รายงานพิเศษ
“สี่แยกที่มองไม่เห็น” คือ สี่แยกบริเวณตลาดต้นสัก ย่านสนามบินน้ำ ถ.นนทบุรี 1 ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยในละแวกนั้นเริ่มกังวลต่อสภาพปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นทั้งจุดเลี้ยวขวา 3 ทาง และเป็นจุดกลับรถ จนทำให้ผู้ขับขี่ต่างตกอยู่ในสภาวะ “ถูกบดบังทัศนวิสัย”
“เรามองเห็นสี่แยก แต่เมื่อเข้าไปอยู่กลางสี่แยกนี้ เราจะมองไม่เห็นรถอีกฝั่งที่วิ่งมา” นั่นคือใจความสำคัญ ที่ผู้อยู่อาศัยในย่านนี้ เปิดเผยกับทีมข่าว MGR Online
อ่านประกอบ : เปิดจุดอันตรายใหม่ “สนามบินน้ำ” เมื่อซอยเข้าบ้านกลายสภาพเป็น “สี่แยกที่มองไม่เห็น”
เมื่อลงพื้นที่สอบถามประชาชน ก็พบข้อมูลที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากถนนในอดีตที่ไม่มีอันตราย กลายเป็นสี่แยกที่มีรถพลุกพล่านและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรายวัน นั่นก็คือ การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเมือง ซึ่งมาจากการพัฒนาพื้นที่จนกลายเป็นทำเลทอง
เริ่มจากมีหน่วยงานราชการสำคัญๆ มาตั้งสำนักงานหลายแห่ง พื้นที่สวยงามติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีสถานีรถไฟฟ้า มีร้านอาหารบรรยากาศดีริมน้ำมากมาย ถนนที่เคยเป็นทางเลี่ยงเมืองจึงกลายเป็นเส้นทางสัญจรหลัก จนในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ก็มีโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมายตลอดเส้นถนน และหากนับเฉพาะที่ “สี่แยกนี้” เพียงจุดเดียว ก็จะพบว่ามีคอนโดมิเนียม 3 แห่ง เปิดตัวขึ้น มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นขึ้น มีปริมาณรถเพิ่มขึ้นนับพันคัน และมีตลาดเกิดขึ้นตามมารวมตัวอยู่ที่จุดเดียว
รายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เป็นหนึ่งในฐานข้อมูลสำคัญที่จะทำให้เห็นถึงที่มาของปัญหานี้
“การจะก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่จะมีคนจำนวนมากเข้ามาอยู่ในพื้นที่นั้นๆ อย่างคอนโดมิเนียม ก็จะต้องทำ EIA” นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์คนหนึ่ง อธิบายเมื่อได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาของพื้นที่นี้
การจัดทำ EIA ประกอบด้วย การศึกษาครอบคลุมระบบสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน คือ
1. ทรัพยากรกายภาพ ศึกษาถึงผลกระทบ เช่น ดิน น้ำ อากาศ เสียง ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
2. ทรัพยากรชีวภาพ ศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มีต่อระบบนิเวศ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ปะการัง เป็นต้น
3. คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งทางกายภาพ และชีวภาพของมนุษย์ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน
4. คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม รวมถึงทัศนียภาพ คุณค่า ความสวยงาม
ผลกระทบต่อการจราจร จะถูกจัดอยู่ในข้อ 4 ซึ่งเจ้าของโครงการต้องทำการประเมิน เพราะการประเมินความเสี่ยงจากสภาพการจราจรที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน
“ในรายงาน EIA ของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย จะต้องวาดภาพความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้คณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาได้เห็นด้วย และสภาพของการจราจร จุดเสี่ยง จุดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ก็เป็นหนึ่งในนั้น ... แต่ในกรณีของพื้นที่นี้ อาจบอกได้ตามหลักการเบื้องต้นว่า การวาดภาพในอนาคต อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากจะมีที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นพร้อมกันหลายแห่ง” นักภูมิศาสตร์ กล่าว
นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์ คนนี้ อธิบายให้เห็นถึง “จุดอ่อน” ของการทำ EIA ซึ่งเป็นที่รู้กันดี คือ ทำแยกเฉพาะโครงการแบบของใครของมัน ทั้งที่ผลกระทบจะเกิดขึ้นในภาพรวม
“สมมติว่า EIA ให้ประเมินเรื่องการปล่อยน้ำเสีย คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ก็จะพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะรายโครงการแบบของใครของมัน เช่น มีโรงงาน 3 แห่ง แต่ละแห่งก็จะมีอัตราการปล่อยน้ำเสียไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่จริงๆแล้วน้ำเสียจากทั้ง 3 แห่ง ถูกปล่อยลงมารวมกันที่แหล่งน้ำเดียวกัน มันกลับส่งผลกระทบต่อชุมชน ... และในเรื่องการประเมินผลกระทบทางจราจรก็อยู่ในรูปแบบเดียวกัน”
“เรื่องจำนวนรถ จริงๆแล้วประเมินไม่ยาก เพราะเราคำนวนได้ล่วงหน้าว่า คอนโดมิเนียมหนึ่งโครงการมีกี่ห้อง น่าจะมีปริมาณรถเพิ่มขึ้นมากี่คัน มีที่จอดรถเพียงพอมั้ย และจะเพิ่มปริมาณรถบนท้องถนนในชั่วโมงเร่งด่วนแค่ไหน มีตรงไหนบ้างที่จะมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ แต่ปัญหาคือ พอเราประเมินผลกระทบแบบแยกโครงการ ก็ทำให้เราไม่ได้มองถึงผลกระทบที่แท้จริงในพื้นที่”
“ที่สำคัญมากๆ คือ บริษัทที่ปรึกษาที่เขาถูกจ้างมาทำรายงานผลกระทบทางจราจร เขาก็ไม่ต้องการให้นำมารวมกันอยู่แล้ว เพราะเป้าหมายของเขาคือ ต้องทำให้โครงการได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้าง ไม่ใช่ทำให้ต้องกลับไปหาทางแก้ไขผลกระทบอีก ... ดังนั้น นี่จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ตั้งแต่การออกแบบระบบการประเมิน EIA ของรัฐเลย ว่ารัฐต้องมองให้เห็นผลกระทบต่อชุมชนจริงๆ ไม่ใช่แค่ในรายงานแบบแยกโครงการ”
นี่เป็นต้นตอของปัญหา ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครทำผิด เพราะปัญหาเกิดจากการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพจากพื้นที่ชานเมืองกลายเป็นเขตเมือง โดยแม้ว่าทุกฝ่ายยังคง “ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด” แต่กลับมีผลกระทบระยะยาวต่อ “ความปลอดภัยทางถนน” ในอนาคต
ยังมีพื้นที่ชานเมืองอีกหลายจุดที่ต้องรองรับการกระจายความเจริญออกมาจากกรุงเทพมหานคร อาจกำลังเผชิญปัญหาเดียวกันนี้ ... ถึงเวลาหรือยัง ที่ภาครัฐต้องหันมาทบทวนแนวทางและวิธีการในการพิจารณา EIA ให้ต่างไปจากเดิม เพื่อให้เห็นผลกระทบที่แม้จริงที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และกำจัดความเสี่ยงนั้น ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น