xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม (ตอนที่ ๕๗)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุสาวรีย์ ฟาน โฮเคนดอร์ป
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 เป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่มีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ทั้งรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 และรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นจุดตั้งต้นให้เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ความแตกต่างจะอยู่ที่เนเธอร์แลนด์เคยมีการปกครองแบบราชาธิปไตยของตัวเองมาก่อน ส่วนเบลเยี่ยมนั้นก้าวเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยไม่เคยเป็นอิสระและมีสถาบันกษัตริย์ของตัวเองมาก่อน แต่อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอื่นมาโดยตลอด ส่วนเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ระบอบการปกครองที่น่าสนใจมาก เพราะก่อนที่จะเป็นรัฐเดี่ยวและปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เนเธอร์แลนด์ผ่านการปกครองแบบสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐและสาธารณรัฐ และกลับมาเป็นเป็นราชาธิปไตย แต่ปกครองโดยชาวฝรั่งเศส และจากราชาอาณาจักรได้กลายเป็นแค่ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิของจักรพรรดินโปเลียน และเปลี่ยนมาเป็นราชอาณาจักรและปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหลังจากที่นโปเลียนแพ้ “สงครามสหพันธมิตรครั้งที่หก” (the Sixth Coalition War) สงครามสหพันธมิตรครั้งที่หกส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในหลายประเทศในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์

เมื่อเนเธอร์แลนด์ต้องปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ บรรดาชนชั้นนำในเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการเพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเตรียมการที่ว่านี้คือ

หนึ่ง สรรหาตัวผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐหรือการสถาปนาสถาบันกษัตริย์ขึ้น

สอง การเตรียมร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดหลักการการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 การเตรียมการสองเรื่องนี้ในเนเธอร์แลนด์มีความสัมพันธ์โยงใยกันอย่างแยกไม่ได้ หลังจากรัฐบาลรักษาการได้อัญเชิญวิลเลียม เฟรดริค (Willem Frederik) บุตรของวิลเลียมที่ห้าขึ้นเป็นกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์ วิลเลียม เฟรดริคได้วางเงื่อนไขว่า พระองค์จะยอมรับเป็นกษัตริย์เนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อ เนเธอร์แลนด์จะต้องมี “รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นด้วยภูมิปัญญา” (a wise constitution) 

ในการที่จะได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นด้วยภูมิปัญญา” (a wise constitution) วิลเลียม เฟรดริค ทรงแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1813 และให้  นายกิสเบิร์ต คาเรล ฟาน โฮเคนดอร์ป (Gijsbert Karel van Hogendorp) เป็นประธาน

 ฟาน โฮเคนดอร์ป เป็นใคร ? และทำไมวิลเลียม เฟรดริค ถึงแต่งตั้งให้เขาเป็นประธานคณะร่างรัฐธรรมนูญ ? 

อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า หลังจากที่ฝรั่งเศสแพ้สงครามสหพันธมิตรครั้งที่หก อันส่งผลให้เนเธอร์แลนด์หลุดออกจากจักรวรรดิฝรั่งเศส รัสเซียและปรัสเซียได้กดดันให้เนเธอร์แลนด์ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และให้วิลเลียม เฟรดริคบุตรของวิลเลียมที่ห้าขึ้นเป็นกษัตริย์ และชนชั้นนำเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้น ชนชั้นนำกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวขับไล่วิลเลียมที่ห้าและสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นภายใต้อิทธิพลการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ดังนั้น ในแง่นี้ วิลเลียม เฟรดริคจึงต้องหาผู้ที่พระองค์ไว้ใจให้เป็นประธานคณะร่างรัฐธรรมนูญ และฟาน โฮเคนดอร์ปคือบุคคลผู้นั้น

 ฟาน โฮเคนดอร์ปดำรงตำแหน่งประธานคณะร่างรัฐธรรมนูญในขณะที่เขามีอายุได้ 51 ปี ผ่านการอบรมโรงเรียนนายร้อยของปรัสเซีย และเข้าประจำการในกองทัพปรัสเซีย และได้เป็นทหารมหาดเล็กในราชสำนักของพระเจ้าเฟรดริกที่สองมหาราช ต่อมาเขาได้เป็นผู้ติดตามตัวแทนคนแรกที่ดัตช์ส่งไปอเมริกาเหนือในปี ค.ศ. 1783 และได้มีโอกาสได้พบกับบรรดาผู้นำของอเมริกา อันได้แก่ จอร์จ วอชิงตัน โทมัส เจฟเฟอร์สัน และจอห์น อาดัม และได้มีการติตต่อทางจดหมายกับเจฟเฟอร์สันในเวลาต่อมา ในขาเดินทางกลับจากอเมริกา เขาได้แวะที่อังกฤษ และได้พบกับวิลเลียม พิท (William Pitt the Younger) ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยอายุที่น้อยที่สุด นั่นคือ 25 ปี และที่อังกฤษ ฟาน โฮเคนดอร์ปได้มีโอกาสศึกษาการอภิปรายของรัฐสภาอังกฤษด้วย

เมื่อกลับมาถึงเนเธอร์แลนด์ วิลเลียมที่ห้าได้แต่งตั้งให้เขาผู้บังคับกองร้อยทหารราบรักษาพระองค์ในเมืองเบรดา (ถ้าผู้อ่านยังจำได้ ผู้เขียนเคยกล่าวถึงเมืองเบรดาในเนเธอร์แลนด์ว่าเป็นเมืองที่พระเจ้าชาร์ลสที่สองของอังกฤษเสด็จลี้ภัยมาประทับ หลังจากที่ฝ่ายรัฐสภาได้ชัยชนะในสงครามกลางเมือง และตัดสินสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งพระราชบิดาของพระองค์ในปี ค.ศ. 1649)
ต่อมา เขาได้ลาออกจากการเป็นทหารและสมัครเข้าศึกษาด้านกฎหมายจนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไลเดน (University of Leiden) ในปี ค.ศ. 1786 และในหน้าคำอุทิศในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา เขาได้อุทิศการเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้กับ วิลเลียมที่ห้า
ต่อมาเมื่อเกิดความแตกแยกร้าวลึกในการเมืองเนเธอร์แลนด์ระหว่างกลุ่มปิตุภูมิดัทช์ (Dutch Patriots) ที่ต่อต้านรัฐบาลของวิลเลียมที่ห้า กับ กลุ่ม  “the Orangists”  ที่สนับสนุนวิลเลียมที่ห้า ผู้มีเชื้อสายราชวงศ์โอรันจ์ (Orange) (ผู้สนใจโปรดดูตอนที่ 53) คงได้กันได้ว่า ฟาน โฮเคนดอร์ปอยู่ในกลุ่ม “the Orangists” และเป็นผู้ที่แข็งขันในการปกป้องวิลเลียมที่ห้า

หลังจากที่กองทัพปฏิวัติฝรั่งเศสได้รุกเข้าเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1795 และส่งผลให้  กลุ่มปิตุภูมิดัทช์ (Dutch Patriots) ได้ชัยชนะและสถาปนาสาธารณรัฐบาตาเวีย (Batavian Republic) ขึ้น ฟาน โฮเคนดอร์ปได้ลดบทบาททางการเมือง และหันไปสืบทอดกิจการการค้าของบิดาที่แอมสเตอร์ดัม แต่ด้วยประสบการณ์ที่เขาได้มีโอกาสพบปะผู้นำทางการเมืองและได้เรียนรู้การเมืองของอเมริกาและอังกฤษ รวมทั้งประสบการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นในบ้านเกิดเมืองนอนของเขา และการศึกษากฎหมายจนจบระดับปริญญาเอก ทำให้เขาตกผลึกทางความคิดและวิสัยทัศน์ทางการเมือง เขาได้เผยแพร่ความคิดทางการเมืองของเขาผ่านงานเขียนต่างๆสู่สาธารณะ อาทิ ข้อเขียนในปี ค.ศ. 1799 เรื่อง The Union of Utrecht revised ที่เสนอให้มีกฎหมายควบคุมการใช้อำนาจของกษัตริย์
 ต่อมาในปี ค.ศ. 1801 เมื่อบรรดาพวกกลุ่มปิติภูมิและพวกสาธารณรัฐสายกลางสามารถมีความเห็นพ้องร่วมกันได้กับพวกอภิชนและกลุ่ม “the Orangists” ฟาน โฮเคนดอร์ปได้เขียนจดหมายเปิดผนึก เรื่อง Declaration to the State Government โดยเสนอว่า การประนีประนอมของขั้วการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อต้องมีการยอมรับให้สมาชิกในสายราชวงศ์โอรันจ์ (Orange) เป็นประมุขของรัฐ และฟาน โฮเคนดอร์ปได้ ความคิดนี้เป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ของเนเธอร์แลนด์  

และในช่วงนี้เองที่เขาหมกมุ่นกับการขบคิดการร่างรัฐธรรมนูญเตรียมไว้สำหรับใช้ปกครองเนเธอร์แลนด์เมื่อพ้นจากการปกครองของฝรั่งเศส

ขณะเดียวกัน ในปี ค.ศ. 1812 ที่นโปเลียนพ่ายแพ้ในการบุกรัสเซีย ฟาน โฮเคนดอร์ปก็ได้คิดแผนการณ์ที่จะทำให้เนเธอร์แลนด์พร้อมสำหรับที่จะปกครองตัวเองหลังจากที่ฝรั่งเศสหมดอิทธิพลลง โดยไม่ให้เนเธอร์แลนด์ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียและปรัสเซียด้วย

และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้น หลังจากที่เนเธอร์แลนด์เป็นอิสระจากการอยู่ภายใต้จักรวรรดิฝรั่งเศสหลังจากที่นโปเลียนพ่ายแพ้สงครามสหพันธมิตรครั้งที่หก ฟาน โฮเคนดอร์ปก็ได้เข้าสู่กการเมืองอีกครั้ง โดยได้เข้าเป็นหนึ่งในคณะรัฐบาลรักษาการ โดยมีสมาชิกกลุ่มปิติภูมิเดิมร่วมอยู่ด้วย และในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะรัฐบาล เขาเป็นคนเขียนจดหมายเชิญ วิลเลียม เฟรดริค ที่ลี้ภัยอยู่ที่อังกฤษให้กลับเนเธอร์แลนด์เพื่อดำรงตำแหน่ง  “เจ้าผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุด” (Sovereign Prince)   โดยขณะนั้น วิลเลียม เฟรดริคมีอายุได้ 41 ปี

จากประวัติการรับราชการของฟาน โฮเคนดอร์ปภายใต้วิลเลียมที่ห้าที่กล่าวไปข้างต้น เห็นได้ว่า ฟาน โฮเคนดอร์ปและวิลเลียม เฟรดริคย่อมรู้จักกันมาเป็นเวลาอย่างน้อย 30 ปี ตั้งแต่ฟาน โฮเคนดอร์ปอายุ 21 ปีและวิลเลียม เฟรดริคอายุได้ 10 ปี แม้ว่าทั้งสองจะรู้จักกันมานาน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองแย่ลง เมื่อฟาน โฮเคนดอร์ปพยายามที่จะโน้มน้าววิลเลียม เฟรดริคให้กลับมาเป็นกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์ แต่ต้องเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 และด้วยเหตุนี้ วิลเลียม เฟรดริคจึงวางเงื่อนไขว่า พระองค์จะยอมรับก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างด้วยภูมิปัญญา (a wise constitution) โดยฟาน โฮเคนดอร์ปยืนยันให้หลักประกันว่าพระองค์จะได้รัฐธรรมนูญตามที่คาดหวังไว้ อันเป็นรัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขาได้เตรียมร่างไว้แล้วก่อนหน้านี้  


กำลังโหลดความคิดเห็น