รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันพุธที่ 27 ธันวาคม 2566 นำเสนอรายงานพิเศษ เหตุก่อสร้างมรณะ New Normal ประเทศไทย หน่วยงานรัฐ ไม่แก้ต้นตอ
กลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแทบชินตาแล้วสำหรับอุบัติเหตุตามแนวทางเส้นทางการคมนาคมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านได้เกิดเหตุไม่คาดฝันพร้อมกันถึงสองครั้งถึงขั้นมีการเสียชีวิตกันเลยทีเดียว
กรณีแรกเป็นเหตุระทึกที่เกิดขึ้นกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูตรง โดยรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทาน บริเวณสถานีสามัคคี มีรถยนต์ที่จอดด้านล่างได้รับความเสียหาย และต้องหยุดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูรวม 7 สถานี
โชคดีที่เหตุการณ์นี้ไม่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต แต่อีกด้านหนึ่งก็สร้างความหวั่นไหวให้กับผู้โดยสารพอสมควร
ทันทีที่เรื่องเกิดขึ้นเดือดร้อนไปถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องลงพื้นที่เป็นการด่วน พร้อมกับเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือเพื่อสาเหตุ ซึ่งเบื้องต้นมีการสันนิษฐานว่าเกิดจากการดึงเข็มพืดเหล็กที่ฝังอยู่ใต้ดิน ยาวประมาณ 7 เมตร ของโครงการระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ใกล้เคียงด้วยรถเครน
ทว่าได้ไปกระแทกรางจ่ายกระแสไฟฟ้าเคลื่อนออกจากตำแหน่ง และเมื่อรถตรวจทางมาถึงตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ติดกับตัวรถตรวจทาง ไปกระแทกส่งผลให้เกิดการขยับตัวราง และมีชิ้นส่วนที่หลุดติดกับล้อตัวขบวนรถไป ทำให้ไปเกี่ยวรางนำไฟฟ้า ขยับออกแล้วร่วงลงมาด้านล่าง บนถนนบางส่วน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทรวงคมนาคม จะเยียวยาด้วยการขยายเวลาการเปิดให้ใช้บริการใช้ฟรีต่อไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 3 มกราคม 2567
อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นบริเวณจุดก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี ซึ่งเป็นเหตุการณ์แผ่นเหล็กหล่นทับหล่นใส่คนงานทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. แถลงเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสั่งให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยให้เรียบร้อยก่อนอีกครั้ง
พร้อมกันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังคาดโทษว่าหากมีการประเมินผลงานในครั้งต่อไป อาจโดนปรับอันดับคุณภาพของผู้รับจ้าง ซึ่งอาจมีผลในการคัดเลือกผู้รับจ้างในโอกาสต่อไป
ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะประกาศเอาจริงเอาจัง แต่ดูเหมือนกันว่าเป็นเพียงแค่การพูดแบบไฟไหม้ฟางเท่านั้น เพราะเมื่อกระแสจางหาย ความสะเพร่าก็กลับมาเหมือนเดิม
ตัวอย่างของการล้อมคอกครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ไม่เคยแก้ไขปัญหาได้เป็นรูปธรรม คือ สารพัดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับถนนพระรามสอง ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเพื่อขยายผิวจราจรและอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82) และ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก
โดยกรมทางหลวงเก็บสถิติย้อนหลัง 5 ปีพบว่า ปี 2561 เกิดอุบัติเหตุ 491 ครั้ง ปี 2562 เกิดเหตุ 415 ครั้ง ปี 2563 เกิดเหตุ 406 ครั้ง ปี 2564 เกิดเหตุ 234 ครั้ง ปี 2565 เกิดเหตุ 434 ครั้ง ส่วนปี 2566 ผลการสำรวจถึงเดือนเมษายน เกิดเหตุทั้งสิ้น 262 ครั้ง หลายเหตุการณ์เป็นที่โจษจันของสังคม โดยเฉพาะเหตุการณ์สะพานกลับรถ หน้าโรงพยาบาลวิภาราม จังหวัดสมุทรสาคร พังถล่มลงมาทับรถยนต์ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 2 ราย
นับจากนั้นเป็นต้นมาไม่ว่าใครใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ทั้งเข้าและขาออก นอกจากจะต้องมองทางหน้าแล้ว ยังต้องเหลือบไปมองด้านบนด้วยว่าจะมีอะไรหล่นใส่ลงมาหรือไม่
ทั้งหมดนี้ อาจกล่าวได้ว่าตลอดหลายปีมานี้ทำให้ความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนลดน้อยลง ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะภาครัฐเองยังการแก้ไขปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก
ดังนั้น อาจถึงแล้วหรือยังที่หน่วยงานภาครัฐจะเอาจริงกับเรื่องทำนองนี้เสียที เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ทำงานคุ้มค่ากับภาษีของประชาชนที่ได้จ่ายไป
--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android