โดย ปิติ ปัฐวิกรณ์
ปัญหาหมูไทยที่ถูกหมูเถื่อนรังแกจนราคาตกต่ำทำเอาเกษตรกรไทยขาดทุนยับเยิน บอบช้ำและเลิกอาชีพไปไม่น้อย ยังไม่น่าเจ็บใจเท่าที่คนไทยมาตั้งคำถามว่า เมื่อหมูเถื่อนราคาถูกทำไมไม่เอาหมูเถื่อนเข้ามาขายแทนหมูไทยซะเลย สะท้อนความไม่รู้คุณค่าของการที่ประเทศไทยสามารถผลิตอาหารได้เอง ไม่รู้ความสำคัญของการเป็นครัวของโลก นับเป็นคำถามที่ควรต้องออกมาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่กระทบความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมั่นคงทางอาหาร
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้นิยาม “ความมั่นคงทางอาหาร” หรือ Food Security ไว้ว่ามีองค์ประกอบ 4 ข้อ ได้แก่ 1.) การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability) เป็นอาหารมี ‘คุณภาพ’ ที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ สม่ำเสมอ 2.) การเข้าถึงอาหาร (Food Access) - ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรภายใต้กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้น ให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ 3.) การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization) - การบริโภคอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคของคน เน้นการมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี รวมถึงการมีน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะด้วย และ 4.) การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability) - ทุกคนเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอาหารขาดแคลนจากวิกฤตใดๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ วัฏจักรตามฤดูกาล หรือภัยพิบัติ
ขณะที่ “พ.ร.บ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551” ของไทยก็ให้นิยามความมั่นคงทางอาหารไว้ว่า หมายถึง “การเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการตามวัยเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี รวมทั้งการมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติของประเทศ ทั้งในภาวะปกติหรือเกิดภัยพิบัติ สาธารณภัย หรือการก่อการร้ายอันเกี่ยวเนื่องจากอาหาร”
ดังนั้น การที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก เกษตรกรไทยมีศักยภาพในการผลิตพืชผลทางการเกษตร ทั้งภาคพืช ภาคปศุสัตว์และภาคประมง ป้อนคนในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก ไม่เคยเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ผู้คนเข้าถึงอาหารได้ง่าย ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแปรรูปอาหารในระดับชั้นนำของโลก ภาครัฐมีมาตรฐานกำกับดูแลการผลิตอาหารปลอดภัยตั้งแต่ฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภค ทั้งยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่ แม้มีภัยพิบัติใด คนไทยก็ไม่เคยขาดแคลนอาหาร เหล่านี้ยืนยันได้ว่าประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารที่เข้มแข็ง
การตั้งคำถามว่าทำไมไม่นำเข้าเนื้อหมูเข้ามาเสียเลย จึงเหมือนถามว่า ทำไมไม่ทุบหม้อข้าวตัวเอง ทำลายยุ้งฉางแหล่งผลิตอาหารของเราทุกคนไปเลย โดยลืมมองไปว่า หากปล่อยให้หมูต่างถิ่นเข้ามาเบียดเบียนจนเกษตรกรไทยอยู่ไม่ได้ ประชาชนต้องพึ่งพาเนื้อหมูจากประเทศอื่นนั้นไม่ต่างอะไรกับประเทศที่ไม่มีแหล่งผลิตอาหารของตนเอง หากเกิดเหตุสุดวิสัยประเทศต้นทางยุติการส่งออก ไทยจะขาดแคลนเนื้อหมูทันที นี่จึงไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อประเทศของเรา ในขณะที่ทุกๆประเทศล้วนปกป้องเกษตรกรของเขา เพราะเป็นผู้ผลิตอาหารป้อนคนทั้งประเทศ บางประเทศถึงกับไม่ให้มีการนำเข้าเนื้อสัตว์ที่มีราคาต่ำกว่าเข้ามาขาย เช่นครั้งหนึ่งที่สหรัฐฯ ฟ้องทุ่มตลาดกุ้งไทย เพราะขายราคาต่ำกว่ากุ้งสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าแม้แต่มหาอำนาจยังให้ความสำคัญต่อเกษตรกรของเขาอย่างยิ่ง
หนุนอาหารมั่นคง ต้องหนุนเกษตรกรตลอดห่วงโซ่ให้ยั่งยืน
“เกษตรกร” เป็นกลุ่มบุคคลที่ควรต้องสนับสนุนให้เขาสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้อย่างราบรื่น เพราะเขาคือผู้สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประชาชนและประเทศชาติ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมุ่งมั่นพัฒนา ยกระดับการเลี้ยง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เพื่อผลิตเนื้อหมูปลอดภัย จนเป็นที่ยอมรับว่าหมูไทยดีที่สุดแล้วในภูมิภาคนี้ ไม่ควรต้องเดือดร้อนกับภาวะขาดทุนจากภัยหมูเถื่อน ดังนั้น นอกจากรัฐจำเป็นต้องปราบปรามหมูเถื่อนให้สิ้นซากแล้ว ควรตรวจสอบย้อนกลับไปให้ถึงต้นทางว่ามีหนทางใดที่จะช่วยประคับประคองให้เกษตรกรพ้นภาวะขาดทุน กลับมายืนได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง เช่น การบังคับใช้กฎหมาย “การไม่ซื้อผลผลิตหมูในราคาต่ำกว่าต้นทุน” ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการถูกโบรกเกอร์กดราคาหน้าฟาร์ม หรือการส่งเสริมให้เกษตรกรพืชไร่มีมาตรฐานการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ดี (GAP) ไม่ให้มีการเผาตอซัง ซึ่งได้ผลพลอยได้ทั้งด้านการลดฝุ่นควัน และตอบโจทย์ CBAM ในตลาดโลกด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐควรลดอุปสรรคด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตถึง 65% เพราะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี ของไทยสูงกว่าประเทศที่ผลิตวัตถุดิบเหล่านี้ได้เองเป็นเท่าตัว เช่น อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา จึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีต้นทุนการเลี้ยงหมูถูกกว่าไทยถึง 50% ไม่เพียงเท่านั้น มาตรการภายในประเทศเอง ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตหมูของไทยสูงกว่าประเทศอื่น เช่น การประกันราคาพืชไร่ที่รัฐทำมานับสิบปี ส่งผลให้ราคาพืชผลเหล่านี้ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด รวมถึงมาตรการ 3:1 ที่บังคับให้ต้องซื้อผลผลิตข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนก่อน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วนด้วย
การตรวจสอบย้อนกลับไปถึงต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหาร ช่วยให้มองเห็นแนวทางมากมายที่จะรักษาความมั่นคงทางอาหาร ปกป้องเกษตรกรไทย อย่างไรก็ตาม “ภาครัฐ” นับเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตนี้ที่มีผู้คนเกี่ยวข้องนับล้านคน และควรลงมือ “ทำทันที” เพื่อให้ทันความท้าทายอีกหลายประการที่รออยู่ข้างหน้า