xs
xsm
sm
md
lg

เปิดจุดอันตรายใหม่ “สนามบินน้ำ” เมื่อซอยเข้าบ้านกลายสภาพเป็น “สี่แยกที่มองไม่เห็น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“มีชนกันเกือบทุกวันครับ ถึงจะไม่รุนแรงแต่ก็มีเรื่อยๆ มีทั้งมอเตอร์ไซค์โดนชนท้ายตรงแยก มีทั้งรถที่กำลังเลี้ยวขวา ชนกับรถช่องซ้ายสุดของอีกฝั่ง เพราะเวลาเลี้ยวมันบังกัน”

นั่นเป็นคำบอกเล่าจาก “พี่วิน” ที่ประจำการให้บริการรับส่งผู้โดยสารอยู่ที่ “วินวัดน้อยนอก” หรือ สี่แยกตลาดต้นสัก ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งตลอด 1-2 ปี ที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนจากถนนเส้นตรงธรรมดาๆที่มาทางเข้าซอยเล็กๆ สองฝั่ง กลายเป็น “แยกอันตราย”




จากถนนรัตนาธิเบศร์ กลับรถใต้สะพานพระนั่งเกล้า เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนนนทบุรี 1 หรือที่เรียกกันว่า สนามบินน้ำ เพียงประมาณ 100 เมตร ก็จะพบกับ “ตลาดต้นสัก” ที่มีอาหารมากมายหลากหลายให้เลือกชิม มีร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ร้านเสริมสวย ตัดผมชาย ทำเล็บ นวดสปา คาเฟ่ พร้อมที่จอดรถสะดวกสบาย

ตลาดต้นสัก เปิดมาได้ประมาณ 2-3 ปีแล้ว และพื้นที่บริเวณนี้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังมีคอนโดมีเนียม 3 แห่ง เกิดขึ้นมาในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมา จากการเป็นทำเลทองริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นจุดขนส่งผู้คน บนถนนเส้นเดียวกัน ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยราชการหลายแห่งที่ย้ายจาก กทม. มาอยู่ในโซนจังหวัดนนทบุรี ทั้งที่อยู่มาก่อนนานแล้ว คือ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. และที่ย้ายตามมาภายหลังอย่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

จำนวนผู้อยู่อาศัยที่มากขึ้นแบบก้าวกระโดดจากคอนโดมีเนียม 3 แห่ง ที่น่าจะมีผู้อยู่อาศัยรวมกันมากกว่า 1000 ห้อง รวมกับการมีพื้นที่แลนด์มาร์กอย่างตลาดเกิดขึ้น ทำให้มีรถทุกชนิดสัญจรไปมาที่สี่แยกเล็กๆแห่งนี้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว




ถนนที่มีชื่อว่า ซอยนนทบุรี 15 ข้างตลาดต้นสัก จึงมีสภาพเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเป็นเพียงซอยขนาดเล็ก พอให้รถวิ่งสวนกันได้แบบเบียดๆ เพื่อเข้าไปยังชุมชนเล็กๆ ริมแม่น้ำและวัดน้อยนอก กลายเป็นถนน 4 ช่องจราจรที่มีรถวิ่งเข้า-ออก วันละนับพันคัน

และทุกครั้งที่รถเหล่านั้นต้อง “เลี้ยวขวา” ไม่ว่าจะเลี้ยวฝั่งไหนก็ตาม “คนขับรถ” ทุกคน จะสัมผัสได้ถึงคำว่า “อันตราย” ทันที

“ทุกเช้าจะมีรถมากตั้งแต่เช้ามืดไปจนถึงประมาณ 9 โมงกว่าๆ ครับ มีรถออกมาจากคอนโดริมน้ำเยอะ ถ้าเขาจะเลี้ยวขวาเพื่อออกถนนรัตนาธิเบศร์ ก็จะต้องวิ่งขวางกับรถส่วนใหญ่ที่จะมุ่งหน้าไปกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่รวมรถจากฝั่งตรงข้ามที่มักจะมาด้วยเร็ว ก็ทำให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยมาก”





วิสูตร มารักษา
วิสูตร มารักษา ก็คือ “พี่วิน” จุดวัดน้อยนอก ผู้ซึ่งประจำการวิ่งรับผู้โดยสารอยู่ตรงจุดนี้ทุกเช้า เล่าสถานการณ์ที่เขาเห็นจนชินตาให้ฟัง ซึ่งระหว่างการลงพื้นที่สังเกตการณ์ทีมข่าวก็พบว่า วินวัดน้อยนอก มีผู้โดยสารหลักจากผู้อยู่อาศัยที่คอนโดมีเนียมฝั่งตรงข้ามถนน หรือฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง

เมื่อไปสอบถามกับประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นและต้องเลี้ยวรถเข้าทางใดทางหนึ่งที่สี่แยกนี้เป็นประจำ ก็พบว่า ทุกคนมีประสบการณ์ที่รู้สึกเป็นอันตราย หลายคนเลือกที่จะเลี่ยงการเลี้ยวขวาหรือกลบับรถที่แยกนี้ โดยยอมไปใช้จุดกลับรถอื่นที่แม่จะไกลออกไปแต่ใหเความปลอดภัยได้มากกว่า”

เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์นี้ ผู้อยู่อาศัยคนหนึ่ง เล่าประสบการณ์ที่เขาต้องพบเจอทุกๆวันไว้อย่างละเอียด

“ถ้าผมขับรถมาจากถนนรัตนาธิเบศร์ จะเลี้ยวขวาเข้าบ้านในซอยฝั่งตรงข้ามตลาดต้นสักก็จะเจอสิ่งที่ผมจะเล่า หรือบางคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมีเนียมฝั่งที่ไม่ติดแม่น้ำก็จะต้องกลับรถตรงนี้ พวกเราจะมีประสบการณ์คล้ายกันครับ คือ ทุกคนที่เลี้ยวขวาจะรับรู้ได้ทันทีว่า เรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะถ้าเรามาในช่วงเลิกงานตอนเย็น จะมีทั้งรถที่ต้องการเลี้ยวขวาเข้าไปฝั่งตลาดเพื่อไปกินข้าวหรือกลับที่พัก มีทั้งรถที่เลี้ยวขวาออกจากฝั่งตลาดเพื่อออกไปรัตนาธิเบศร์ และมีรถที่จะเลี้ยวขวาเข้าซอยฝั่งตรงข้ามตลาด ...

สถานการณ์มันกลายเป็นว่า มีรถพยายามเลี้ยวขวาพร้อมๆ กันจาก 3 ทิศทางครับ จนรถที่กำลังจะเลี้ยวในฝั่งหนึ่ง กลายเป็นเครื่องกีดขวางที่ไปบดบังการมองเห็นของรถอีกฝั่งหนึ่งทันที และอันตรายที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ รถที่พยายามจะเลี้ยวขวา จะมองไม่เห็นรถที่กำลังวิ่งมาทางตรงในช่องทางซ้ายสุดของฝั่งตรงข้าม ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ..... นี่ยังไม่รวมว่า เมื่อถูกบดบังการมองเห็นระหว่างเลี้ยว ทำให้หลายคันต้องขับเข้าล้ำช่องทางเลี้ยวของฝั่งตรงข้าม ทำให้เลี้ยวได้ยากขึ้นกว่าเดิม และยังทำให้รถจัดรยานยนต์ต้องพยายามเลี้ยวขวาไปแล้ววิ่งสวนเลน” ผู้ที่อยู่อาศัยในย่านสนามบินน้ำมานานกว่า 10 ปี เปิดเผย






เมื่อสอบถามภึงวิธีการแก้ปัญหาจากผู้อาศัยในย่านนั้น คำตอบที่ได้คืออุปกรณ์สีญญาณจราจรที่ถูกนำมาติดตั้งเพิ่มในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เช่น สัญญานไฟกระพริบที่ติดตั้งทุกด้านของถนนเพื่อเตือนให้รถไม่ใช้ความเร็ว แต่ทุกคนบอกตรงกันว่า นั่นยังไม่ใช่เครื่องมือหรือแนวทางที่ช่วยลดอันตรายที่จุดนี้ได้

“อาจมีรถที่ใช้ความสูงผ่านมาบ้างและเคยเกิดอุบัติเหตุก็จริง แต่ปัญหาจริงๆมันไม่ใช่แต่เรื่องความเร็วของรถครับ ปัญหาหลักมันคือ การมองไม่เห็นรถที่วิ่งมาช่องซ้ายสุดในระหว่างที่เราเลี้ยวขวาหรือกลับรถต่างหาก ...

ดังนั้นการติดตั้งไฟกระพริบแจ้งเตือนให้ลดความเร็ว มันก็เหมือนเราเอาผ้าสามสีไปผูกต้นไม้ที่โค้งร้อยศพ ซึ่งมีข้อดีคือช่วยเตือนให้ระวังได้ว่าตรงนี้เป็นจุดอันตราย เกิดอุบัติเหตุบ่อย แต่ยังไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง” ผู้อยู่อาศัยคนเดิม กล่าว






เมื่อพิจารณาจากสภาพพื้นที่และคำบอกเล่าของคนในพื้นที่แล้ว เราจะพบว่า ปัญหา “แยกอันตราย” ที่ถนนสนามบินน้ำ นนทบุรี ไม่ได้เกิดจากการก่อสร้างถนนไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ไม่ได้มีโค้งอันตราย โค้งหักศอก แต่การที่ถนนเส้นเดิมที่ไม่เคยมีอันตรายทางการจราจร กลับเปลี่ยนไปเป็นจุดอันตรายทั้งที่บางส่วนถูกขยายให้กว้างขึ้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะ “ความเจริญ” หรือ การขยายตัวของเมืองออกไปยังปริมณฑล ทำให้มีอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยกระจายตัวออกมา มีประชากรย้ายถิ่นฐานมาอยู่มากขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีรถมากขึ้น และแน่นอนว่า ย่อมทำให้มีอันตรายจากการจราจรมากขึ้นเป็นภับเงียบที่แอบซ่อนอยู่ด้วย

น่าสนใจว่า “จุดอันตรายทางจราจร” ในรูปแบบที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพมหานคร อย่าง นนทบุรี และปทุมธานี อาจถูกพบเห็นแล้วจากคนในพื้นที่อีกเป็นจำนวนมาก เพียงแต่ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา จึงอาจถึงเวลาที่ต้องทำการสำรวจเพื่อค้นหาจุดอันตรายเหล่านี้หรือไม่ และยังอาจถึงเวลาต้องมองหามาตรการทางกฎหมายหรือเครื่องมือทางการจราจรไว้รับมือกับภัยรูปแบบใหม่นี้

หรือจะรอให้มีข่าวความสูญเสียเกิดขึ้นก่อน แล้วเราค่อยมาตามล้อมคอกแก้กันไปทีละจุด ??


กำลังโหลดความคิดเห็น