xs
xsm
sm
md
lg

จะลดภาษีแบรนด์เนม ดันไทยเป็นศูนย์ชอปปิงโลก แต่เอเยนต์ไม่ยอมลดราคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลเร่งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ภาคเศรษฐกิจเดียวที่พอเป็นความหวังได้ เผย “เศรษฐา” มีแนวคิดจะลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมให้เหลือ 0 เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางชอปปิง แข่งกับฮ่องกง ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาจับจ่ายใช้สอย แต่ติดปัญหาที่เมื่อลดภาษีให้แล้วเอเยนต์จะไม่ยอมลดราคาขายปลีกลงตาม



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจเดียวที่ยังขยายตัวได้โดยในเดือนธันวาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คิดเป็นจำนวนถึง 3.2 ล้านคน

ทั้งนี้หากรวม ทั้งปี 2566 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามากกว่า28 ล้านคนเพิ่มขึ้นจาก ปี 2565 ถึง151% โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากที่สุดคือ มาเลเซีย ตามด้วยจีน เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย


แม้ตัวเลขดังกล่าวจะยังน้อยกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด โดยในปี 2562 ซึ่งประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากถึง40 ล้านคนแต่ก็ถือว่าทิศทาง และแนวโน้มในการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดี

โดยเครดิตส่วนหนึ่งก็ต้องยกให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการเรื่องนี้ได้จนเห็นผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัปดาห์ที่แล้ว นายเศรษฐามีการเปิดเผยออกมาเพิ่มเติมด้วยว่า ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม 2567 นี้ ทั้งทางประเทศไทยและประเทศจีนจะมีการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ ฟรีวีซ่า อย่างถาวร ทำให้คนไทยที่จะเดินทางไปเที่ยวที่จีน และ คนจีนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยไม่ต้องขอวีซ่าอีกต่อไป

ในเชิงของการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มกราคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาลไทย เปิดเผยว่าจากนโยบายฟรีวีซ่าดังกล่าว ประเทศไทยตั้งเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนในปีนี้ ปี 2567 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากจำนวน 3.5 ล้านคน ให้เป็นจำนวน 8 ล้านคนซึ่งจะขยับเข้าไปใกล้เคียงมากขึ้นกับช่วงก่อนโควิด ที่ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยมากถึง 11 ล้านคน


บางคนอาจมีอคติกับนักท่องเที่ยวจีน พอได้ยินว่ามาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน ก็วิพากษ์วิจารณ์ทันทีเลยว่า เอากรุ๊ปทัวร์จีนมาอีกแล้ว เอาพวก “ขากถุยเข้ามาทำไม” เดี๋ยว “จีนเทา” ก็เข้ามาอีกหรอก

ประการแรก “จีนเทา” จะอยู่ในไทยไม่ได้ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ข้าราชการโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย เรื่อยไปจนถึงบรรดานักการเมืองของเราไม่เอาด้วย ไม่รับผลประโยชน์ หรือ อยู่เบื้องหลังการกระทำผิดกฎหมายของคนพวกนี้

ประการต่อมา คนที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นไกด์ทัวร์ ล่าม รถรับจ้าง พนักงานโรงแรม ธุรกิจขายของที่ระลึก ดิวตี้ฟรี ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ทั้งกรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ เกาะสมุย หรือเมืองรอง ๆ อย่าง กระบี่ พังงา ระยอง เชียงราย ขอนแก่น หนองคาย ฯลฯ ต่างเฝ้ารอนักท่องเที่ยวกันทั้งนั้น และอย่าคิดว่า“นักท่องเที่ยวจีน”นั้นเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มไร้คุณภาพ, เป็นพวกทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือ ไม่มีอำนาจซื้อ

หากดูจากสถิติย้อนไปช่วงก่อนโควิดคือ ปี 2562 นั้น“นักท่องเที่ยวจีน”มีสถิติการจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ยต่อหัวต่อวัน ทัดเทียมกับนักท่องเที่ยวฮ่องกงและนักท่องเที่ยวสิงคโปร์โดยมากกว่ายุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้หรือว่า ไต้หวัน เสียอีก


เพราะฉะนั้นแล้ว เวลามองเรื่องการท่องเที่ยว คนไทยบางส่วนจะมองเฉพาะในเรื่องปริมาณ จำนวน หรือใช้ความเชื่อ และทัศนคติเก่าๆ อคติ ในการมองการท่องเที่ยว แต่จริงๆ แล้วการมองเรื่องนี้ต้องลงไปถึงรายละเอียด พิจารณาจากข้อมูลข้อเท็จจริงด้วยว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรแล้ว และกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปทิศทางใดมากที่สุด

การทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดหรือมีรายได้มากที่สุดจากการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเทศไทยเราต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริการ การจัดอีเวนต์ การสร้างประสบการณ์ใหม่ ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การเชื่อมต่อระบบคมนาคม รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมายหลายๆ อย่างด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ในการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว วันที่ 26 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว (2566) ครม.มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา ก็คือปรับภาษีหลายอย่าง

“ผมเป็นคนที่เคยคิดเรื่องนี้มานานแล้ว ว่าถ้าเราจะเอาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนหรือประเทศทางเอเชียนั้น เราทำได้ไหมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการชอปปิง เพราะสินค้าแบรนด์เนมทุกวันนี้ คนก็ยังยึดถือว่าฮ่องกงเป็นจุดที่ราคาถูกที่สุด เมืองไทยนั้น ในข้อเท็จจริงแล้ว สินค้าแบรนด์เนมจะแพงกว่าฮ่องกงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ผมก็เลยคิดตลอดเวลาว่า ถ้ารายได้จากภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยนี้เป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก เป็นไปได้ไหมที่เราจะยกเลิกภาษีสินค้าแบรนด์เนม เพื่อให้ราคาสินค้าแบรนด์เนมราคาเท่ากับฮ่องกง ก็ปรากฏว่ามันก็เป็นตรรกะที่น่าจะฟังขึ้น” นายสนธิกล่าว


นายสนธิ กล่าวว่าได้คุยเรื่องนี้ทางโทรศัพท์กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายเศรษฐาบอกว่า คิดอยู่แล้วที่จะยกเลิกภาษีสินค้าพวกนี้ไปเลย ได้ถามเอเยนต์ผู้จำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ ว่าถ้าลดภาษีเท่ากับ 0 ราคาจะลดลงมาสู้ฮ่องกงได้หรือไม่ แต่เจ้าของสินค้าแบรนด์ต่างๆ หรือตัวแทนแบรนด์ บอกว่า ลดภาษีก็ดี แต่ว่าราคาไม่ลด ยังคงเหมือนเดิม

“ถ้าอย่างนั้นจะไปลดภาษีทำไม ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าราคาเราก็ยังคงแพงกว่าฮ่องกงอยู่ 15 เปอร์เซ็นต์ นอกจากอย่าไปลดแล้ว ถ้าความคิด ทัศนคติของเจ้าของแบรนด์คิดอย่างนี้ ผมกลับคิดว่าขึ้นภาษีไปเลย เพิ่มเติมเลย ให้มันแพงสุดกู่ไปเลย

“ถ้าจะลดแล้ว เจ้าของแบรนด์ไม่ยอมลดตามให้ราคามันเท่าเทียมกัน ก็ไม่ต้องไปลด เพิ่มมันไปเลย ท่านผู้ชมเห็นด้วยกับผมไหม ก็จะมีแต่เศรษฐีเท่านั้นที่จะซื้อกัน ในเมื่อนักท่องเที่ยวเขาก็ไม่ซื้อ เพราะว่าเขาซื้อที่ฮ่องกงดีกว่า ก็มีแต่เศรษฐีไทยนี่ล่ะที่จะซื้อ ก็เพิ่มมันไปสูงๆ เลย รวยนักนี่ กระเป๋าใบละตั้งสามแสน มีปัญญาซื้อได้ ก็เพิ่มภาษีไปให้ขายสักสามแสนห้า สี่แสน ให้คนไทยถอยออกมาบ้าง ก็ดีเหมือนกัน คนไทยก็จะได้เลิกใช้สินค้าฟุ่มเฟือย

“นี่คือความเห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการ พอรัฐจะลดภาษี ก็ถามว่าถ้าอย่างนั้นคุณลดราคาตามได้ไหม นี่คือสิ่งที่คุณเศรษฐา ตรวจสอบไป สอบถามไป เขาบอกว่าไม่ลด จะเอาลูกเดียว เหมือนเรื่องธุรกิจพลังงาน ธุรกิจธนาคาร ร่ำรวยกันฉิบหายวายป่วงหมดเลยทุกวันนี้ ประเทศมีวิกฤตทีไร ประเภทนี้ สองหน่วยงานนี้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารในประเทศไทย หรือฝ่ายพลังงาน จะร่ำรวยขึ้นมาเป็นพิเศษ นี่คือความเห็นแก่ตัวของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ ไม่ได้คิดถึงภาพรวมของประเทศเลย” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น