xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพ ขสมก.จี้ ผอ.แจงเหมาซ่อมรถเมล์ NGV หลังหนังคนละม้วนปมฉีกสัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก.จี้ ผอ.ขสมก.แจงปมกรณีที่รถเมล์ปรับอากาศ NGV เสียถูกตัดจอด แจ้งบอกเลิกสัญญา แต่ฝ่ายคู่สัญญาแจงหนังคนละม้วน ขสมก.ค้างจ่ายค่าซ่อม 90 ล้านจึงไม่มีเงินซื้ออะไหล่ เตรียมเข้าพบ รมช.คมนาคมพุธนี้ (24 ม.ค.)

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ได้ทำหนังสือถึง นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงการจ่ายค่าเหมาซ่อม ลงวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ตามที่สหภาพแรงงานได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการ ขสมก. เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 กรณีที่บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ไม่จ่ายค่าจ้างให้ช่างที่มาทำการซ่อมรถโดยสารปรับอากาศ (BONLUCK) ทำให้ช่างไม่ทำการซ่อมรถโดยสารปรับอากาศ (BONLUCK) จำนวน 486 คัน เมื่อวันที่ 29-30 ธ.ค. 2566 ทำให้ ขสมก.เกิดความเสียหาย ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเดือดร้อนในการเดินทาง ส่งผลกระทบในการเดินรถโดยสารทั้งเขต 1-8 ตามที่ทราบแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2566 รถโดยสารปรับอากาศ (BONLUCK) ก็สามารถนำรถโดยสารออกวิ่งให้บริการได้ตามปกติ แต่ไม่ครบจำนวนตามสัญญาข้อตกลงกันระหว่าง ขสมก. กับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ขสมก.ต้องจัดหารถตามเขตการเดินรถทั้งรถร้อน (ครีมแดง) และรถปรับอากาศยูโรทู ไปวิ่งให้บริการประชาชนตามเส้นทางรถปรับอากาศที่ไม่สามารถนำรถออกวิ่งได้ครบตามกำหนดไว้ และก็เกิดปัญหามาโดยตลอด ผู้อำนวยการ ขสมก. ได้มอบหมายให้ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ 1 ลงไปตรวจสอบการซ่อมบำรุงของบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ที่เขตการเดินรถที่ 1, 2, 3 และเขตการเดินรถที่ 5 ที่มีรถโดยสารปรับอากาศ (BONLUCK) วิ่งให้บริการตามเขตการเดินรถว่าสามารถซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทฯ ไม่สามารถจัดหาอะไหล่มาทำการซ่อมบำรุงรถโดยสารที่ชำรุดได้ ทำให้ไม่สามารถนำรถโดยสารออกวิ่งให้บริการประชาชนได้ตามแผนการเดินรถ และตามข้อกำหนดได้ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการใช้บริการมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2565-2567 เป็นต้นมา

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 ขสมก. โดยผู้อำนวยการ ขสมก.ได้แจ้งต่อพนักงาน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปให้ทราบว่าในวันที่ 16 ม.ค. 2567 จะมีการประชุมผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบอกเลิกสัญญาการเหมาซ่อมของบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องด้วยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ดำเนินการซ่อมบำรุงไม่เป็นไปตามสัญญา ในการดูแลการซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศ (BONLUCK) ทำให้ประชาชนเดือดร้อนในการเดินทาง สิ่งสำคัญทำให้องค์การได้รับความเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้ ต้องจัดหารถโดยสารตามเส้นทางในเขตต่างๆ ทั้งรถปรับอากาศ และรถร้อนมาวิ่งให้บริการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ปัญหาการซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศของรถ BONLUCK ที่ทำผิดเงื่อนไขสัญญามาโดยตลอดองค์การมีการปรับแต่ละวัน/คัน วันละ 10,000 บาท และมีการทำหนังสือเตือนจากองค์การ กรณีไม่สามารถซ่อมบำรุงรถโดยสารให้แล้วเสร็จ และนำรถออกวิ่งให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาได้มาโดยตลอด แต่บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) มิได้ออกมาชี้แจงข้อมูลที่แท้จริง หรือปัญหาเกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด ให้องค์การและประชาชนได้รับทราบ แต่ยอมรับว่า ไม่มีช่างเพียงพอมาซ่อมรถให้สามารถนำรถออกวิ่งให้ครบตามจำนวนในแต่ละวันได้ตามข้อกำหนดที่ตกลงกันไว้ และยอมให้องค์การปรับตามเงื่อนไขสัญญามาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยมิได้ออกมาชี้แจงกรณีไม่สามารถซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสารได้เพราะองค์การมิได้จ่ายค่าเหมาซ่อมให้บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือไม่อย่างไรมิได้ออกมาชี้แจงใดๆ ให้สังคมและองค์การรับทราบแต่ประการใด

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 บริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงข่าวต่อสื่อเดลินิวส์ กรณีที่บริษัทไม่สามารถซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศ (BONLUCK) ได้ตามเงื่อนไขสัญญาและข้อกำหนดตามแผนการเดินรถในแต่ละวันได้ เพราะองค์การไม่จ่ายค่าเหมาซ่อมให้บริษัท ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอที่จะไปซื้ออะไหล่รถมาซ่อมบำรุงให้รถองค์การออกวิ่งได้ตามเงื่อนไขสัญญา การให้ข่าวของบริษัทดังกล่าวทำให้พนักงาน สมาชิกสหภาพแรงงาน ประชาชน และสื่อมวลชน เคลือบแคลงสงสัยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมีคำถามมากมายจากสังคมว่าตกลงเกิดอะไรขึ้นในองค์การ ความจริงเป็นอย่างไร ใครกล่าวเท็จใครกล่าวจริงมีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่อย่างไร แต่ความเดือดร้อนส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

สหภาพแรงงานขอให้ ขสมก. โดยผู้อำนวยการได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ในกรณีที่บริษัทเหมาซ่อมกล่าวหาว่าองค์การไม่จ่ายค่าเหมาซ่อมจำนวน 80-90 ล้าน จึงไม่สามารถจะซ่อมบำรุงรถโดยสารให้กับองค์การได้ เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่สามารถไปซื้ออะไหล่มาดำเนินการซ่อมบำรุงรถโดยสาร (BONLUCK) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขได้ เป็นความจริงหรือไม่ประการใด หากปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องจริงใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีต-ปัจจุบัน

ดังนั้น สหภาพแรงงานจะแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อนำข้อมูลมาชี้แจงต่อสังคมให้หายเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องดังกล่าว โดยให้ผู้อำนวยการได้ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงให้สหภาพแรงงานฯ ให้รับทราบด้วย ขณะเดียวกัน ในวันที่ 24 ม.ค. 2567 คณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานฯ จะเข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือให้ ฯพณฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดแจ้งต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น