติดกับเม็กซิโก และผู้ก่อการร้ายเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา
ถ้อยแถลงของผู้ว่าการรัฐเท็กซัสถือเป็นการตั้งป้อมปฏิเสธคำสั่งจากรัฐบาลกลาง และท้าทายอำนาจของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมศุลกากรและป้องกันชายแดน และกระทรวงความมั่นคงของสหรัฐฯ
ขณะที่ฝ่ายบริหารของไบเดนก็ฟ้องร้องรัฐเท็กซัสต่อศาล ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งระงับการสร้างรั้วยาวเพื่อปกป้องพลเมืองอเมริกัน และรัฐบาลไบเดนให้เวลาผู้ว่าการรัฐเท็กซัส 24 ชั่วโมงในการปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลฎีกาสหรัฐ
นอกจากนี้ “รัฐบาลกลางสหรัฐฯ” ยังสั่งการให้กระทรวงกลาโหมและกองทัพส่งรถถัง และ รถหุ้มเกราะ มุ่งไปยังชายแดนเทกซัสที่มีทหารกองกำลังพิทักษ์ของรัฐเทกซัสประจำการอยู่และได้รับคำสั่งให้สกัดกั้นกองกำลังทหารรัฐบาลกลางตรงชายแดนติดกับเม็กซิโก
ทั้งนี้ ทุกมลรัฐในสหรัฐอเมริกาจะมีกองพิทักษ์รักษาชายแดน เรียกว่า National Guard ทุกมลรัฐจะมีหมด จะมีมากหรือน้อย ตามแต่ความจำเป็น สำหรับเทกซัสนั้นมีอยู่ประมาณ 102,000 คน
“รัฐเท็กซัส” จึงสู้กลับด้วยการประกาศกฏอัยการศึก ด้วยการติดตั้งลวดหนามและเครื่องกีดขวางชายแดนเพิ่มเติมปิดกั้นผู้อพยพลี้ภัยที่หนีเข้ามายังรัฐเท็กซัส ขณะที่ฝ่าย “รัฐบาลกลาง” ก็สั่งห้ามไม่ให้ผู้อพยพเดินทางออกจากรัฐเท็กซัสไปสู่มลรัฐ และหัวเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ อื่น ๆ
ภาพด้านล่าง คือกองกำลังพิทักษ์ชายแดนของเท็กซัสรออยู่บริเวณริมน้ำในจุด Eagle Pass รัฐเท็กซัส ซึ่งมีการลักลอบข้ามพรมแดนจากเม็กซิโกมายังสหรัฐฯ โดยผู้ว่าการรัฐฯ เกร็ก แอบบอตต์ สั่งให้กองกำลังของรัฐเท็กซัสฝ่าฝืนคำตัดสินของศาลฎีกา สหรัฐฯ ที่ตัดสินให้รัฐบาลกลางสามารถส่ง เจ้าหน้าที่ตระเวนชายแดนของรัฐบาลกลางเข้าควบคุมพื้นที่ดังกล่าว เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567
ข่าวทั้งสื่อทางเลือกและสื่ออิสระ เท่าที่ดูมา ในขณะนี้รัฐเทกซัสก็มีการเคลื่อนรถถังตัวเองเหมือนกัน อย่างเช่น เอบรามส์ (Abrams) รถถังที่ทางรัฐบาลกลางก็ใช้ พร้อมประจัญหน้ากับกองกำลังของรัฐบาลกลางที่เข้ามา
จากการที่ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ลุกขึ้นมาขัดคำสั่งของศาลสูง และคำสั่งของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็ปรากฎว่า มีผู้ว่าการรัฐในอีก 25 รัฐ ออกมาแสดงจุดยืน เป็นแนวร่วมรัฐเท็กซัสต่อต้านรัฐบาลกลาง และสนับสนุนแนวทางของรัฐเท็กซัสในการต่อสู้กับคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และขัดแย้งกับรัฐบาลกลาง
ทั้งนี้ พื้นที่สีแดงตามแผนที่คือ มลรัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งผู้ว่าการรัฐฯ ลงชื่อให้การสนับสนุน แก่ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส นายเกร็ก แอบบอตต์ (รัฐเท็กซัสเป็นเทา) ในข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงกับรัฐบาลกลาง ของนายโจ ไบเดน
ขณะที่เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา นายดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงของรัสเซีย ได้เผยแพร่ความเห็นผ่านแพลตฟอร์ม X โดยกล่าวเตือนไว้ว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า Texit (เหมือนกับ Brexit ที่ใช้เรียกการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ) อาจจะจุดชนวนสงครามกลางเมืองที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และชี้ว่านี่เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนของความอ่อนแอของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาของการเมืองภายใน และเป็นผลมาจากการกระทำของชาวอเมริกันเอง
“สิ่งที่ผมเคยเขียนเล่น ๆ ถึง การสถาปนา ‘สาธารณรัฐประชาชนเท็กซัส (People's Republic of Texas)’ เริ่มกลายเป็นความจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่า ไม่สามารถรับมือกับวิกฤตการอพยพย้ายถิ่นฐานซึ่งเกิดขึ้นในรัฐที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกาได้ ผู้ว่าการรัฐ เลิกหวังพึ่งทำเนียบขาว และเลิกคำนึงถึง สิ่งที่นายไบเดนชายชราแห่งทำเนียบขาวคิด โดยหันมาเริ่มซ่อมแซมรั้วลวดหนามด้วยตัวเองเพื่อหยุดยั้งการหลั่งไหลของผู้อพยพที่ข้ามพรมแดนเข้ามา
“นี่เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนของอำนาจนำของสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากภายใน และเป็นผลมาจากการกระทำของชาวอเมริกันเอง” นายเมดเวเดฟระบุ และว่า “มีหลายกรณีในประวัติศาสตร์ที่บางรัฐพยายามแยกตัวออกจากมาและก่อตั้งสมาพันธรัฐ ผลลัพธ์สุดท้ายคือสงครามกลางเมืองนองเลือดซึ่งคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด สหรัฐอเมริกาอาจต้องเผชิญกับวิกฤติทางรัฐธรรมนูญที่มิอาจแก้ไขได้ และต้องตกอยู่บนทางแพร่งแห่งความขัดแย้ง และการเผชิญหน้าครั้งใหม่ที่อาจสร้างความเสียหายยิ่งกว่านั้นไปอีกนาน”
สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองภายในสหรัฐฯ ณ เวลานี้ที่ผู้สังเกตการณ์ และสื่อมวลชน ของสหรัฐฯ หวั่นเกรงว่าอาจจะลุกลามบานปลายจนนำไปสู่สภาวะ “สงครามกลางเมือง (Civil War)” ในสหรัฐฯ ก็ได้นั้น อาจจะเรียกว่าเป็น “กฎแห่งกรรม” ก็คงไม่ผิดนัก
เมื่อสามปีครึ่งมาแล้ว ในรายการ คุยทุกเรื่องกับสนธิ Ep.37 ตอน “จุดเสื่อมอาณาจักรอเมริกา จุดเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์โลก” ซึ่งออกอากาศเมื่อ วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2563 เคยเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา และ รัฐเท็กซัสไว้ว่า
“หลังจากที่พวกผิวขาว ชาวอังกฤษ ชาวยุโรปทั้งฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส แย่งแผ่นดินอเมริกามาจากชาวอินเดียนแดงแล้ว ก็เกิดการสู้รบและเกิดการปฏิวัติอเมริกาขึ้นมา จนในที่สุดอเมริกาก็สามารถประกาศอิสรภาพได้ ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2319 (ค.ศ.1776) ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลเวเนีย ทำให้เกิดประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกาที่ชื่อ จอร์จ วอชิงตัน ขึ้นมา
“หลังจากที่อเมริกาได้เริ่มมีประธานาธิบดีคนแรก จอร์จ วอชิงตัน แล้ว สหรัฐอเมริกาก็เริ่มขยับขยายดินแดนของตัวเอง ซึ่งอยู่ในภาวการณ์ที่อเมริกาต้องการที่จะสร้างชาติในขณะนั้น
“หลังจากที่ชนะอังกฤษแล้ว ฝรั่งเศสก็เริ่มถอนตัวออกมา เพราะตอนที่อเมริการบกับอังกฤษนั้น ฝรั่้งเศสก็เป็นพันธมิตรร่วมรบกับอเมริกาด้วย ตอนนั้นฝรั่งเศสก็ถือ ยึดครองบางส่วนอยู่ในอเมริกาด้วย ตอนหลังอเมริกาก็ซื้อพื้นที่บางส่วนจากฝรั่งเศสไป"
จากแผนที่อันแรก จะเห็นว่าสีชมพู คือที่สหรัฐอเมริกามีพื้นที่อยู่ นอกนั้นแล้วไม่ใช่ของอเมริกาทั้งสิ้น นั่นคือปี พ.ศ.2332 หรือช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์
หลังจากนั้นอีกเพียง 56 ปี หรือไม่ถึง 60 ปีสีชมพูซึ่งเป็นแผนที่อเมริกานั้น ก็ได้รุกคืบออกมาไปจนกระทั่งกินเข้าไปอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของอเมริกาแล้ว และหลังจากนั้นแล้ว ทางอเมริกาก็เริ่มที่จะยึดแคลิฟอร์เนียมาจากเม็กซิโก แล้วก็เข้าไปยึดในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ที่เขาเรียกว่า Territory คือยังไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไรมากมายนัก รวมทั้งมลรัฐเท็กซัส
แต่ก่อนนั้น “เท็กซัส” เป็นประเทศเอกราช โดยเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ต้องตัดสินใจแล้ว ระหว่างที่จะเป็นประเทศเอกราชต่อไป หรือจะต้องเข้ามาร่วมกับอเมริกา แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจที่จะเข้ามาร่วมกับสหรัฐอเมริกา อย่างมีเงื่อนไขว่าสามารถจกแยกตัวออกมาได้ภายหลัง เป็นอิสระได้ ถ้าไม่พอใจการกระทำหรือพฤติกรรมของรัฐบาลกลาง
ทั้งนี้ หากดูเส้นทางเวลาทางประวัติศาสตร์แนวคิดเรื่องการแยกตัวออกจากรัฐเท็กซัสเกิดขึ้นมานับร้อย ๆ ปี แล้วตั้งแต่ก่อนรัฐเท็กซัสจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ สหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2388
ก่อนศตวรรษที่ 20 ปี พ.ศ.2379 (ค.ศ.1836) เท็กซัสเกิดสงครามกลางเมือง เกิด “ศึกอลาโม” ทหารเท็กซัสซึ่งมีคนแค่ 187 คนใช้ป้อมอลาโมเป็นสถานที่ต่อสู้ชนะกองทัพทหารเม็กซิกันกว่า 7 พันนายของประธานาธิบดี ซานตาอันนา นำไปสู่การประกาศเอกราชและสถาปนา “สาธารณรัฐเท็กซัส” ปกครองตนเองยาวนาน 9 ปีโดยมีธงเอกราชที่มีรูปดาว 1 ดวงเป็นธงประจำรัฐเท็กซัส เป็นที่มาของฉายา Lone Star State
ต่อมาใน ปี พ.ศ.2388 (ค.ศ.1845) ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเท็กซัส กับ ประธานาธิบดี เจมส์ น็อกซ์ โพล์ก (James Knox Polk) ของสหรัฐฯได้ลงนามในสนธิสัญญาผนวกรวมเท็กซัสกับสหพันธรัฐ เท็กซัสจึงกลายเป็นรัฐที่ 28 โดยมีเงื่อนไขให้เท็กซัสแยกตัวเป็นเอกราชได้ถ้าถูกคุกคามจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และตรงนี้เองเป็นพื้นฐานทางกฎหมายที่ผู้ว่าการรัฐ นายเกร็ก แอบบอต ของเทกซัส ตัดสินใจที่จะแยกตัวและตัดสินใจที่จะปฏิเสธคำสั่งของศาลฎีกา
แนวคิดเรื่องการแยก “เท็กซัส” ออกมาเป็นรัฐเอกราช เป็นประเทศแยกนั้นได้รับการสั่งสมและบ่มเพาะเรื่อยมา แต่ก็ถูกสกัดกั้นจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่อ้างว่า“ประเทศสหรัฐอเมริกาแบ่งแยกไม่ได้”
ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ยังได้พิพากษาว่า “รัฐเท็กซัสได้ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่การเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกจากกันได้ นั่นหมายความว่ารัฐเท็กซัสไม่อาจจะแยกตัวออกได้โดยลำพัง”
แต่สุดท้ายความเห็น และคำตัดสินเหล่านี้ก็มิอาจหยุดยั้งความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯ ที่คุกรุ่นจนใกล้ถึงจุดแตก อันมีตัวแทนของความขัดแย้งคือ นายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันได้
จนสุดท้ายความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ เรื้อรังมาอย่างยาวนานก็อาจนำไปสู่ “วิกฤติ Texit” ที่รัฐเท็กซัสเดินหน้ากระบวนการแบ่งแยกตัวดินแดนออกจากสหรัฐฯ ทั้งต่อต้านและปฏิเสธอำนาจรัฐบาลกลาง ซึ่งไม่ยินยอมให้มีการแบ่งแยกออกไป โดยบางทีอาจบานปลายนำไปสู่ความรุนแรงนำไปสู่วิกฤตสงครามกลางเมืองที่อเมริการบกันเองก็ได้ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น!
“นี่ก็คือความแตกแยกในอเมริกา ระหว่างพรรคเดโมแครต กับ พรรครีพับลิกัน ซึ่งจะไม่มีทางเชื่อมต่อกันได้เลย เพราะว่าพรรครีพับลิกัน จริงๆ แล้ว เทกซัสนั้นเป็นที่อยู่ของคนผิวขาวส่วนใหญ่ และมีความคิดค่อนข้างจะสุดโต่ง แต่พรรคเดโมแครตซึ่งเป็นรัฐบาลกลางอยู่ขณะนี้ กลับมีส่วนผสมของคนที่มีนโยบายเสรีนิยมรุ่นใหม่ที่สามารถที่จะทำอะไรก็ตามที่ให้เข้าไปสู่หลักการของเสรีนิยม ซึ่งเทกซัสไม่ยอม
“เรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ ถึงแม้จะจบลง แต่ความแตกร้าว หมางเมิน และความร้าวฉาน ของความรู้สึกของคนที่เทกซัส กับความรู้สึกของคนที่ไม่ได้อยู่ในเทกซัส และเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลางนั้น จะไม่มีวันเชื่อมต่อกันได้
“ที่สำคัญ 25 มลรัฐ ที่มีผู้ว่าการเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน ให้การสนับสนุนเทกซัส และเริ่มส่งทหารรักษาชายแดน แต่ละรัฐจะส่งไป แล้วแต่มีมาก/มีน้อยแค่ไหน ไอดาโฮส่งไป 4 พันคน รัฐโน่นรัฐนี่่ส่งไป รวมเบ็ดเสร็จแล้ว ทหารรักษาพิทักษ์ชายแดน หรือที่เรียกว่า National Guard ถ้ารวมทุกๆ มลรัฐ 25 มลรัฐ ที่ส่งมา บวกกับของเทกซัสเอง จำนวนก็จะมีประมาณ 2 แสนกว่าคน” นายสนธิกล่าว