xs
xsm
sm
md
lg

ดีเวลลอปเปอร์กุมขมับขึ้นคอนโดฯ เสี่ยงถูกพับ เจอด่านหิน ‘EIA-ชุมชนร้อง’ อสังหาฯ ปรับแผนหลังโครงการสะดุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โครงการคอนโดฯ หรู 125 สาทร ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอน EIA และใบอนุญาตก่อสร้าง
การก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน นอกจากเรื่องของแบบก่อสร้างต้องถูกต้องตามข้อกำหนดผังเมืองในจังหวัดที่โครงการตั้งอยู่แล้ว ยังต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร และถ้าเป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่มีจำนวนยูนิตตั้งแต่ 80 ยูนิตขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไป หรือถ้าเป็นโครงการบ้านจัดสรรที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ 500 แปลงขึ้นไป หรือมีเนื้อที่มากกว่า 100 ไร่ ต้องดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งเรื่องของ EIA ในปัจจุบันเป็นอีก 1 เรื่องที่มีปัญหาและสร้างผลกระทบ ทั้งในเรื่องของความล่าช้าในการทำงานของผู้ประกอบการ และกลายเป็น 1 อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะโครงการคอนโดฯ

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ให้มุมต่อเรื่องการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โดยทั่วไปว่า จะเป็นรายงานการศึกษาที่ครอบคลุม 4 ด้าน ดังนี้

1.ทรัพยากรกายภาพ เป็นการศึกษาถึงผลกระทบ เช่น ดิน น้ำ อากาศ เสียง ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

2.ทรัพยากรชีวภาพ การศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มีต่อระบบนิเวศ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ปะการัง เป็นต้น

3.คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งทางกายภาพ และชีวภาพของมนุษย์ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน

4.คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต จะเป็นการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม รวมถึงทัศนียภาพ คุณค่า ความสวยงาม

ซึ่งทั้ง 4 ด้านนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อีกทั้งยังสามารถพิจารณาได้หลายแง่มุม (แบบว่าใช้ดุลพินิจได้) ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านการอนุมัติไปแล้วจะมีปัญหาในภายหลัง เพราะคณะกรรมการที่พิจารณากับบริษัทที่ทำรายงาน ผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจจะไม่เคยเจอหน้ากัน หรือมีการสอบถามข้อเท็จจริงต่อกันเลย อาจจะมีเพียงบริษัทที่ทำรายงานกับผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้นที่อาจจะเคยเจอหน้ากัน เพราะต้องมีการสอบถามและประชุม รวมไปถึงนำเสนอต่อประชาชนในชุมชนโดยรอบ ในกรณีที่โครงการที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในแง่มุมต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปได้ด้วยดี อาจจะมีส่วนน้อยที่มีปัญหา แต่สามารถจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ โดยที่ปัญหานั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข และเมื่อรายงาน EIA ผ่านการพิจารณาแล้ว ปัญหาที่เคยละเลยอาจจะกลายเป็น "ประเด็นใหญ่" ที่ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงัก หรืออาจจะต้องถึงขั้นยกเลิกโครงการก็เป็นไปได้

การที่บางโครงการมีปัญหา หรือยังไม่จัดการเรื่องของความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชุมชนโดยรอบ หรืออาจจะมีความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง เช่น ความกว้างของขอบเขตทางที่โครงการตั้งอยู่ การทำประชาพิจารณ์หรือการประชุมร่วมกับคนในชุมชนโดยรอบโครงการ อาจจะทำได้ไม่ครอบคลุมหรือไม่โปร่งใส รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดทำ EIA เท่านั้น อาจจะมีครอบคลุมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย

ซึ่งโครงการที่อาจจะยังอยู่ในระหว่างรอการอนุมัติ EIA แต่ได้หนังสือแสดงการให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิงแวดล้อมเบื้องต้น และยังไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานราชการ แต่เริ่มการกอ่สร้างบางส่วนไปแล้ว ทั้งในการเร่งขุดดิน ถมดิน หรือแม้กระทั่งขั้นตอนในส่วนของการลงเสาเข็ม เนื่องจากกฎหมายมีการเปิดช่อง!!

ผู้ประกอบการใช้ 39 ทวิ ลุยสร้างโครงการก่อนอนุมัติ

โดยในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 39 ทวิ ที่มีเนื้อความว่า "มาตรา 39 ทวิ ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารโดยไม่ยื่นคําขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ท้องถิ่นก็ได้ โดยการแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบที่คณะกรรมการควบคุมอาคารกําหนด พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบดังกล่าว โดยอย่างน้อยต้องแจ้งข้อมูลและยื่นเอกสารและหลักฐาน" ซึ่งเอกสารและหลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในขั้นตอนนี้เป็นเอกสารทั่วไป เช่น แบบแปลนในการก่อสร้าง ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ผู้ออกแบบโครงการ และหนังสือแสดงการให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิงแวดล้อมเบื้องต้น เป็นต้น การก่อสร้างของหลายโครงการจึงอาจจะดำเนินการไปแล้ว ก่อนที่ขั้นตอนการอนุมัติในเรื่องต่างๆ จะจบกระบวนการ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าขั้นตอนในการอนุมัติไม่เป็นไปตามที่เจ้าของโครงการวางแผนไว้อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้

อยู่ระหว่างการก่อสร้างฐานราก
บิ๊กอสังหาฯ ปรับแผนโครงการหลัง EIA สะดุด

เรื่องของปัญหาที่เกิดจากการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งเรื่องของความล่าช้าเป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าขั้นตอนนี้อาจจะใช้เวลามากกว่า 6-8 เดือนขึ้นไป แต่เรื่องที่ส่วนใหญ่จะสร้างปัญหาให้โครงการ คือ เรื่องของผลกระทบที่อาจจะเกิดกับชุมชนหรือคนที่อยู่อาศัยโดยรอบ ซึ่งแน่นอนว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและหาทางออกที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายได้ยากจริงๆ ผู้ประกอบการหลายราย "ประสบปัญหา" ในเรื่องนี้มาโดยตลอด

แม้ว่ารายงาน EIA จะได้รับการอนุมัติแล้วก็ตาม ยังมีเรื่องมีราวถึงขั้นฟ้องศาลปกครองและศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนรายงาน EIA ก็มีมาแล้วหลายโครงการ โดยโครงการที่เคยเป็นข่าวเรื่องนี้ เช่น

บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กับโครงการคอนโดมิเนียม "ศุภาลัย ลอฟท์ รัชดาฯ-วงศ์สว่าง" โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นผู้พิจารณาอนุญาต เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ซึ่งโครงการนี้ทางศุภาลัยยื่นขออนุญาตมาตั้งแต่ปี 2559 และมีการปรับแก้รูปแบบอาคาร ปรับลดระดับความสูง เพื่อให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการแนะนำ เพื่อเป็นไปตามข้อเรียกร้องของชุมชนโดยรอบ แต่เมื่อรายงานได้รับการอนุมัติยังโดนฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง และโดนคำสั่งเพิกถอนไป ทางศุภาลัยอาจจะมีการยื่นขออุทธรณ์ต่อไป และไม่รู้ว่าจะจบที่ตรงไหน

บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN กับโครงการคอนโดมิเนียมหรู "แอชตัน อโศก" เรื่องใหญ่ที่สุดและเป็นเรื่องที่จุดกระแส จุดประเด็นเรื่องของความถูกต้องในหลายด้านแบบชัดเจนที่สุด อีกทั้งเป็นเรื่องที่สร้างคำถามต่อขั้นตอน และกระบวนการในการพิจารณาของหน่วยงานราชการมากที่สุด หลังจากที่ทั้งศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้เพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ใบอนุญาตก่อสร้างโครงการทั้งๆ ที่โครงการความสูง 51 ชั้นนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จมีการโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว โดยปัญหาถ้าอ้างอิงจากคำพิพากษาศาลปกครอง คือ เรื่องของทางเข้าออกโครงการที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ขั้นตอนต่างๆ หลังจากนั้นไม่ถูกต้องด้วยเช่นกัน และเป็นอีก 1 เรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดาฯ ได้แก้เกมเรื่องผลจากคำสั่งศาลเกี่ยวกับโครงการ "แอชตัน อโศก" ว่า สิ่งที่ทาง ANAN ได้เร่งสร้างความเชื่อมั่น คือ ต้องพยายามเทิร์นอะราวนด์ พิสูจน์ให้อุตสาหกรรมนี้เห็น ให้ผู้ถือหุ้นเห็น ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นกู้ของอนันดาฯ สถาบันการเงิน ให้ลูกค้าได้เห็นว่า อนันดาฯ ไม่กระทบจากเรื่องแอชตัน อโศก แต่เรามียอดขายที่ดีขึ้นด้วย

บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กับโครงการ "เดอะไลน์ สาทร" เป็นอีก 1 โครงการที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2562 โดยสาเหตุเพราะการจัดทำรายงานอีไอเอของโครงการ เดอะไลน์ สาทร ที่ยื่นขอ EIA นั้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งโครงการได้หยุดการก่อสร้างจนถึงปัจจุบัน (ที่ดินยังเป็นกรรมสิทธิ์ของแสนสิริ)

โครงการโรงแรม "ดิ เอทัส บางกอก" ของบริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ในซอยร่วมฤดี เป็นอีก 1 โครงการที่ได้รับคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2557 เพียงแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมาหนคร ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ดำเนินการแก้ไขโครงการนี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คือ ที่ดินของโครงการนี้อยู่ในซอยร่วมฤดี ซึ่งมีบางส่วนมีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถพัฒนาเป็นอาคารสูงมากกว่า 23 เมตร หรือประมาณ 7-8 ชั้นได้ แต่โครงการนี้มีความสูง 18 ชั้น และ 24 ชั้น จากนั้นมีการฟ้องร้องศาลปกครองกันยืดเยื้อต่อเนื่องมาอีกจนถึงปี 2559 เพราะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับโครงการนี้ ชุมชนโดยรอบจึงดำเนินการฟ้องร้องอีกครั้ง ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร มาตรา 42-43 ดำเนินการกับอาคารโรงแรมดิเอทัส และอาคารเซอร์วิสอพาร์ตเมนตฺดิเอทัส เรสซิเด้นซ์ แล้วแต่กรณีโดยเร็วนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งศาล นั่นหมายความว่าทั้ง 2 อาคารต้องรื้อถอนให้เหลือเพียง 8 ชั้น หรือไม่เกิน 23 เมตร แต่จนถึงปัจจุบัน "ยังไม่มีการรื้อถอน" เกิดขึ้นเลย

พีเอ็มทีร่อน จม.ยันคอนโดฯ “125 สาทร” ทำถูกต้อง

กรณีล่าสุด คือ เรื่องที่โครงการ 125 สาทร โครงการคอนโดมิเนียมของบริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) (มีผู้ถือหุ้นตระกูล "มหากิจศิริ") และบริษัทญี่ปุ่นอีก 2 แห่ง คือ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งโครงการมีลูกค้าซื้อไปแล้วกว่า 50% จากมูลค่าโครงการที่สูงถึง 8,000 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2565 ตามแผนจะต้องแล้วเสร็จในปี 2569 ทางศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอน EIA และใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งจากที่อ้างอิงจากข่าวที่ออกมา สาเหตุแห่งการเพิกถอนนั้น เพราะที่ดินขนาด 3 ไร่ของโครงการนี้จากทั้งหมด 10 ไร่ เคยถูกใช้ประโยชน์จากการขออนุญาตก่อสร้างโครงการ เดอะเม็ท ไปแล้ว (พัฒนาโดย บริษัท เพบเพิล เบ (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือกลุ่มโฮเต็ล พร็อพเพอร์ตี้ (PHL) ดังนั้น ขนาดของอาคารที่อยู่ในที่ดินส่วนนี้ไม่สามารถพัฒนาตามที่ขออนุญาตได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วข้อเท็จจริง หรือจะมีบทสรุปยังไง คงต้องติดตามต่อไปเช่นกัน

ล่าสุด ทางบริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้ส่งเอกสารยืนยันว่า "ขอเอกสารการอนุญาตการก่อสร้างตามขั้นตอนของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมาย รวมทั้งข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตต่างๆ อีกทั้งการพิจารณาในการทำโครงการต่างๆยังได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติ ภายใต้การกำกับ ควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐ บริษัทฯได้ดำเนินการไปด้วยความสุจริตและเห็นชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจนทุกประการ

สร้างความสัมผัสที่ดีกับชุมชนรอบข้าง

นายสุรเชษฐ กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องของความขัดแย้งที่มีบทสรุปที่ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดแล้ว การคัดค้านจากชุมชนโดยรอบมีผลต่อขั้นตอนในการออกแบบโครงการ รวมไปถึงมีผลต่อการพัฒนาโครงการได้เช่นกัน บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) กับโครงการ "ควินทารา ซิงค์ เย็น อากาศ" ซึ่งเป็นโครงการคอนโดฯ บนถนนเย็นอากาศ ที่โดนชุมชนโดยรอบยื่นเรื่องต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ระงับการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการนี้ แม้ว่า EIA จะได้รับการอนุมัติแล้วก็ตาม โดยคนในชุมชนอ้างว่า โครงการนี้อยู่ในซอยที่มีความกว้างไม่มาก การจะเพิ่มโครงการคอนโดฯ เข้ามาในพื้นที่ จะเพิ่มความแออัดในการจราจร และปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาได้ในอนาคต อีกทั้งเรื่องของความเห็นจากทางกรุงเทพฯ ต่อรายงาน EIA ของโครงการ คนในชุมชนมองว่าไม่ได้พิจารณาแบบรอบด้าน แม้ว่าทางอีสเทอร์น สตาร์จะมีการปรับลดขนาด และความสูงของอาคารลงมาเหลือไม่ถึง 8 ชั้น ลดจำนวนอาคารเหลือ 2 อาคาร และลดจำนวนยูนิตลงกว่า 30 ยูนิต แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างใดๆ

เรื่องของความขัดแย้งกับชุมชนโดยรอบ อาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว และจัดการได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบให้ชัดเจนเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่เป็นอีก 1 อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน เพราะผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องยกเลิกการขาย หรือการพัฒนาโครงการไปเลย เพราะมีปัญหาขัดแย้งกับชุมชนโดยรอบ เช่น พฤกษา เรียลเอสเตท ที่ยกเลิกการขายและพัฒนาโครงการคอนโดฯ 2 โครงการในซอยทองหล่อ และซอยอารีย์

Waterfront Pattaya
"วอเตอร์ฟร้อนท์ พัทยา" มรดกบาป!

นอกจากนี้ อาจจะมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ อีก ที่ยกเลิกการขายโครงการไป หรือเปลี่ยนรูปแบบของโครงการ รวมไปถึงเปลี่ยนประเภทของโครงการที่จะพัฒนาไปเลย แต่ไม่เป็นข่าว หรือเป็นคดีความฟ้องร้องกัน เพราะมีปัญหากับชุมชนข้างเคียง ในต่างจังหวัดที่เป็นข่าวใหญ่ก็โครงการ "วอเตอร์ฟร้อนท์ พัทยา" (Waterfront Pattaya) ที่ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบตั้งแต่เรื่องของโฉนดที่ดิน รวมไปถึงการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่ได้มาตั้งแต่ปี 2551 ที่อาจจะไม่ถูกต้อง อีกทั้งมีปัญหาเรื่องของการก่อสร้างผิดแบบ จากที่ขออนุญาตก่อสร้าง จนถูกระงับการก่อสร้าง 2-3 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 และต่อมาได้มีประกาศจากเมืองพัทยาให้รื้อถอนอาคารนี้ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รื้อถอน

นายสงกรานต์ อิสสระ
บิ๊กชาญอิสสระ กังวลมาตรฐาน EIA

ในประเด็นดังกล่าว นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CI มองว่า EIA ระยะหลังๆ ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ล่าช้า และเห็นหลายโครงการที่มีปัญหาอยู่ แต่ท่านนายกรัฐมนตรี คงจัดการ เพราะท่านรู้ดีอยู่แล้ว ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการ เราต้องระมัดระวัง ซึ่ง EIA ควรมีมาตรฐานชัดเจน ในส่วนของ CI มีความกังวลในเรื่องนี้และดูตลอด เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

คนซื้อเลือกโครงการผ่านอีไอเอ

นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า EIA อาจทำให้ผู้พัฒนาโครงการต้องใช้เงินตนเองในการพัฒนาโครงการมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคจะหันมาเลือกซื้อโครงการที่ผ่าน EIA แล้ว การกู้เงินธนาคารมาพัฒนาโครงการซึ่งต้องดูยอดขายประกอบด้วยจะยากขึ้น โดยปัญหาเรื่อง EIA ไม่ควรจะเกิดขึ้น ในเมื่อหน่วยงานที่ให้ EIA ผ่านตั้งแต่แรกแล้ว ก็ไม่ควรมีหน่วยงานที่จะมาแย้ง ควรจะไปต่อให้จบ หากไม่ผ่านควรไม่ให้ผ่านตั้งแรกเริ่ม เพราะหากมีปัญหาในภายหลังก็จะเสียหายทั้งเจ้าของโครงการ คนซื้อ และต่อตลาดทั้งระบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องการไม่ผ่าน EIA หรือเหตุร้องเรียนจากชุมชน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่างๆ เหล่านี้ อาจจะไม่มีความเสียหายทั้งในฝั่งของผู้ประกอบการ ผู้ซื้อ ชุมชนโดยรอบ และหน่วยงานราชการต่างๆ ถ้ามีการจัดการปัญหาต่างๆ รวมไปถึงข้อขัดแย้ง และความไม่ถูกต้อง ได้มีการจัดการและมีทางออกที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย ก่อนที่จะมีการยื่นขออนุญาตขั้นตอนต่างๆ และก่อนเริ่มการก่อสร้าง

โอภาส ศรีพยัคฆ์
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนการลงทุนและพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในปี 2567 ว่า จะโฟกัสตลาดแนวราบเป็นหลัก ตามแผนจะเปิด 13 โครงการ มูลค่าการขายประมาณ 10,000 ล้านบาท ในส่วนแผนพัฒนาโครงการคอนโดฯ นั้น ในปี 2567 จะไม่มีการเปิดโครงการคอนโดฯ ใหม่ เนื่องจากยังมีคอนโดฯ ประมาณ 4-5 โครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่อง EIA เช่น โครงการทำเลรามอินทรา ปิ่นเกล้า บางหว้า และโซนอมตะ ซิตี้

"ถ้าคอนโดฯ ที่อยู่ระหว่างขอ EIA ในปีนี้ผ่าน จะไปเปิดตัวในปีหน้า แต่เรามีความกังวลเรื่องเกณฑ์เกี่ยวกับการขอ EIA เช่น ทิศทางลม แสงแดด สิ่งเหล่านี้จะไปกระทบต่อชุมชนได้" นายโอภาส กล่าว

สำหรับสินค้าคงค้างของ LPN มีประมาณ 7,500 ล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าคงค้างอายุเกิน 3 ปี มี 14 โครงการ มูลค่า 2,500 ล้านบาท และสินค้าอายุไม่เกิน 3 ปี มี 5 โครงการ มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท และที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 10,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บางครั้งปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข หรือผู้ประกอบการเพิกเฉยจนเรื่องราวถึงขั้นต้องพึ่งการตัดสินของศาลปกครอง เพราะผู้ประกอบการเลือกที่จะยื่นขออนุญาตขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ได้ใบอนุญาตมาครอบครองไว้ก่อน จากนั้นเมื่อมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นอาจจะใช้ใบอนุญาตเป็นเกราะป้องกันหรือเป็นเครื่องมือในการแสดงออกว่า "ตนไม่ผิด" ถ้าทำผิดจริง "ทำไมหน่วยงานราชการ" หลายหน่วยงานออกใบอนุญาตให้โครงการ แม้ว่าสุดท้ายแล้ว ศาลปกครองจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทั้งหมดแล้วก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น