1."สมศักดิ์" ยอมรับ "ทักษิณ" เข้าเกณฑ์ระเบียบใหม่คุมขังนอกคุก ปัดออกระเบียบแลกเข้าพรรคเพื่อไทย ด้าน "วัชระ" ยื่น ป.ป.ช.สอบระเบียบราชทัณฑ์เอื้อทักษิณหรือไม่!
ความคืบหน้ากรณีกรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบใหม่ เกี่ยวกับการคุมขังนักโทษนอกเรือนจำเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถูกหลายฝ่ายมองว่า เป็นการออกระเบียบเพื่อเอื้อให้นักโทษเด็ดขาดทักษิณ ชินวัตร ที่ยังไม่เคยนอนคุกสักวันตั้งแต่กลับมารับโทษ เพราะอ้างว่าป่วยหลายโรคและออกไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ซึ่งมีกำหนดครบ 120 วันในวันที่ 22 ธ.ค. ให้ไม่ต้องกลับเข้าเรือนจำ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ยืนยันว่า ระเบียบใหม่ดังกล่าว ไม่ได้ออกมาเพื่อเอื้อนายทักษิณนั้น
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาชี้แจงหลังมีชื่อตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เรื่องการคุมขังนอกเรือนจำ โดยยืนยันว่า ระเบียบดังกล่าวออกมาตั้งแต่ปี 2560 ก่อนที่ตนจะรับตำแหน่งรัฐมนตรี และในปี 2562 ที่ตนเป็น รมว.ยุติธรรม มีการออกกฎกระทรวงในมาตรา 33 พ.ร.บ.ราชทันฑ์ปี 2560 เรื่องการจำแนกผู้ต้องขัง โดยดูเรื่องพฤติกรรมผู้ต้องขัง จนถึงการรักษาพยาบาล ตลอดจนการเตรียมความพร้อมปล่อยตัวในปี 2563
ต่อมา มีอดีตข้าราชการและคณะกรรมการสิทธิฯ หารือขอให้มีที่คุมขังนอกเรือนจำกับผู้ต้องขัง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาที่ไม่ควรจะเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ซึ่งตนเห็นด้วยจึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม และคณะทำงานดำเนินการเรื่องนี้ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ตนก็ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีก่อน
ส่วนระเบียบดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ต้องขังคนใดคนหนึ่งหรือไม่ นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า ไม่ใช่ แต่เป็นกระบวนการยุติธรรมซึ่งทำตามกรอบสากล เป็นกฎหมายที่สากลดำเนินการและสามารถทำได้ แต่ต้องเข้าเกณฑ์ ส่วนการจำคุกจากคดีร้ายแรง เช่น ฆ่า ยาเสพติด จะไม่ถูกนำมาพิจารณากับระเบียบใหม่
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ยอมรับว่า นายทักษิณเข้าเกณฑ์ระเบียบดังกล่าว เพราะโทษไม่เกิน 4 ปี ไม่ได้เป็นบุคคลที่อยู่ในข่ายน่ากลัวของสังคม เช่น โทษฆ่าข่มขืน ซึ่งจำเป็นต้องถูกคุมขังในเรือนจำ หากเป็นโทษที่ไม่เป็นภัยต่อสังคม ในระบบสากลสามารถคุมขังนอกเรือนจำได้ รวมถึงเหลือโทษน้อย ส่วนที่มองว่า การออกระเบียบราชทัณฑ์เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณนั้น นายสมศักดิ์เลี่ยงที่จะตอบคำถาม แต่บอกว่า กฎหมายเขียนได้ดี หากใช้ระยะเวลา 5 ปีตามมาตรา 43 สามารถแก้ไขได้
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังปฏิเสธว่า ไม่ได้ออกระเบียบดังกล่าวเพื่อรองรับการที่ตนย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะหากคิดจะเข้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นคงทำเสร็จไปแล้ว พร้อมย้ำว่า เป็นพัฒนาการของกฎหมาย แต่เข้าทางคนที่มีโทษน้อย ซึ่งการออกระเบียบในครั้งนี้มีกลุ่มคนที่จะได้รับการพิจารณากว่าหมื่นคน
นายสมศักดิ์ ยืนยันด้วยว่า กรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีอำนาจใหญ่กว่าศาล และขณะนั้น ตนไม่ได้คิดว่าจะไปอยู่พรรคไหน แต่กฎหมายพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสากล อีกทั้งยังสามารถเปิดเผยได้ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่มาหารือเรื่องนี้เป็นใคร แต่ยังไม่เปิดเผย
ทั้งนี้ วันเดียวกัน นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงระเบียบการคุมขังนักโทษนอกเรือนจำว่า ราชทัณฑ์ต้องกำหนดหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ออกและอยู่ระหว่างดำเนินการ เพราะมีรายละเอียดต้องพิจารณา แต่จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีผู้ต้องขังที่ป่วย พิการ ผู้ต้องขังสูงอายุ ดูแล้วไม่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำรอใช้ระเบียบฉบับนี้อยู่เช่นกัน ส่วนระยะเวลาขึ้นอยู่กับสถานการณ์และข้อมูลที่รวบรวม เพราะมีคณะทำงานตรวจสอบ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าจะทันก่อนปีใหม่หรือไม่
นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า หากนายทักษิณเข้าหลักเกณฑ์ จะพักอาศัยที่บ้านหรือโรงพยาบาลต่อนั้น ต้องดูขั้นตอนในกฎกระทรวง ระเบียบ เพราะมีหลายสถานที่ขึ้นอยู่กับแต่ละคน โดยคณะทำงานจะพิจารณาว่าสถานที่ใดมีความเหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ ซึ่งคำว่า “เหมาะสม” หมายถึง สถานที่ที่รองรับมีความพร้อมในการทำกิจกรรม ปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขได้ และอยู่ในสถานที่ราชทัณฑ์ควบคุมดูแลได้ ซึ่งไม่ไกลจากเรือนจำ และเจ้าหน้าที่ไปหาได้ง่าย
ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ผ่านทางนายสุขสันต์ ประสาระเอ ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนนายสหการณ์ เพร็ชนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวกและฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้อง มีพฤติการณ์หรือกระทำผิดประมวลจริยธรรมของช้าราชการ หรือนักการเมืองและกฎหมาย กรณีออกระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ว่า 1.ไม่ต้องจำคุกจริง และไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่ ป่วยจริงหรือไม่ 2.มีการดำเนินการตามขั้นตอนรับเข้าเรือนจำ ออกประวัตินักโทษครบถ้วนหรือไม่ 3. มีข้าราชการ นักการเมือง สั่งการช่วยเหลือหรือไม่ และ 4. มีการเร่งรัดออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 6 ธ.ค.2566 เอื้อประโยชน์นายทักษิณจริงหรือไม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 ธ.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล และเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง โดยใช้เวลาเข้าพบประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับ โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า น่าจะเข้าพบนายกฯ เพื่อรายงานกรณีนายทักษิณ ครบกำหนดพักรักษาพยาบาลนอกเรือนจำ 120 วัน ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้เตรียมนำเอกสารความเห็นจากแพทย์ผู้รักษาอาการป่วยของนายทักษิณ มาประกอบการพิจารณาเพื่อเสนอไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอขยายเวลาพักรักษาตัวเกิน 120 วัน โดยระบุว่า ยังมีอาการป่วย นอกจากนี้ยังคาดว่า พ.ต.อ.ทวี น่าจะมารายงานนายกฯ เรื่องระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่เกี่ยวกับการคุมขังนักโทษนอกเรือนจำ ที่หลายฝ่ายมองว่า ออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อนายทักษิณ
2.ศาลมุกดาหารพิพากษาจำคุก "ลุงพล" 20 ปี คดี "น้องชมพู่" ตายบนเขา ชี้ไม่เจตนาฆ่า แต่ประมาทเป็นเหตุให้ตาย ยกฟ้อง "ป้าแต๋น" ด้านทนายมั่นใจสู้คดีได้!
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ศาลจังหวัดมุกดาหารได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายไชย์พล วิภา หรือ "ลุงพล" และ น.ส.สมพร หลาบโพธิ์ หรือ "ป้าแต๋น" สองสามีภรรยา เป็นจำเลยที่ 1-2 กรณีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ วัย 3 ขวบเมื่อเดือน พ.ค.2563
โดยโจทก์ฟ้องนายไชย์พล จำเลยที่ 1 ในความผิดฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา, พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร, ทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกิน 9 ปีไว้ ณ ที่ใดเพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตนโดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแลเป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้งถึงแก่ความตาย, ร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป และฟ้อง น.ส.สมพร จำเลยที่ 2 ในความผิดร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพ หรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่า บริเวณที่พบศพเด็กหญิงอรวรรณ ผู้ตาย อยู่บนเขาภูเหล็กไฟ ห่างจากจุดที่มีคนพบเห็นผู้ตายครั้งสุดท้ายประมาณ 1.5 กิโลเมตร และเป็นทางลาดชัน ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีการตรวจพบเส้นผมผู้ตายหลายเส้นที่มีลักษณะถูกตัดด้วยของแข็งมีคม จึงเชื่อว่าผู้ตาย ซึ่งมีอายุเพียง 3 ปีเศษ ไม่สามารถเดินขึ้นไปถึงบริเวณที่พบศพและใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมของตนเองได้ แต่ต้องมีคนร้ายพาผู้ตายไป
ปัญหาต่อมาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่า ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ตายเล่นอยู่บริเวณหน้าบ้านพักและมีเด็กหญิง ก. พี่สาวผู้ตายนอนเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ใกล้เคียง กระทั่งเวลาประมาณ 9.50 น. เด็กหญิง ก. มองหาผู้ตายไม่เห็น จึงออกตามหา ดังนั้น ผู้ตายต้องหายตัวไป ก่อนช่วงเวลาดังกล่าว โดยเด็กหญิง ก. เบิกความว่า ไม่ได้ยินเสียงผู้ตายร้องแต่อย่างใด เชื่อว่า คนร้ายที่พาผู้ตายไป ต้องเป็นญาติหรือบุคคลใกล้ชิดในหมู่บ้านที่ผู้ตายรู้จักดี เนื่องจากผู้ตายจะร้องไห้ หากถูกคนแปลกหน้าอุ้ม เจ้าพนักงานตำรวจจึงสืบสวนกลุ่มบุคคล 14 คน แบ่งเป็นญาติ 12 คน และบุคคลใกล้ชิด 2 คน พบว่า 13 คน มีหลักฐานที่ยืนยันที่อยู่หรือตำแหน่งอ้างอิงจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ชัดเจน ยกเว้นจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่สามารถยืนยันฐานที่อยู่ได้แน่ชัด ในเวลาที่ผู้ตายหายตัวไป
นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังให้การเป็นข้อพิรุธหลายอย่าง เช่น ให้การกับตำรวจชุดสืบสวนว่า วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 มีนัดไปรับพระ ส. ที่วัดถ้ำภูผาแอก และว่า ขณะเดินทางไปวัด จำเลยที่ 2โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายหายตัวไป แต่ครอบครัวของจำเลยทั้งสองมีโทศัพท์เคลื่อนที่เพียงเครื่องเดียวอยู่กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จำเลยที่ 2 จะโทรศัพท์แจ้งเรื่องแก่จำเลยที่ 1 อีกทั้งพระ บ. ซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดถ้ำภูผาแอกเช่นกันยืนยันว่า วันดังกล่าว เวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยที่ 1 เดินทางไปถึงวัดและพูดกับพระ บ. ว่า หลานหาย เกือบไม่ได้ไปส่งพระ ทั้งที่ในขณะนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตัวต้องยังไม่ทราบเหตุว่า ผู้ตายหายตัวไป
นอกจากนี้ ยังมีพยานโจทก์ คือ นาย ว. และนาง พ. ให้การในชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยที่ 1 อยู่บริเวณ สวนยางพาราซึ่งเป็นทางเดินที่สามารถเข้าถึงจุดที่ผู้ตายหายตัวไป ในช่วงเวลาที่คนร้ายลงมือกระทำความผิด โดยขณะที่มีการสอบสวนเรื่องนี้ จำเลยที่ 1 พยายามไปพูดคุยกับนาย ว. ให้ นาย ว. บอกเจ้าพนักงานตำรวจว่า นาย ว. พบจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลา 7.00 น. ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจสงสัยจำเลยที่ 1
จึงเป็นข้อพิรุธว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดต้องพูดจาในลักษณะดังกล่าวกับพยานดังกล่าว แม้ต่อมาในขณะสืบพยาน นาง พ. จะเบิกความว่า ตนไม่ใด้เห็นจำเลยที่ 1 บริเวณสวนยางพารา แต่ก็เป็นการกลับคำภายหลังเกิดเหตุกว่า 2 ปี ซึ่งอาจทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 คำให้การในชั้นสอบสวนของนาง พ. จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่า
นอกจากนี้ ภายหลังตำรวจตั้งข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย จึงมีการเข้าตรวจค้นรถยนต์ จำเลยที่ 1 พบเส้นผม 16 เส้น และวัตถุพยานอื่น โดยผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่า เส้นผม 1 เส้น ที่ตกอยู่ในรถยนต์จำเลยที่ 1 มีองศาของรอยตัด หน้าตัด และพื้นผิวด้านข้าง ตรงกันกับเส้นผมผู้ตาย 2 เส้น ซึ่งตรวจเก็บได้จากบริเวณที่พบศพผู้ตาย เส้นผมทั้ง 3 เส้น ดังกล่าว จึงถูกตัดในคราวเดียวกันด้วยวัตถุของแข็งมีคมชนิดเดียวกัน เชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมผู้ตาย แต่ด้วยเหตุที่เส้นผมมีขนาดเล็กมาก จำเลยที่ 1 จึงไม่สังเกตว่ามีเส้นผมผู้ตายเส้นหนึ่งตกอยู่ในรถยนต์ของตน
ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องคนใดมีสาเหตุโกรธเคืองหรือมูลเหตุชักจูงใจในการใส่ร้ายจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่พาผู้ตายขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ
ปัญหาต่อมาต้องวินิจฉัยว่า ขณะพาผู้ตายขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ จำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ร่วมทั้งสองหรือผู้ตายมาก่อน จึงไม่น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าหรือเจตนาทอดทิ้งผู้ตาย ประกอบกับรายงานการตรวจศพผู้ตาย พบรอยช้ำใต้หนังศีรษะ บริเวณหน้าผากด้านข้ายและท้ายทอยเป็นจ้ำ ๆ จึงอาจเป็นกรณีที่ผู้ตายหมดสติไป ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตรวจดูให้ดี เลยพาผู้ตายไปทิ้งไว้บนเขาภูเหล็กไฟ
ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายศพฯ นั้น เห็นว่า ภายหลังวันเกิดเหตุจนถึงวันที่พบศพผู้ตาย โจทก์ไม่มีพยานคนใดเบิกความว่า เห็นจำเลยทั้งสองขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ แม้ผลการตรวจเส้นผม 3 เส้น จากบริเวณที่พบศพผู้ตาย มี DNA ตรงกับจำเลยที่ 2 แต่การตรวจหา DNA นั้น ไม่สามารถใช้ระบุตัวบุคคลได้ เพียงแต่ระบุได้ว่า เป็นเส้นผมของบุคคลที่อยู่ในสายมารดาเดียวกับผู้ตายเท่านั้น เส้นผมดังกล่าวจึงไม่จำต้องเป็นของจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองในข้อหานี้
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 317 วรรคแรก ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า คดีนี้ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร ตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีข้อสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 เห็นควรพิพากษายกฟ้อง จึงให้รวมไว้ในสำนวน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (1)
ทั้งนี้ วันเดียวกัน ลุงพลและป้าแต๋น พร้อมทนายความ ได้เปิดแถลงหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์ 5 แสนบาท โดยลุงพลได้กล่าวขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีและเอฟซีทั่วโลก รวมทั้งยูทูบเบอร์ที่เป็นกำลังใจให้ตลอด และน้อมรับคำตัดสินของศาลชั้นต้น ลุงกับป้ายืนยันว่าไม่ได้กระทำให้น้องเสียชีวิต
ขณะที่ป้าแต๋น ภรรยา กล่าวว่า พร้อมต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดย เป็นเรื่องของทนายความที่จะต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฏีกา พร้อมสู้ทั้ง 3 ศาล
ด้านนายสุรชัย ชินชัย ทนายความลุงพล เผยว่า ทางผู้เสียหายเรียกค่าปลงศพ 300,000 บาท ศาลให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ 150,000 บาท ส่วนค่าชดใช้อุปการะเลี้ยงดู บิดามารดาเรียกมา 5 ล้านบาท ศาลก็ใช้ดุจพินิจเด็กมีชีวิตอยู่ ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา 60,000 บาท รวมเฉพาะค่าเลี้ยงดู ในส่วนนี้ให้ชดใช้ 1,020,000 บาท
นายสุรชัย กล่าวถึงการสู้คดีด้วยว่า หลังจากนี้จะเขียนคำอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านให้เป็นเหตุเป็นผลให้เห็นว่า พยานที่กล่าวมามีข้อพิรุธสงสัย โดยต้องยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน นายสุรชัย ยังยืนยันด้วยว่า ลุงพลไม่ใช่คนโหดร้าย มั่นใจว่าสู้คดีได้ เพราะท้ายคำพิพากษา มีความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร ที่เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีข้อสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 เห็นควรพิพากษายกฟ้อง
3. ศาล รธน. นัดวินิจฉัยกรณี "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี 24 ม.ค.นี้ เจ้าตัวหอบหลักฐาน 2 กระเป๋าใหญ่ให้ศาลฯ ไต่สวน มั่นใจ จะได้รับความเป็นธรรม!
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนพยานบุคคลคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ และศาลฯได้มีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา รวมถึงสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 66 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
โดยก่อนหน้านี้ นายพิธาได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชีระบุพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ ลงวันที่ 2 ต.ค. 66 และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 18 ต.ค. 66 รวมถึงขอขยายระยะเวลาจัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้า โดยศาลฯ กำหนดให้มีการจัดส่งภายในวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายพิธา และคณะ เดินทางมาศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ 2 ใบ โดยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมการไต่สวนว่า มั่นใจในข้อเท็จจริง รวมถึงหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่า บริษัท ไอทีวี ไม่ได้เป็นสื่อแล้ว ไม่ได้ประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 50 และสื่อมวลชนก็รายงานว่า รายได้ทั้งหมดมาจากดอกเบี้ยในการลงทุน ดังนั้น เมื่อเทียบกับระบบยุติธรรมคำพิพากษาในอดีตก็ยืนยันได้ว่า ไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อ ซึ่งตนพร้อมที่จะตอบคำถามอย่างละเอียดทั้งในแง่มุมของตัวบริษัทไอทีวีเอง และอาจจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของตน ก็ได้ทบทวนข้อเท็จจริงแม้ว่ามันจะนานมาแล้วถึง 16 ปีตั้งแต่คุณพ่อเสียเมื่อปี 49 และไอทีวีหยุดประกอบกิจการเมื่อปี 50 ซึ่งก็มั่นใจว่า จะใช้โอกาสนี้ในการพูดเป็นครั้งแรก และถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งก็รอวันนี้มานาน ขณะนี้ตนไม่มีข้อกังวลใดๆ
หลังไต่สวน นายพิธาให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า พอใจกระบวนการไต่สวน ส่วนรายละเอียดในการชี้แจงคงให้สัมภาษณ์ไม่ได้เพราะเป็นการละเมิดศาล แต่ในส่วนข้อเท็จจริงที่สื่อมวลชนได้เคยนำเสนอเกี่ยวกับการยุติประกอบกิจการไอทีวี หรือสถานะผู้จัดการมรดกของตนเองก็ได้รับการไต่สวนจากศาลและฝ่ายกฎหมายของผู้ร้องและผู้ถูกร้องครบถ้วน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้
“สิ่งที่ให้สัมภาษณ์ได้ คือ พอใจและเป็นไปตามที่หวังไว้ทุกประการ รายละเอียดขอให้รอการสรุปอย่างเป็นทางการจากทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนี้ไม่มีการนัดไต่สวน จะมีการนัดตัดสินหรือการอ่านคำวินิจฉัยเลย ผมยังมั่นใจเหมือนเดิม มั่นใจว่าได้ทำตามหน้าที่ในฐานะผู้ถูกฟ้องอย่างเต็มที่แล้ว และมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมและความยุติธรรม หากคำพิพากษาเป็นคุณ ก็จะกลับไปทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนลงสมัคร สส.ได้ถือหุ้นไอทีวีไว้หรือไม่ นายพิธา ระบุว่า เป็นการถือแทนในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ในส่วนรายละเอียดอยู่ในชั้นศาล ตนไม่อยากที่จะละเมิดศาล แต่ก็ยืนยันว่า เป็นการถือแทนน้องชาย ซึ่งตนได้สละเจตนาตั้งแต่ก่อนอยู่พรรคอนาคตใหม่ และมีการปันทรัพย์มรดกกัน ตนจะตอบมากกว่านี้ไม่ได้ แต่ข้อนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อที่มีการพูดคุยกัน ถ้าตอบไปจะเป็นการชี้นำสังคมและเป็นการละเมิดศาล
เมื่อถามต่อว่า ไอทีวีได้ยุติการออกอากาศแล้วสามารถกลับมาทำสื่อได้อีกครั้งหรือไม่ นายพิธา ระบุว่า เรื่องนี้ขอให้ถามนายคิมห์ สิริทวีชัย (ผู้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวีเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 และเป็นผู้เซ็นรับรองรายงานบันทึกการประชุม) น่าจะเหมาะสมมากกว่า ส่วนตัวจะไปพูดแทนไม่ได้ แต่ถ้าได้ดูตามเอกสารที่ออกมาก็จะเห็นว่า ไอทีวีได้ยุติการประกอบกิจการไปตั้งแต่ปี 50 ทรัพยากรอีกครึ่งหนึ่งก็ไปอยู่ไทยพีบีเอส แล้วตอนนี้ใบอนุญาตก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการจะกลับมาประกอบกิจการเดิมก็ต้องมีทั้งคดีความที่เกี่ยวโยงกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ที่ศาลปกครองสูงสุด รวมถึงคลื่นความถี่ที่ไม่มีแล้ว ใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่สอบถามไปยัง กสทช. ก็ไม่มี
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยคดีนี้ในวันที่ 24 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น.
ส่วนคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ศาลฯได้มีการอภิปรายเพื่อเตรียมการไต่สวนในวันที่ 25 ธ.ค. นี้ เวลา 09.30 น
4. ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีพันธมิตรฯ ชุมนุมสนามบินดอนเมือง เหตุจำเลยหลายคนป่วย นัดหน้าอาจอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย!
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 28 คน เป็นจำเลยในความผิด ฐานเป็นกบฎ ก่อการร้ายฯ จากกรณีชุมนุมที่สนามบินดอนเมือง
โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค.2551 พวกจำเลยได้ร่วมกันโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาร่วมกันชุมนุมใหญ่โดยกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี.ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ผู้เสียหายที่ 2 และทำลายทรัพย์สินเสียหายเป็นเงิน 627,080 บาท แล้วนำจานรับสัญญาณของพวกจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรดาร์ ของบริษัท วิทยุการ บินฯผู้เสียหายที่ 3 และทำการปิดกั้นสะพานกลับรถของกรมทางหลวงผู้เสียหายที่4 ตรวจค้นตัวเจ้าหน้าที่ของบริษัท การบินไทยฯ ผู้เสียหายที่ 5 ปิดกั้นการบริการสื่อสาร บริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ ผู้เสียหายที่ 6 และร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน เพื่อกดดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออก ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ
ทั้งนี้ จำเลยได้ทยอยเดินทางมาศาลตามนัด อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่า จำเลยบางคนป่วย ไม่สามารถมาศาลได้ ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่ 1, นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่ 3, นายเทิดภูมิ หรือเกิดภูมิไท ใจดี จำเลยที่ 15, พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ จำเลยที่ 28 โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 นายพิภพ ซึ่งมีอาการป่วยระยะสุดท้าย โดยทุกคนมีใบรับรองเเพทย์มายืนยัน ส่วนนายประพันธ์ คูณมี จำเลยที่ 14 ติดพิธีประดับเครื่องราชฯ
ด้านศาลพิจารณาเเล้ว กรณีมีเหตุจำเป็น จึงอนุญาตให้เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 17 ม.ค.2567 เวลา 09.00 น.
น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก กล่าวว่า วันนี้ศาลกำชับทนายความและจำเลยว่า ในวันที่ 17 ม.ค. หากจำเลยรายใดเจ็บป่วยจริงๆ ก็ให้ยื่นเอกสารหลักฐานต่อศาล เช่น พล.ต.อ.ประทิน และ พล.ต.จำลอง ป่วยโรคชรา, นายพิภพ ป่วยเป็นมะเร็งขั้นที่ 3, นายเทิดภูมิต้องฟอกไต เพื่อจะมีคำสั่งและทำให้สามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังได้
เมื่อถามว่า รู้สึกกังวลกับคำพิพากษาคดีนี้บ้างหรือไม่ น.ส.อัญชะลี กล่าวว่า ตนเองไม่มีความกังวลใดๆ เลย เพราะเราเชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ และทำอยู่ในกรอบของกฎหมาย เรามาศาลทุกครั้งตั้งแต่อัยการยื่นฟ้องเมื่อปี 2556 หากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด เราก็น้อมรับคำพิพากษา
“พวกเราทำตามกฎหมายทุกประการ ภายใต้คำว่าอารยะขัดขืน ดังนั้นพวกเราจึงยืนหยัดที่จะเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่ย่อท้อเลย และไม่เคยคุยกันเลยสักคนเดียวว่าเราจะต้องกลัวหรือไม่กลัว เราเพียงแต่มาทำหน้าที่เมื่อศาลนัด แล้วก็หาวัตถุพยานพิสูจน์หลักฐาน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราเชื่อมั่นในความยุติธรรม สิ่งที่เราไม่เชื่อเลย คือว่าเราเดินหน้าตั้งแต่ปี 2551 มาจนถึงปีนี้ก็วนกลับมา อันนี้เป็นสิ่งที่เราแทบไม่เชื่อ ดังนั้นเราจึงเชื่อว่ากรณีของพันธมิตรฯ ที่เกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. และอ่านคำพิพากษาเดือน ม.ค. เรามั่นใจว่า ชั้น 14 ต้องได้ยินและชั้น 14 ต้องฟังในสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ และจะเป็นกรณีศึกษาของคนในสังคมนี้ ที่คนไทยลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด”
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข กล่าวว่า ไม่มีความกังวลใดๆ เพราะสิ่งที่ทำมาก็เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เมื่อมีการโกง การทุจริตของรัฐบาล หรือการมาของรัฐบาลโดยไม่ชอบ ประชาชนมีสิทธิชุมนุมได้โดยสันติวิธี และเราก็ทำภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่ว่าผลของการพิจารณาคดีเป็นอำนาจของศาล เราเคารพถ้าพิพากษาให้ติดคุก หรือประหารชีวิตก็น้อมรับและปฏิบัติตาม ที่สำคัญจะเกิดบทเรียนยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทย คนผิดที่เรามาต่อต้านตามหน้าที่ตามกฎหมายไม่ยอมติดคุก แต่หากว่าคนที่มาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยด้วยความสุจริตติดคุก อันนี้เป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ คิดว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคม ยืนยันว่าเราเคารพศาล และยินดีปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างไม่มีเงื่อนไข
5. คกก.ค่าจ้างมีมติไม่ทบทวน ยืนยันปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามมติเดิมที่ 2-16 บาท วอนฝ่ายการเมืองอย่าแทรกแซง จะเกิดความเสียหาย!
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 10/2566 ที่มีการหารือถึงการทบทวนมติคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในอัตรา 2-16 บาท หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนหน้านี้ ระบุว่า ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำน้อยเกินไป ควรมีการทบทวน เพราะบางจังหวัดขึ้น 2 บาท ซื้อไข่หนึ่งลูกยังไม่ได้ ต่อมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ดึงเรื่องกลับจาก ครม.ให้นำกลับมาทบทวนใหม่
นายไพโรจน์ กล่าวว่า หลังคณะกรรมการค่าจ้างใช้เวลาหารือเกือบ 2 ชั่วโมง มีข้อสรุปให้ยึดตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ตามเดิม เนื่องจากสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการใช้ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นสูตรที่คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้อนุกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยเหตุผลและข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน
ส่วนข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการจะได้นำไปประกอบการพิจารณาปรับสูตรในการกำหนดค่าจ้างใหม่โดยเร็วที่สุด เมื่อสภาพเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีข้อเรียกร้องของลูกจ้าง หรือเป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุด้วยว่า การพิจารณาสูตรคำนวณใหม่ จะเร่งพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน คาดว่าในวันที่ 17 ม.ค. 67 จะมีการเสนอรายชื่ออนุกรรมการเพื่อพิจารณาปรับสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ โดยตัวแทนนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม
หลังจากนั้นจะเสนอบอร์ดชุดใหญ่ให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจได้ข้อสรุปก่อนหรือหลังวันแรงงานปี 67 แต่จะต้องดูความพร้อมของทุกฝ่ายด้วย ซึ่งอาจพิจารณาปรับขึ้นตามประเภทของกิจการ โดยการปรับสูตรการคำนวณค่าจ้างครั้งนี้ถือเป็นการปรับในรอบ 6 ปี และอาจปรับขึ้นไปได้ถึง 400 บาท
ด้านนายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า คณะกรรมการไตรภาคีเห็นชอบร่วมกันว่า มติที่ออกไปแล้วไม่ควรปรับใหม่ หากจะปรับควรจะเป็นครั้งต่อไปและใช้สูตรใหม่ที่จะมีการพิจารณาขึ้นมาให้เกิดความรอบคอบรัดกุมมากที่สุด และถือเป็นการสังคายนาสูตรการคำนวณค่าแรงใหม่ เพื่อไม่มีปัญหาเหมือนปีนี้
ด้านนายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การที่คณะกรรมการยึดตามมติเดิม เป็นสิ่งที่ชอบธรรม เพราะเป็นการขึ้นตามหลักเกณฑ์และกติกา ส่วนในอนาคต หากมีสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน มีปัญหาเงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจไม่ดี ก็สามารถนำกลับมาเป็นเหตุผลในการขอพิจารณาขึ้นค่าจ้างใหม่ได้ พร้อมฝากไปยังฝ่ายการเมืองว่า อย่ามาแทรกแซง และหากอยากทราบข้อมูล คณะกรรมการค่าจ้างพร้อมไปชี้แจง แต่การที่ฝ่ายการเมืองจะออกมาให้ความเห็น จะทำให้เกิดความเสียหายแบบครั้งนี้
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำมติคณะกรรมการค่าจ้างที่ยืนยันการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 2-16 บาทตามเดิม เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพื่อปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ทันวันที่ 1 ม.ค. 2567