xs
xsm
sm
md
lg

ขยายใช้ฟรี "สีชมพู" ชดเชยผู้โดยสาร คมนาคมเจรจาเอกชน ต้องรอสั่งซื้อตัวยึดรางจ่ายไฟฟ้า ยันระบบปลอดภัยตามมาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คมนาคมเจรจา NBM ยืดใช้ฟรี "สีชมพู" ชดเชยผู้โดยสารกรณีปิดวิ่งช่วงแจ้งวัฒนะหลังเกิดเหตุรางจ่ายไฟฟ้าหลุด แจงเป็นอุบัติเหตุ ขอประชาชนเชื่อมั่นระบบรถไฟฟ้าปลอดภัย ด้านเอกชนเร่งสั่งซื้อตัวยึดรางต้องใช้กว่า 1,700 ตัว คาดซ่อม 7 วัน “สุริยะ” สั่งเพิ่มมาตรการก่อสร้างในพื้นที่เกี่ยวเนื่อง

วันที่ 25 ธ.ค. 2566 ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานแถลงข่าวชี้แจงถึงกรณีโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทาน บริเวณสถานีสามัคคี (PK04) เมื่อเวลา 04.45 น.ของวันที่ 24 ธันวาคม 2566 จนมีรถยนต์ที่จอดด้านล่างได้รับความเสียหาย และต้องหยุดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูรวม 7 สถานี โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รวมถึงผู้บริหารกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง คือ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้บริหาร บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ร่วมแถลงข่าว


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นอุบัติเหตุในส่วนงานก่อสร้างสาธารณูปโภค ไม่ได้เกิดจากระบบรถไฟฟ้า ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจถึงระบบรถไฟฟ้าว่ามีความปลอดภัยในการใช้บริการได้ตามมาตรฐาน โดยตั้งแต่เกิดเหตุ วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบทุกสถานี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิศวกร ได้เข้าทำการตรวจสอบอีกครั้ง ทำให้ช่วงเช้าของวันที่ 25 ธันวาคม 2566 สามารถเปิดให้บริการจำนวน 23 สถานี ตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ (PK08)-สถานีมีนบุรี (PK30) ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. ในส่วนสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) รวม 7 สถานี ยังคงปิดให้บริการอยู่ จนกว่าจะติดตั้งระบบรางจ่ายไฟให้แล้วเสร็จและตรวจสอบให้เรียบร้อยอีกครั้ง สำหรับระยะเวลาที่เปิดทดลองใช้บริการฟรีที่เสียไปจากการปิดให้บริการ 7 สถานีดังกล่าว จะมีการเจรจากับผู้ประกอบการให้ขยายระยะเวลาการเปิดทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูทั้งเส้นทางอีกครั้ง เพื่อประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนได้รับเป็นสำคัญ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคมกล่าวว่า จากการลงพื้นที่หลังเกิดเหตุ อันดับแรกต้องชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนไม่สับสนก่อนว่า สิ่งที่หลุดร่วงลงมาเป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor Rail) ไม่ใช่รางรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นวัสดุที่ทำด้วยอะลูมิเนียม ทำให้รถที่ถูกตกใส่ไม่มีรอยบุบเสียหาย ซึ่งช่วงที่เกิดเหตุขึ้นนั้นเป็นช่วงก่อนเปิดให้บริการ 1 ชั่วโมง ซึ่งผู้ให้บริการเดินรถจะมีการตรวจสอบความพร้อมของระบบ โดยมีรถตรวจทางวิ่งทดสอบ เป็นส่วนหนึ่งของระบบเซฟตี้ ที่ต้องปฏิบัติทุกวัน เมื่อรถตรวจทางออกตรวจจึงเจอว่ารางจ่ายกระแสไฟฟ้าถูกเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่ง โดยมีการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเกิดจากการดึงเข็มพืดเหล็ก (sheet pile) ที่ฝังอยู่ใต้ดิน ยาวประมาณ 7 เมตร ของโครงการระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ใกล้เคียงด้วยรถเครน ไปกระแทกรางจ่ายกระแสไฟฟ้าเคลื่อนออกจากตำแหน่ง เมื่อรถตรวจทางมาถึง ตัวรับกระแสไฟฟ้า (Collector Shoe) ที่ติดกับตัวรถตรวจทางไปกระแทกส่งผลให้เกิดการขยับตัวราง และมีชิ้นส่วนที่หลุดติดกับล้อตัวขบวนรถไป ทำให้ไปเกี่ยวรางนำไฟฟ้าขยับออกแล้วร่วงลงมาด้านล่างบนถนนบางส่วน (ประมาณ 300 เมตร) และส่วนใหญ่ติดค้างอยู่บนโครงสร้าง ระหว่างสถานีแคราย (PK02) ถึงสถานีกรมชลประทาน (PK05) ระยะทางรวมประมาณ 4.3 กม. นอกจากนี้ ยังพบว่าๅมีรอยไหม้จากประกายไฟที่เกิดจากการลัดวงจร (Short Circuit) 1 จุด บริเวณคานทางวิ่ง เหนือสถานที่ก่อสร้างโครงการระบบสาธารณูปโภคดังกล่าว (ใกล้ปากซอยติวานนท์ 34)

“เรื่องนี้ถือเป็นอุบัติเหตุจากการรื้อถอนของงานก่อสร้างอีกโครงการหนึ่ง ไม่ใช่การก่อสร้างของรถไฟฟ้า ซึ่งอาจจะไม่ได้แจ้งผู้เกี่ยวข้อง หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เกิดเหตุขึ้น ถือเป็นบทเรียนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยกระทรวงคมนาคมได้ให้นโยบาย กำหนดมาตรการกรณีมีการก่อสร้าง การรื้อถอน ในพื้นที่รถไฟฟ้า 1. ต้องมีการแจ้งเข้าพื้นที่ล่วงหน้าผู้เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน 2. มีการส่งมอบพื้นที่และตรวจรับร่วมกัน จะไม่ให้ทำงานหากองค์ประกอบไม่ครบ กรณีนี้ ให้ รฟม.และกรมรางกำกับดูแลอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพราะถือเป็นประเด็นใหม่ที่เกิดอุบัติเหตุจากการรื้อถอนของการก่อสร้างของโครงการอื่น ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ 4 เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น"

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามีประกันภัยที่จะเข้ามารับผิดชอบดูแลทั้งหมด ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ส่วนการซ่อมแซมนั้น ทางบริษัทได้เร่งสั่งซื้ออะไหล่แต่เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีที่ต่างประเทศหยุดยาว ทั้งนี้ได้กำชับให้ซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาเปิดเดินรถโดยเร็ว


@เจรจา NBM ยืดใช้ฟรีหลัง 3 ม.ค. 67 เยียวยาปิดเดินรถซ่อมรางจ่ายไฟฟ้า

รมช.คมนาคมกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น กระทรวงคมนาคมจะเจรจากับ NBM เพื่อให้ขยายเวลาในการใช้บริการฟรี ออกไป จากที่กำหนดจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร วันที่ 3 ม.ค. 2567 เพื่อชดเชยให้ประชาชน เนื่องจากขณะนี้ สายสีชมพูยังปิดบริการในช่วงถนนแจ้งวัฒนะ ดังนั้น จะต้องชดเชยใช้ฟรีให้ประชาชน อย่างน้อยตามจำนวนวันที่หายไป หรือที่สายสีชมพูหยุดวิ่งในช่วงถนนแจ้งวัฒนะ

ด้านนายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. กล่าวว่า ในแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสีชมพู จะมีโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง คือการย้ายสายไฟฟ้าลงดิน ที่มีการทำงานร่วมกันไปพร้อมกัน โดยอยู่ในช่วงเก็บงานโดยผู้รับจ้าง ทั้งนี้รฟม.จะเพิ่มการกำกับดูแลผู้ก่อสร้างโครงการให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ส่วนการคืนพื้นที่ใต้โครงสร้างรถไฟฟ้าสีชมพูจะเหลือบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ อีกไม่มาก


@เร่งสั่งอะไหล่ตัวคลิปยึดรางจ่ายไฟฟ้า ใช้กว่า 1,700 ตัว คาดซ่อมใน 7 วัน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู กล่าวว่า การนำสายไฟฟ้าลงดิน ผู้รับเหมาเป็นรายเดียวกับที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แต่เข้าใจว่าจะมีผู้รับเหมาย่อยเข้ามาช่วยด้วยซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นบริษัทอะไร ส่วนการชดใช้ค่าเสียหายมีประกันดูแลครอบคลุม

ทั้งนี้ บริษัทฯ ประสานกับบริษัทอัลสตรอม ผู้ผลิตรถไฟฟ้าสายสีชมพู เพื่อเร่งสั่งซื้ออุปกรณ์ยึดรางจ่ายไฟฟ้า หรือคลิปยึด) จากผู้ผลิต ซึ่งระยะทาง 5 กม.ต้องใช้จำนวน 1,700 ตัว ขณะที่บริษัทฯ มีสำรองอะไหล่ไว้ 400 ตัว ซึ่งไม่คิดว่าจะเกิดเหตุและดึงให้คลิปยึดชำรุดเสียหาย ปกติตัวคลิปยึดจะไม่ค่อยชำรุด ส่วนรางจ่ายไฟฟ้าจะมีสำรองค่อนข้างมากเพราะจะมีการสึกหรอจากการเสียดสีมากกว่าทำให้ต้องเปลี่ยนบ่อย โดยมีสำรองกว่า 500 เท่า ซึ่งเพียงพอต่อการซ่อมแซม ทั้งนี้ เมื่อได้จะนำเข้ามาทางเครื่องบินเพื่อให้เร็วที่สุด และประเมินหากได้คลิปยึดเข้ามาจะเร่งซ่อมใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน


ส่วนจะมีการขยายเวลาให้บริการฟรีออกไปจากวันที่ 3 ม.ค. 2567 หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า บริษัทฯ รับทราบ พร้อมหารือและให้ความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม แต่ขอดูรายละเอียดก่อนว่าจะขยายฟรีไปกี่วันเพราะต้องดูเรื่องการซ่อมบำรุงด้วยว่าจะเสร็จเมื่อใด

“ยืนยันรถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นระบบโมโนเรลที่ได้มาตรฐาน เป็นระบบเดียวกับสายสีเหลือง เหตุที่เกิดไม่ได้โทษใคร เพราะมีการทำงานอยู่ด้านล่าง เมื่อรถตรวจทางไปเจอก็เร่งแก้ไข ยืนยันได้ว่าระบบรถไฟฟ้ามีความปลอดภัยสูง ประชาชนให้ความเชื่อมั่นได้”

@จัดเดินรถ 2 รูปแบบ ผู้โดยสารลงเปลี่ยนขบวนที่สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ

ส่วนการให้บริการจากนี้ รฟม.และบริษัทฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบ พบว่าช่วงสถานีมีนบุรี (PK30) ถึงสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (PK08) ระบบมีความปลอดภัย พร้อมให้บริการ แต่อาจจะไม่สะดวกเล็กน้อยเพราะผู้โดยสารจะต้องมีการเปลี่ยนขบวนบริเวณจุดสับราง ช่วงสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยจะจัดการเดินรถเป็น 2 ลูป จากมีนบุรี-สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ และจากสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ-เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ซึ่งสถานีที่ผู้โดยสารใช้จำนวนมาก คือสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และสถานีวงแหวนรามอินทรา ซึ่งอยู่ฝั่งที่ไม่มีปัญหา




กำลังโหลดความคิดเห็น