xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรทั่วประเทศขอบคุณนายกฯ ช่วยภาคผลิตปศุสัตว์-สัตว์น้ำไม่สะดุด หลัง ครม.มีมติประกาศนำเข้า “กากถั่วเหลือง” 2567 ทันเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



(26 ธันวาคม 2566) กลุ่มเกษตรกรภาคปศุสัตว์และสัตว์น้ำยินดี!! หลังการประชุม ครม.นัดสุดท้ายของปีมีมติอนุมัติประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2567 ทันเวลา เกษตรกรทั่วประเทศขอบคุณรัฐบาลช่วยภาคการผลิตไม่สะดุด

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า ในนามของภาคการผลิตปศุสัตว์และสัตว์น้ำขอขอบคุณ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่กรุณารับฟังปัญหาพร้อมดำเนินการแก้ไขทันที น่าจะทำให้สามารถออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ทันเวลา

“การนำเข้ากากถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหารจะสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ ทำให้ประเทศไทยยังรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในด้านการส่งออกอาหารทั้งไก่และกุ้ง ขณะที่ผู้บริโภคภายในประเทศก็คลายกังวลเรื่องผลกระทบด้านปริมาณอาหารและราคาลง” นายพรศิลป์กล่าว

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เผยว่า การประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2567 ของรัฐบาลในการประชุม ครม.นัดสุดท้ายของปีนี้ นับว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เฉียดฉิวทันเวลา ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การประกาศนำเข้าแบบปีต่อปีซึ่งถอยกลับไปเหมือนสมัยก่อน ก็กังวลว่าจะเป็นอุปสรรคและปัญหาต่อการวางแผนการผลิตของภาคปศุสัตว์ เพราะมีความไม่แน่นอนด้านวัตถุดิบ ทางที่ดีก็ควรจะเป็นการประกาศทุก 3 ปีเช่นเดิม

ด้านนายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ช่วยคลี่คลายปัญหาการประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองอย่างทันเวลาก่อนจะเกิดความเสียหาย พร้อมย้ำว่าเกษตรกรทุกคนตั้งใจเดินหน้าผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค แต่ต้องยอมรับว่าต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักของเกษตรกร ขณะที่บางมาตรการของรัฐกลับยิ่งทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น กลายเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทย เช่น มาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 หรือการเก็บภาษีวัตถุดิบนำเข้า เช่น ภาษีกากถั่วเหลือง 2%, ภาษีกากเบียร์ (DDGS) 9% และภาษีปลาป่น 15% ซึ่งรัฐควรยกเลิกมาตรการเหล่านี้เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีต้นทุนที่ต่ำลง มีแรงประกอบอาชีพเกษตรกรต่อไป

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ความเข้าใจและเมตตาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปลา ช่วยแก้ปัญหานำเข้ากากถั่วเหลืองตามที่เกษตรกรร้องขอ ทำให้เกษตรกรผ่อนคลายความกังวลที่ไทยจะไม่เกิดการขาดแคลนกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบโปรตีนสำคัญสำหรับสัตว์น้ำ และจะช่วยให้กุ้งและสัตว์น้ำไทยสามารถต่อสู้และแข่งขันได้ในตลาดโลก




กำลังโหลดความคิดเห็น