xs
xsm
sm
md
lg

เด็กก้าวพลาดก้าวผิดจังหวะอาจไม่ได้รับการแก้ไขเพราะช่องว่างทางกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรณี ป.อาญา มาตรา 74 บัญญัติว่า เด็กอายุกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการต่างๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรได้ เช่น มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ไปรับการฝึกและอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนตามมาตรา 74(3)

แต่บิดามารดา หรือผู้ปกครองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าว จึงอาศัยสิทธิในการต่อสู้คดีด้วยการอุทธรณ์และฎีกาตามลำดับ และศาลฎีกาก็มีคำสั่งหรือคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นทั้งสองศาลเด็กไปรับการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน

แต่ด้วยมาตรา 74(3) ได้กำหนดเงื่อนเวลาให้ศาลส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตหรือสถานที่ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี

ประเด็นพิจารณา นั่นหมายความว่า แม้ศาลทั้ง 3 ชั้นจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เด็กได้รับการฝึกและอบรมในศูนย์ฝึกฯ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถเอาตัวเด็กดังกล่าวเข้าไปเข้ารับฝึกอบรมได้ตามคำสั่งหรือคำพิพากษาได้ เพราะวันที่คำพิพากษาศาลฎีกาตกลงมาเด็กรายนั้นอายุเกินกว่า 18 ปีไปแล้ว

ดังตัวอย่างตามคำพิพากษาฎีกาที่ 10272/2559 การกระทำของจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารและร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี แต่ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุสิบแปดปี ตาม ป.อ.มาตรา 74 (5) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของจำเลยให้กลับตนเป็นคนดี แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยมีอายุครบสิบแปดปี ศาลจึงไม่อาจส่งตัวจําเลยไปรับการฝึกและอบรมได้ จึงสมควรที่จะดำเนินการแก่จําเลยตาม ป.อ.มาตรา 74 ประการอื่นที่เหมาะสมแก่จำเลย โดยเห็นว่าควรมอบตัวจำเลยให้มารดาหรือผู้ปกครองซึ่งยังสามารถดูแลจำเลยได้ไป โดยวางข้อกำหนดให้มารดาหรือผู้ปกครองปฏิบัติตาม และเพื่อให้จำเลยหลาบจำ ตามมาตรา 74 (2) เห็นสมควรกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติจําเลยตามมาตรา 74 (3) ด้วย

#คำถามคือ เด็กรายนั้นจะไม่ได้รับโปรแกรมบำบัดที่ไม่เหมาะสม ประกอบกับครอบครัวก็ไม่มีความพร้อมและขาดทักษะในการจัดการปัญหาเด็ก หากปล่อยไปตามนี้สังคมก็จะไม่ปลอดภัย เด็กก็ไม่ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างเหมาะสม

ตามรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายทุก 5 ปี ถ้ากฎหมายใดล้าสมัยหรือมีปัญหาก็ให้ทำการปรับแก้

ผมจึงอยากเห็นสำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควรถึงเวลาลุกขึ้นมาอุดช่องว่างช่องโหว่นี้ดังกล่าว

#การคุ้มครองเด็ก, สังคม และเพื่อประโยชน์สาธารณะต้องได้สัดส่วนอย่างเหมาะสมก่อนที่จะสายเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น